เลี้ยงผีปู่ตา
ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาและประเพณีบุญซำฮะเป็นประเพณีความเชื่อของชาวอีสาน ที่มีความเกี่ยวพันธ์ต่อเนื่องกัน กล่าวคือก่อนจะมีการทำบุญซำฮะนั้นก็จะต้องมีการเลี้ยงผีปู่ตาเสียก่อนในช่วงเดือน 6 เดือน 7 ทั้งสองประเพณีนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาน (Supernaturalism) ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า “ผี” (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2551: 32) ความเชื่อเรื่องผีในสังคมท้องถิ่นของชาวอีสานมีอยู่อย่างแพร่หลายมีทั้งผีที่ร้ายและผีที่ดี ตัวอย่างของผีที่ร้ายก็ เช่น ปอป กระสือ ซึ่งผู้คนหวาดกลัว ส่วนผีอีกประเภทคือ ผีดี ผู้คนให้ความเครพนับถือกราบไหว้บูชา เช่น ผีปู่ตา เจ้าพ่อ เจ้าแม่ หรือผีบ้านผีเรือน ที่มีความเชื่อว่าคอยปกป้องให้ความคุ้มครองคนในชุมชนนั้น ๆ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ อันเป็นผลให้เกิดประเพณีที่เกี่ยวข้องกับผีคือประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาและประเพณีบุญซำฮะขึ้น
ผีปู่ตา
ในสมัยก่อนแทบทุกหมู่บ้านในภาคอีสานจะมี “ดอนปู่ตา” ซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน โดยมีความเชื่อว่าดอนปู่ตาเป็นที่อยู่อาศัยของผีบรรพบุรุษของหมู่บ้าน ปู่ตา หมายถึง วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ปู่เป็นวิญาณทางพ่อ ตา เป็นวิญญาณทางแม่ (ว.ศรีสุโร, 2541: 64) คนในชุมชน จึงปลูก ตูบ หรือ หอ ให้ผีปู่ตาอาศัยซึ่งอาจจะมีรูปปั้นแทนหรือไม่มีก็ได้ โดยถือว่าเป็นเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดจะรุกล้ำหรือตัดต้นไม้แสดงวาจาหยาบคาย ไม่ได้ ดังนั้น ดอนปู่ตา จึงเป็นกลายเป็นป่าขนาดเล็กๆ และเป็นพื้นที่ป่าสงวนของคนในชุมชนไปในตัว
ความเชื่อเรื่องผีปู่ตา
คนอีสานมีความเชื่อเรื่องผีปู่ตามานานแล้ว ถือว่าเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ความเชื่อดังกล่าวได้หยั่งลึกลงไปจิตสำนึกของลูกหลานในชุมชน และถือปฏิบัติติดต่ออย่างเคร่งครัดตลอดมา ผีปู่ตาเป็นผู้รักษาหมู่บ้านให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งยังมีการบ๋าหรือขอพรในกรณีต่างๆ ของคนในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านที่มาบ๋าจะมีตั้งแต่เด็กนักเรียนจนถึงผู้สูงอายุทุกเพศทุกวัย การบนบานจะมีหลายอย่างเช่น การขอพรให้ตนเองประสบความสำเร็จในด้านการเรียน ค้าขาย หรือในการเดินทาง โดยหากสิ่งที่ตนเองบ๋านั้นประสบความสำเร็จ ก็จะมีการแก้บนตามที่ได้กล่าวไว้ เช่น การบ๋า ด้วยหัวหมู เป็ด ไก่ น้ำแดงหรือเหล้า หากเป็นเรื่องใหญ่ก็อาจจะถึงขึ้นมีการแสดงงมโหรสรรพ เช่น หมอลำ หรือภาพยนตร์ เลยทีเดียว (สุภาพ บุตรวิเศษ, 2558) นอกจากนี้ในทุกๆเดือน 6 ไทย (ราวพฤษภาคม) จะมีการทำบุญเลี้ยงผีปู่ตาเป็นประจำทุกปี โดยพิธีกรรมทั้งหมด ตั้งแต่การบ๋าหรือการเซ่นไหว้ต่างๆต้องผ่าน เฒ่าจ้ำหรือกระจ้ำ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อทางจิตกับผีปู่ตา ในกรณีที่มีคนในชุมชนทำในสิ่งที่สมควรผีปู่ตาจะแสดงให้เห็นโดยการไปสิง หรือเข้าเฒ่าจ้ำ เฒ่าจ้ำจะมีอาการสั่นแล้วพูดอะไรออกมาชัดเจนว่าใครทำอะไรผิดผีปู่ตา ให้รีบแก้ไขโดยการนำดอกไม้ ธูปเทียน ไปบอกกล่าวเพื่อขอขมา (สุภาพ บุตรวิเศษ, 2558)
พิธีเลี้ยงปู่ตา
