ชื่อพื้นบ้าน แมงซ้าง แมงค่อม
ชื่อภาษาไทย แมลงค่อมทอง
ชื่อสามัญ Green weevil
วิทยาศาสตร์ Hypomeces squamosus Fab
Class Insecta
Inflaclass Neoptera
Superorder Endopterygota
Order Coleoptera
Suborder Polyphaga
Family Curculionidae
Genus Hypomeces
เป็นด้วงงวงสีสวย และเป็นสีเหลือง ลักษณะเป็นฝุ่น ตามตัวมีสีต่าง ๆ เช่น น้ำตาลปนเขียว
เขียวปนสีทอง เขียวปนทองแดงและสีเทาดำ มีผู้พบว่าแมลงค่อมทองมีสีดำ
เนื่องจากสีชั้นนอกสุดเป็นสีเขียว สีเหลือง หลุดออกง่าย เป็นขุยปีกชั้นในสุดเป็นสีดำ
ส่วนหัวยื่นยาวออกไปเพียงเล็กน้อย ลำตัวยาว 1 2 ซม.
แมงซ้างเป็นด้วงชนิดขนาดกลาง สามารถพบเห็นได้ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จนถึงญี่ปุ่นและจีน ปากมีลักษณะเป็นงวงยาวแบบ กัดกิน
ส่วนหัวสั้นทู่ยื่นตรงไม่งุ้มเข้าใต้อก มีหนวดแบบข้อศอก (geniculate)
โดยปล้องปลายหนวดจะโป่งออก ตั้งอยู่ที่กึ่งกลางของงวงปาก
ลำตัวมีหลายสีขึ้นอยู่กับ สภาพแวดล้อมเมื่อเป็นตัวเต็มวัย
พบได้ตลอดทั้งปีและทุกภาคของประเทศไทย ช่วงที่พบเห็นได้มาก หากเป็นพื้นที่ภาคกลาง
ภาคเหนือคือช่วง กุมภาพันธ์ – มีนาคม ส่วนทางภาคอีสานจะเป็นช่วง มิถุนายน – สิงหาคม
ตัวหนอนของแมงซ้าง กัดกินรากของพืชหลายชนิดเป็นอาหาร เช่น ข้าว ข้าวโพด ยาสูบ ฝ้าย
และพืชตระกูลส้ม ตัวเต็มวัยกัดกินตั้งเเต่เนื้อเยื่อเจริญ เช่น รากอ่อน ตากิ่ง ตาดอก เป็นต้น
ต้นอ่อน ใบอ่อน จนถึงใบแก่ของต้นไม้ เช่น มะม่วง ลำไย เงาะ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ หม่อน สามสา ต้นคูน
สนประดิพัทธ์ ยูคาลิปตัส กะเลา ต้นสัก ต้นดูก ต้นก่อ มะค่าแต้ กะทกรก เหียง ต้นถ่อน กระถินณรงค์ ประดู่แดง ขี้เหล็ก
และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นอื่น ๆ
ตัวเต็มวัยชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นปุ้ม ชอบอาศัยอยู่ตามใต้ใบไม้บนต้นไม้ เคลื่อนที่ช้า ไม่ว่องไว
เมื่อถูกรบกวนจะทิ้งตัวลงพื้น โดยดึงส่วนขาและหนวด เข้าห่อตัวและหยุดเคลื่อนไหว
มักพบเป็นคู่ ๆ หรือรวมกลุ่มอยู่บนต้นไม้ใบไม้ฃ
ในเดือน ธันวาคม-มีนาคม เป็นระยะที่แมลงผสมพันธุ์และวางไข่ วางไข่ในดิน
ตัวเมีย 1 ตัว วางไข่ได้ 40 – 131 ฟอง โดยวางไข่ 5 – 10 ครั้ง
แต่ละครั้งห่างกัน 3 – 4 วัน จำนวนไข่ที่วางแต่ละครั้ง 3 – 27 ฟอง ระยะไข่ 7 – 8 วัน
เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนจะกัดกินรากพืชในดิน
หนอนมีการลอกคราบ 4 – 5 ครั้ง
ระยะหนอน 22 – 23 วัน จากนั้นจะเข้าดักแด้ในดิน ระยะดักแด้ 10 – 15 วัน
เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย อายุตัวเต็มวัย เพศผู้ 8 เดือน เพศเมีย 12 เดือน
แมงซ้าง สามารถปรับตัวได้ดี กินใบไม้ได้หลายชนิด รักษาสมดุลไม่ให้พืชชนิดใดชนิดหนึ่ง
ได้เปรียบ ครอบครองเป็นพืชเดี่ยว มันเป็นอาหารของ นกหลากชนิด รวมทั้งสัตว์ปีกที่หากินตามพื้นดิน
เป็นอาหารของ กิ้งก่า จิ้งเหลน กบ ต่อ แตน รวมทั้งค้างคาวบางชนิดด้วย
เหนือสิ่งอื่นใด มันอุทิศตัวให้เป็นอาหารให้ มนุษย์ผู้สันโดษ
เมื่อเราค้นหาข้อมูลของ แมงซ้าง หรือ แมลงค่อมทอง จะเห็นว่า “มันน่ากลัว”
เพราะเห็นว่าเป็นศัตรูพืช ทำลายล้างทำให้เสียหาย และจะเห็นสูตรสารเคมีต่างๆ
เพื่อใช้ฉีดพ่นกำจัด โฆษณาขาย เคมีบันเทิง ไปในตัว
มนุษย์นี่เองเป็นตัวการที่ทำให้มันเกิดการ แพร่ระบาด ทำลายนิเวศน์พืชท้องถิ่น
ปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยไม่นึกถึง สายใยธรรมชาติ ในพื้นที่ ที่มีพืชท้องถิ่นอยู่หลากกลาย
จะไม่พบการระบาดของมันทำลายพืชใดเลย
เมื่อมันไม่มีอันใดกิน มันก็ต้องกินพืชสวน ลองปลูกพืชท้องถิ่นอย่างอื่น
เช่น ขี้เหล็ก มะตูม มะขาม หรืออะไรก็ได้ที่เป็นพืชตามท้องถิ่นตน เสริมเป็นแนว
แมลงชนิดนี้ก็จะไม่ระบาด ทำลายพืชสวนให้เสียหาย ไม่ต้องใช้เคมีให้เกิดพิษภัย
แมงซ้าง นำมาเป็นอาหารได้ ลองรับประทานดู รับรองลืมฟิซซ่าไปเลย
เดิมทีชาวอีสานเป็นคนละเมียดละไม มีองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาก
ช่างสังเกตธรรมชาติ และเรียนรู้จากมัน นำมาใช้ประโยชน์ เช่นดูพฤติกรรมสัตว์
เพื่อทำนายฟ้าฝน ดูพืชติดดอกออกผล ก็คาดเดาสภาพอากาศได้ เพื่อจะวางแผนเพาะปลูก
ดูท้องฟ้า ดูก้อนเมฆ ดูแสงแรกอรุณ ดูแสงอัสดง ก็รู้สภาวะฟ้าฝน
คนอีสานโบราณมีความรู้เรื่อง สัตว์และพืชในท้องถิ่นตนมาก รู้จักใช้ประโยชน์
แม้แต่ “แมงซ้าง” ก็เอามันมาเป็นอาหารได้ หาเก็บเอาแมลงชนิดนี้มาคั่วกิน
เป็นอาหารเสริมตามฤดูกาล ไม่ต้องซื้อหาเสียเงินทอง
เวลาลัดเลาะเลี้ยงวัวควาย เด็กน้อยชาวอีสาน ชอบเลาะหา “แมงซ้าง” ที่กำลังหลบแดด
ใต้ใบไม้มากิน บางคนกินดิบเลย แค่เด็ดปีกออก “โม่ม” ใส่ปาก แซบเข้าท่า
ไม่แพ้ของขบเคี้ยวชนิดอื่น บางคนก็เก็บสะสมในถุง เพื่อเก็บเอาไปคั่วที่บ้านกินเป็นอาหาร
ระหว่างที่เลาะหาแมงซ้าง พบมุมสงบใต้ต้นไม้เย็นๆ อาศัยงีบหลับสบายอารมณ์
ปีไหนที่พบแมงซ้างเยอะ ตามต้นขี้เหล็ก ต้นส้มเสี่ยว ต้นถ่อน ปีนั้น “ข้าวงัน” จะได้ผลดี
ฝนจะไม่ทิ้งช่วง
ปีไหนพบเยอะตามต้นมะม่วง ต้นบักค้อ ต้นส้มมอ ปีนั้นน้ำจะมากหลากท่วม
ปีไหนพบตามไม้เถาเยอะ ๆ ปีนั้นจะแล้ง ข้าวกล้าไม่งาม
หากเราละเลย สายใยธรรมชาติ มีแต่จะทำให้เราไม่เหลือบแล “คุณค่าของกันและกัน”