เรื่องทั่วไป

แมงภู่

ชื่อพื้นบ้าน         แมงภู่
ชื่อภาษาไทย       แมลงภู่ภมร
ชื่อสามัญ          carpenter  bees
ชื่อ วิทยาศาสตร์  Xylocopa varipuncta
Phylum           Arthropoda
Subphylum     Hexapoda
Class              Insecta
Inflaclass        Neoptera
Superorder     Endopterygota
Order            Hymenoptera
Suborder      Aprocrita
Family          Xylocopidae

กล่าวนำ

ครั้งเมื่อ ขงเบ้ง ผู้ฉลาดบันลือโลกใกล้สิ้นลมเพราะสังขาร ในขณะที่ทำการศึกกับ สุมาอี้ ในดินแดนวุ่ยก๊ก
ได้สั่งเสียกับ เกียงอุย ศิษย์เอกไว้ว่า  เมื่อตัวเราตาย จงหาหม้อมา จับแมงภู่ลงไปขังไว้ 100 ตัว
แล้วมัดศพเราในท่านั่งอ่านตำราบนหม้อนั้น จัดขบวนทัพเหมือนเดินทัพอย่างใจเย็น อย่าหวาดหวั่น
แล้วค่อยๆ ถอยทัพกลับเมืองไป  เมื่อทำดังนี้แล้ว สุมาอี้จะไม่กล้าไล่ติดตาม เหตุเพราะคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่
นั่นคือ สามก๊ก  สุดยอดตำนานของจีน  บงเบ้งยังต้องพึ่งแมงภู่  เขามิได้ดูแคลนแมลงชนิดนี้เลย

หันกลับมาดู “เซียงเมี่ยง” เจ้าปัญญา วรรณกรรมอีสาน  เจ้าพญานั่งเมือง ใส่ยาพิษที่ปรุงเอง ให้เขากิน
ก่อนเขาตายได้สั่งให้เมีย ทำแบบเดียวเหมือนกับขงเบ้ง  คือนั่งบนหม้อที่ขังแมงภู่ไว้หลายร้อยตัว
ทำท่าอ่านหนังสือ  เสนาอำมาตย์ที่มาสังเกตการณ์ กลับไปรายงานพระยาว่า
” บักเซียงเมี่ยง ยังบ่ตาย  นั่งอ่านหนังสือเสย พะนะ”
เจ้าพญาเกิดแคลงใจในยาพิษ จึงทดลองดื่ม ตกตายไปตามกัน

พระสุตตันตปิฎก เล่ม 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 – หน้าที่ 225
อัฏฐสัททชาดก  ว่าด้วยนิพพาน
[1131] ดูก่อน มหาบพิตร คติของกระพี้ไม้นั้นมีอยู่เพียงใด กระพี้ไม้ทั้งหมด แมลงภู่เจาะกินสิ้นแล้วเพียงนั้น แมลงภู่หมดอาหารแล้ว ย่อมไม่ยินดี ในไม้แก่น

ท่านคงรู้จัก สุนทรภู่  กวีเอกของชาวไทย  เดิมมีนาว่า “ภู่” หมายถึง แมลงภู่ ซึ่งแม่ท่านตั้งชื่อให้
เพราะตอนอุ้มท้อง แพ้ท้อง อยากกิน ” บีแมงภู่ ” ( ดีแมงภู่ )

สำหรับ อีเกียแดง , จารย์ใหญ่ และอ้ายมังกร ล้วนเคยกิน “บีแมงภู่ ” เนื่องจากมีรสหอมหวาน
สำหรับ อ้ายต้องแล่ง จี่กินเบิ๊ดทั้งตัวเลย  จึงมีมันสมองเป็นเลิศ  สอบเป็น ผอ.ได้ ประการฉะนี้แล

ลักษณะทางกายภาพ

แมลงภู่ เป็นแมลงขนาดใหญ่   ลำตัวอ้วนป้อม    มักมีสีดำและมีปีกสีเข้มบางชนิด
มีสีเขียว  แกมน้ำเงิน  เป็นมันวาว   มีขนละเอียดสีเหลือง  สีเทาหรือ สีน้ำตาล
เป็นกระจุกที่บริเวณอกด้านบน ของส่วนท้องเกลี้ยงเป็นมันไม่มีขน  ลำตัวยาวประมาณ 2.0 – 3.5 ซม.
บางชนิดมีขนาดเล็กเพียง 6 มม.   ปัจจุบันพบแล้ว ประมาณ  500  ชนิดทั่วโลก
ปากเป็นแบบกัดเลีย(chewing – lapping type)
มีฟันกรามขนาดใหญ่เป็นแมลงวงศ์เดียวกันกับผึ้ง

นิสัยและความเป็นอยู่

แมงภู่เจริญเป็นตัวเต็มวัยในช่วงฤดูหนาว  จะพบแมลงภู่บินตอมดอกไม้ ในเดือนเมษายน  –  พฤษภาคม เพื่อหาน้ำหวานเป็นอาหาร  มีเสียงดังคล้ายผึ้งหึ่ง ๆ น่ากลัว
แมลงภู่เพศผู้จะไม่มีเหล็กใน มีเพียงแมลงภู่เพศเมีย เท่านั้น  ที่มีเหล็กใน สามารถต่อยให้ได้รับบาดเจ็บได้

