จากการค้นหาข้อมูลของเฮาทีมงานอีสานร้อยแปด เพื่อเสาะหาความรู้เกี่ยวกับประเพณีอีสานเก่าๆมาบอกเล่าทางเว็บไซท์ พบว่าหลายๆข้อมูลมีการเก็บไว้ในหนังสือที่เป็นใบลาน หรือที่เรียกว่าหนังสือก้อม และ หนังสือผูก จาร(จารึก)ด้วยตัวไทยน้อย–อักษรตัวธรรม หนังสือที่เป็นภาษาไทยปัจจุบันหลายเล่มก็แปลมาจากตัวไทยน้อย(มีความใกล้เคียงกับภาษาลาวในปัจจุบันมาก) บทความนี้เราจึงจะมานำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสือก้อม และหนังสือผูก
หนังสือก้อม (หนังสือใบลานสั้น)
หนังสือก้อม แปลตามศัพท์ หมายถึงหนังสือสั้น (ก้อม-สั้น) หนังสือก้อม คือใบลานขนาดสั้นประมาณ ๑ ฟุต ใช้จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ของส่วนบุคคล เช่น คาถาอาคม ตำราเวทมนต์ หรือตำราพิธีกรรม บทหมอลำ หรือวรรณกรรม เรื่องสั้นๆ (บางครั้งเป็นตอนๆ) เพื่อสะดวกในการพกพาไปกับเจ้าพิธี หรือนำไปเป็นบทขับลำของหมอลำ ฉะนั้นหนังสือก้อมจึงใช้ประโยชน์เหมือนกับ สมุดพก ต่างกับหนังสือผูก ที่เป็นหนังสือขนาดมาตรฐานและบันทึกเรื่องราวที่เป็นตำราวิชาการวรรณกรรม รวมทั้งพระธรรมคัมภีร์ที่ใช้เทศน์ด้วย
ลักษณะหนังสือก้อม
หนังสือก้อม คือใบลานกว้างประมาณ ๒ นิ้วฟุต ยาวประมาณ ๑๒-๑๔ นิ้วฟุต เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เชือกที่ร้อยเรียกว่า “สายสนอง” หนังสือก้อมผูกหนึ่ง ๆ มี ๑๐ ลาน ถึง ๔๐ ลาน แต่ส่วนใหญ่จะมีจำนวน ๒๐ ลาน ถึง ๒๕ ลาน ซึ่งถือว่าเป็นขนาดมาตรฐาน ในผูกหนึ่ง ๆ จะมีใบปกหน้าหลัง ๒ ลาน เรียกว่า “ใบหลบหน้า” และ “ใบหลบหลัง” ใบลานหลบหน้าใช้เขียนชื่อเรื่อง หรือบอกสารของเรื่องราวที่บันทึก โดยทั่วไปหนังสือก้อมจะไม่มีไม้ประกบหน้าหลังเหมือนหนังสือผูก
อักษรในหนังสือก้อม
หนังสือก้อม เป็นหนังสือส่วนบุคคล ฉะนั้นตัวอักษรที่ใช้บันทึกจึงมักจะมีปะปนกันทั้ง (๑) อักษรไทยน้อย (๒) อักษรตัวธรรม ในฉบับเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่มักจะพบว่าเรื่องราวที่เป็นวรรณกรรม กลอนลำ หรือบทกลอนหมอลำจะบันทึกด้วยอักษรไทยน้อย ส่วนคาถาอาคม ตำราพิธีกรรมและตำราดูฤกษ์ยาม คำทำนายวันเดือนปีเกิดต่างๆ เหล่านี้มักจะบันทึกด้วยอักษรธรรม
อภิปราย
๑) หนังสือก้อม เป็นหนังสือส่วนบุคคล ฉะนั้นจึงนิยมเก็บไว้ที่บ้านเรือน ซึ่งแตกต่างกับหนังสือผูก ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมคัมภีร์ หรือวรรณกรรม (นิทาน วรรณกรรมคำสอน วรรณกรรมชาดก ฯลฯ) จะนิยมเก็บรักษาไว้ที่วัด อันเป็นศูนย์กลางการศึกษาและความรู้ของหมู่บ้าน เมื่อต้องการจะนำหนังสือวรรณกรรมนิทานไปอ่านในบุญงันเฮือนดี (งานศพ)
ชาวบ้านก็จะไปยืมจากวัดไปอ่านในที่ประชุมชน (บุญงันเฮือนดี)
๑) หนังสือก้อมทั่วไปจะกำหนดเนื้อหาและกำหนดมาตรฐานไม่ได้ เช่น จำนวนใบลาน ตัวอักษรที่จดบันทึกเนื้อหาสาระ ฉะนั้น จึงมีบทลำว่าด้วยหนังสือก้อม ดังนี้
