เซิ้งกระติบข้าว เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว
กระติบข้าว หรือภาษาอีสานบางแห่งเรียกว่าก่องข้าว เป็นภาชนะใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียว ที่ทรงคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบหรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ (ต่างจากกระติกน้ำแข็งที่เก็บความร้อนได้แต่ไม่ยอมให้ไอน้ำระเหยออก ข้าวเหนียวจึงเปียกแฉะ)
ภูมิปัญญานี้มีเคล็ดลับอยู่ที่การสานกระติบเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกให้มีตาห่างเล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวผ่านช่องว่างภายในกระติบข้าวชั้นในได้ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นหนากว่าเพื่อเก็บกักความร้อนไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้ จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบข้าว ยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ จึงไม่แฉะเหมือนกับการบรรจุในภาชนะพลาสติกยุคใหม่ ฝาปิดและตัวกระติบ จะมีลักษณะที่เหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อยให้สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรอง ขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายหรือไนล่อนให้ติดกับตัวกระติบ
เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว
เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมนั้น เซิ้งบั้งไฟในขบวนแห่ หรือเซิ้งในขบวนแห่ต่างๆ ไม่มีท่าฟ้อนรำที่อ่อนช้อย เป็นเพียงยกมือร่ายรำ(ยกมือสวกไปสวกมา)ให้เข้ากับจังหวะกลองและรำมะนาเท่านั้น
ในราว พ.ศ. 2507 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงมีพระประสงค์การแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าอะเลียนา และเจ้าหญิงบีทริกซ์ แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเอาเพลงเซิ้งอีสานคือ จังหวะลำเซิ้งมาใช้ โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้นจะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ยังไม่ได้ห้อยกระติบข้าวเพราะเห็นว่ารุงรัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร? คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่ากำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า “น่าเอ็นดูดีนี่” ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า “เซิ้งอีสาน” ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไปแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “เซิ้งกระติบข้าว”
อ้างอิงจาก: บ้านรักษ์ไทยดอทคอม
ดนตรี ใช้ลายเต้ยโขง
อุปกรณ์ กระติบข้าว
ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ห่มผ้าสไบเฉียง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ซ้ายเฉีียงไปทางขวา