โดยปกติแล้วแมลงภู่จะไม่กลัวคนหรือสัตว์อื่นๆ     มักจะบินวนเวียนไปมารอบๆ
แต่ถ้าหากเรา ไม่ทำอันตรายกับแมลงภู่แล้ว  มันจะไม่ทำอันตรายเรา

แมงภู่

การหาอาหาร

แมงภู่กินน้ำหวานจากดอกไม้ ดอกพืชต่างๆ  กินเกสรดอกไม้  ดอกที่ชื่นขอบที่สุดของมันคือ
ดอกฟักทอง หรือ “ดอกบักอึ” ในภาษาอีสาน  รวมทั้งดอกบวบ  ดอกไม้เถาอื่นๆ

การสืบพันธุ์

แมงภู่จะผสมพันธุ์ในเดือน พฤษภาคม  ตัวเมียจะเจาะเนื้อไม้ให้เป็นรูในเนื้อไม้ที่แห้งตาย
โดยการใช้ฟันกรามกัดแทะ เนื้อไม้  เพื่อทำรังจึงถูกเรียกว่า Carpenter  bees
ซึ่งแต่ละรังจะมี ทางเข้าออกได้เพียงทางเดียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 นิ้ว
ที่ชื่นชอบที่สุดของมันคือ ไม้ไผ่ และไม้ที่มีน้ำมันหอม เช่น ไม้กุง (พลวง)   ไม้ชาด ไม้สะแบง
เมือทำรังเสร็จ ตัวเมียจะปล่อย สารฟีโรโมน หรือ กลิ่นสืบพันธุ์  เมื่อตัวผู้ได้กลิ่น ก็จะมารุมตอม
และผสมพันธุ์กัน

จากนั้นมันจะวางไข่ในโพรงไม้ ที่ ใช้เป็นที่สำหรับอนุบาลตัวหนอน เก็บอาหาร(น้ำหวานและเกสร)
ไว้ใช้เลี้ยงตัวอ่อน

ในบางครั้ง แมงภู่ตัวเมียจะอยู่กันเป็นกลุ่มในโพรงเดียวกัน และมีตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่ป้องกันรัง
ส่วนตัวผู้นั้นจะทำรังอยู่เพียงลำพังตัวเดียว
มันวางไข่ตัวละประมาณ  5- 10 ฟอง ใช้เวลา 4 เดือนในการฟูมฟัก จนลูกเติบโตเต็มวัย
จากนั้นมันก็จะย้ายรังใหม่ ทั้งหมดก็จะออกจากรัง ย้ายที่อยู่ไปเรื่อย  โดยเฉลี่ยแล้ว
มันมีอายุได้ 2 ปี

การเจริญเติบโต

แมงภู่ มีการเจริญเติบโต แบบการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis)
นั่นคือครบทั้ง 4 ระยะคือ  ไข่  ตัวหนอน  ดักแด้ และตัวเต็มวัย

ประโยชน์ และหน้าที่บทบาทของมันตามธรรมชาติ
แมงภู่ช่วยในการผสมพันธุ์ให้พืช ผสมเกสร ช่วยให้ไม้ผลออกผลดี หากปราศจากพวกมัน
เราคงไม่ได้กินผลไม้  พืชก็ไม่อาจกระจายพันธุ์  หลายคนคิดว่า เมื่อเราปลูกไม้ผล
ปลูกไว้มันก็ติดผลเอง อันนี้ต้องคิดใหม่
ผลหมากรากไม้เหล่านั้นต้องอาศัยแมลงสายพันธุ์นี้ จึงสามารถออกผลได้
แมลงภู่กับดอกไม้ เป็นของคู่โลก คู่กันตามธรรมชาติ ประดุจชายคู่หญิง ในโลกา

ความเกี่ยวพันกับวิถีอีสาน

ในยุคสมัยที่ความพอเพียงยังอยู่ในวิถีของคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ตามไร่นาต่างๆ
ของชาวนาอีสาน ต้องปลูก ฟัก แฟง หรือ บักโต่น   บักอึ (ฟักทอง) ไว้ตามไร่สวนเสมอ
ด้านข้างของเถียงนา จึงเต็มไปด้วยพืชชนิดนี้  ค้างบักโต่น  ค้างบักฟัก ค้างบักบวบ
เวลามันออกดอก ทั้งสีเหลือง สีขาวประดับประดาเถียงนา

คราลมพัดเอื่อยๆ หอมรวยริน  มากับเสียงหึ่งๆ ของแมลงชนิดนี้  ตอมดอกนั้นนั้นดอกนี้ที
บางครั้งก็เผ้าดูมันเจาะรู  บางครั้งก็เอามันมา กินบี เล่นๆ  เป็นที่สนุก
บางรูมันแออัดกันอยู่  หาไม้มาแหย่ให้มันโกรธ แล้วพากันวิ่งหนี เฮฮา นั่นคือประสาเด็กน้อย

แชร์
Alitta Boonrueang