“หนังสือก้อมต่างคนต่างมี
(หนังสือก้อม-หนังสือสั้นๆ)
ก้อนขี้ซีก้อนน้อยก้อนใหญ่
(ก้อนขี้ซี-ซัน)
ไก่ต่างไก่ไก่กุ้มไก่ยอง
(ไก่กุ้ม-ไก่หางสั้น ไก่ยอง-ไกห่ยอง)
กลองต่างกลองกลองเพลกองตุ้ม…”
(กลองตุ้ม-กลองรูปป้อมๆ ใช้ตีในขบวนเซิ้ง)
“หนังสือก้อมต่างคนต่างมี
ก้อนขี้ซีก้อนน้อยก้อนใหญ่
ก้อนขี้ไก่ก้อนแข้นก้อนเหลว
(แข้น-ขัน แหลว-เหลว)
ธวัช ปุณโณทก เรียบเรียง
หนังสือผูก (หนังสือใบลาน)
หนังสือผูก คือหนังสือที่ใช้แผ่นใบของต้นลาน ซึ่งเป็นต้นปาล์มชนิดหนึ่งแทนแผ่นกระดาษบันทึกหรือจารอักษรต้นลานเป็นปาล์มในตระกูล “Coryha lecomtei” มีแผงใบคล้ายใบตาล ชาวอินเดียเรียกแผงใบลานว่า “ตาลปัตร” ใบลานที่เหมาะกับการจารึกอักษรคือใบลานใบอ่อน ซึ่งเพิ่งคลี่กลีบใบกลีบหนึ่งๆ มีความกว้างประมาณ ๕-๖ เซนติเมตร และยาวประมาณ ๑ เมตร แต่เมื่อใช้จารึกจะตัดเอาความยาวเพียง ๕๕-๖๐ เซนติเมตร หรือ ๑ ศอก ๑ คืบ เท่านั้น
การบันทึกอักษรลงใบลานเรียกว่า “การจารอักษร” การจารอักษรนั้นต้องใช้เหล็กปลายแหลมคล้ายเข็มเย็บผ้า เรียกว่า “เหล็กจาร” เขียนตัวอักษรลงไปในเนื้อใบลาน ระวังไม่ให้ปลายเข็มแทงทะลุแผ่นใบลาน เมื่อจารเสร็จแล้วก็จะเอาเขม่าไฟผสมน้ำมันยางทาให้ทั่วแผ่น เนื้อเขม่าสีดำก็จะฝังลงในร่องตามรอยจารึก เมื่อเอาเศษผ้านุ่น ๆ เช็ดเขม่าออกจากใบลานก็จะมองเห็นตัวอักษรสีดำ ที่เกิดจากเนื้อเขม่าฝังตัวอยู่ในรอยจารึกนั้นอย่างชัดเจน และเมื่อเขม่าแห้งก็จะติดอย่างทนทานถาวรอยู่ในร่องจารึกนั้น
แผ่นใบลานขนาด ๕-๖ x ๕๐-๖๐ เซนติเมตร แผ่นหนึ่งๆ ใช้จารึกอักษรได้ ๔-๕ บรรทัด และจารึกได้ทั้ง ๒ หน้า หนังสือผูกหนึ่ง ๆ มักใช้ใบลาน ๒๔ แผ่น แต่อาจมีบางผูกมีจำนวนแตกต่างกันไป เมื่อจะรวมแผ่นใบลานที่จารึกเสร็จแล้วเป็นเล่ม ต้องเจาะรูที่หัวท้ายแผ่นของทุกใบให้รูตรงกันแล้วร้อยรวมกันเป็นเล่มด้วยเชือกฟั่นจากเส้นฝ้าย เรียกว่า “สายสนอง” เรียกหนังสือแต่ละเล่มว่าเป็นหนังสือ ๑ ผูก
ส่วนประกอบของหนังสือผูก
๑. ไม้ประกบ หรือ ไม้ขนอบ คือส่วนปก ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนหรือไม้ไผ่ มีขนาดแผ่นกว้างยาวมากกว่าขนาดของแผ่นใบลานเล็กน้อย หนาพอประมาณ บางทีก็สลักเสลาลวดลายลงบนแผ่นไม้ประกับนี้ด้วย
๒. ลานดิบ คือแผ่นรองปก เป็นใบลานว่างเปล่า ไม่จารึกข้อความใดๆ ใช้ประกบไว้ข้างหน้า หน้าแรกและข้างหลังแผ่นสุดท้ายของแผ่นที่จารึกอักษรข้างละ ๓-๔ แผ่น
๓. ใบหลบ คือปกรอง อยู่ถัดลานดิบเข้าไปหาแผ่นที่จารึกอักษรจริง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละแผ่น อาจจารึกชื่อตำรา ชื่อวรรณคดี ชื่อผู้แต่ง ชื่อผู้สร้าง (ผู้จ้างใช้ช่างจารึกอักษร) ไว้บนแผ่น “ใบลาน” นี้
๔. เนื้อจริงของหนังสือ คือแผ่นใบลานที่จารอักษรทั้ง ๒๔ แผ่น หรือมากกว่า
๕. ไม้นำ คือสันปกหนังสือ มักทำจากแผ่นไม้ไผ่สีสุกเป็นแผ่นกว้างครึ่งนิ้ว และยาว ๕-๖ นิ้ว ใช้เขียนบอกชื่อหนังสือด้วยการกรีดปลายแหลมของเหล็กจารลงในเนื้อไม้ไผ่เจาะรูที่ปลายข้างหนึ่งเพื่อร้อยเชือกผูกติดกับเล่มหนังสือ แล้วสอดแนบไว้ข้างหนังสือ เพื่อให้ผู้จะหยิบหนังสือมาอ่านค้นหาหนังสือที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
๖. ผ้าห่อหนังสือ มักทำจากผ้าซิ่นมัดหมี่ หรือผ้าตีนซิ่นซึ่งทอออกมาใหม่ ๆ มีลวดลายสวยงาม ใช้พันรอบห่อหุ้มหนังสือทั้งเล่ม แล้วมัดด้านนอกสุดด้วยเชือกฝ้ายสีขาว หรือบางทีก็ใช้เส้นผมคนถักเป็นเชือกแทนเส้นฝ้ายก็มี การทำเช่นนี้ ก็ด้วยความเชื่อว่า เมื่อผู้ชายเป็นผู้จารอักษร ผู้หญิงก็เป็นผู้ทอ ผ้าห่อและทอเส้นผมผูกหนังสือ ถือว่าได้บุญด้วยกัน
๗. สายสนอง เป็นเชือกด้ายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ มิลลิเมตร ใช้ร้อยใบลานตามลำดับหน้าให้ยึดติดกัน สายสนองจะร้อยใบลาน ๒ รู สำหรับหนังสือผูก และจะร้อยใบลาน ๑ รู สำหรับหนังสือเทศน์
ประเภทของหนังสือผูก
หนังสือใบลานของภาคอีสาน พบทั่วไปมี ๓ ประเภท คือ
๑. หนังสือผูก คือใบลานที่จารเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมนิทาน เช่น เรื่องซินไซ จำปาสี่ต้น นางผมหอม ท้าวก่ำกาดำ ท้าวคัชนาม ท้าวกาละเกด ท้าวขูลูนางอั้ว ฯลฯ เป็นต้น วรรณกรรมนิทานดังกล่าวส่วนใหญ่ประพันธ์เป็นกลอนลำ นิยมนำมาขับลำในที่ประชุมชน ทำนองลำเรื่อง หรือลำพื้น ในสมัยอดีต งานทำบุญศพของชาวอีสาน เจ้าภาพจะหานักขับลำมาอ่านหนังสือผูก เรียกกันว่า “อ่านหนังสือในบุญงันเฮือนดี”
๒. หนังสือก้อม คือหนังสือผูกใบลานชนิดสั้น ทำขนาดใบลานสั้นกว่าหนังสือผูกทั่วไป หนังสือก้อมจะมีขนาดยาวประมาณ ๑๒-๑๔ นิ้วฟุต นำมาจารอักษรมัดร้อยด้วยสายสนอง มีไม้ประกับเช่นเดียวกับหนังสือผูก เนื้อหาที่จดบันทึกในหนังสือก้อม ได้แก่ ตำราหมอดู ตำราฤกษ์ยาม คาถาอาคมประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ หนังสือก้อมจารด้วยอักษรตัวธรรมก็มีอักษรไทยน้อยก็มี
๓. หนังสือเทศน์ คือใบลานที่บันทึกวรรณกรรมนิทานชาดก หรือคัมภีร์พุทธศาสนาอื่นๆ หนังสือเทศน์จะมีขนาดยาวกว่าหนังสือผูกและหนังสือก้อม แบ่งเนื้อเรื่องเป็นตอน ๆ ตอนละประมาณ ๒๔ ใบลาน เรียกว่า ๑ กัณฑ์ มีเชือกสายสนองร้อยเป็นกัณฑ์ๆ ไว้ (เจาะรูใบลาน ๑ รู) หากเรื่องยาว ๆ จะเขียนไว้ว่าผูกที่เท่าไร และนำมาวางเรียงจนจบเรื่อง (๑๓ กัณฑ์ หรือ ๘ กัณฑ์ หรือ ๕ กัณฑ์) มีไม้ประกับ ๒ แผ่น ขนาดเท่ากับใบลาน และใช้ผ้าห่อมัดไว้ โดยมี ไม้นำ เขียนชื่อเรื่องไว้มัดแนบติดอยู่นอกผ้าห่อใบลาน
สำเร็จ คำโมง เรียบเรียง
อ้างอิง สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม ๑๔