พิธีเลี้ยงศาลปู่ตาหรือชาวบ้านเรียกว่าพิธีเลี้ยงบ้าน จะทำกันในวันพุธแรกของเดือน 6 (ก่อนจะมีพิธีเลี้ยงศาลปู่ตา 1 เดือน ชาวบ้านจะนำไก่ไปปล่อยบริเวณป่าใกล้ๆ ศาลปู่ตา เพื่อให้ไก่เหล่านั้นมาเป็นบริวาร) เฒ่าจ้ำจะประกาศให้ลูกบ้านเตรียมข้าวปลาอาหาร และให้เอาหญ้าคามัดแทนวัว ควาย เป็ด ไก่ และคน ให้ครบตามจำนวนของแต่ละครอบครัว โดยนำไปรวมกันบริเวณพิธีที่ดอนปู่ตา จากนั้นเฒ่าจ้ำก็จะเป็นผู้นำประกอบพิธีเสี่ยงทายดินฟ้าอากาศรวมทั้งเหตุเภทภัยที่อาจเกิดขึ้นกับหมู่บ้าน หลังเสร็จพิธีดังกล่าวชาวบ้านก็จะแบ่งข้าวปลาอาหารไปกินเพื่อเป็นสิริมงคล
การเสี่ยงทาย หลังจากการทำพิธีเลี้ยงปู่ตาเสร็จจะมีการเสี่ยงทายฟ้าฝนขึ้น ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชนเช่นการจุดบั้งไฟ ถอดคางไก่ และแทกวัดไม้วา เป็นต้น บางแห่งก็จัดเป็น 3 ชุดคือ เสี่ยงฝน เสี่ยงคน และเสียงควาย/สัตว์เลี้ยง (สมชาย นิลอาธิ, มปป.: 111) ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันไป
ในยุคปัจจุบันนี้ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาและประเพณีบุญซำฮะ กำลังเผชิญกับการคุกคามจากความเปลี่ยนแปลงของโลก ยุคโลกาภิวัฒน์ ความเป็นอีสานและวัฒนธรรมท้องถิ่น กำลังเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ อันเป็นผลมาจากการเข้ามาของระบบทุนนิยมในภาคอีสานผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ยุค พ.ศ.2500 อันมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลให้ขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างได้เริ่มทยอยสูญหายไปอย่างช้าๆ
ในอดีตนั้นชาวอีสานส่วนใหญ่อยู่กันแบบสังคมชนบท บางทีเรียกว่า สังคมแบบชาวบ้าน ที่ประชากรมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน อยู่กับธรรมชาติ ไม่หนาแน่นมีการแข่งขันกันน้อยสภาพการครองชีพต่ำส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำให้ต้องพึ่งพาอาศัยแรงงานแลกเปลี่ยนกัน มีความใกล้ชิดกัน และยึดมั่นอยู่กับขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงง่าย ๆ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย แต่ภายหลังการเข้ามาของพัฒนาเริ่มทำให้วิถีชีวิตแบบดังเดิมนั้นหายไปมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อไปประกอบอาชีพตามภูมิภาคต่างๆ สังคมแบบดั้งเดิมของชาวอีสานเริ่มแปลสภาพเป็นสังคมเมือง ดังจะเห็นได้จากในปัจจุบัน ที่ความเป็นชุมชนหรือหมู่บ้านแบบเก่านั้นเริ่มหายไปจากไปสังคมอีสาน มีการเข้ามาของชุมชนสมัยใหม่ เช่น หมู่บ้านจัดสรร ตึกแถว คอนโดมิเนียม หอพัก ห้องเช่า ชุมชนรูปแบบใหม่นี้ เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่มาจากหลากหลายพื้นที่และมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งแน่นอนชุมชนเหล่านี้ไม่มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่จะลองรับประเพณีความเชื่อแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น หลักบือบ้าน/ดอนปู่ตา ถูกแทนที่ด้วย “ศาลพระภูมิ” ที่ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสาน
การศึกษาและเทคโนโลยีสมัยใหม่สมัยใหม่ก็ส่งผลเช่นกัน เห็นใด้จาก กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนมักไม่ค่อยสนใจกับประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นอันเป็นผลจากการต้องประกอบอาชีพสมัยใหม่ ที่ไม่ใช้การทำเกษตรกรรม ส่งผลให้ “สังคมแบบประเพณี” คือ การดำรงชีวิตร่วมกันในกรอบจารีตประเพณีที่รับรู้หรือถ่ายทอดกันลงมาจากคนรุ่นปู่ย่าตายาย (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2551: 15) สูญหายไป จึงจะเห็นได้ว่าในบางชุมชนนั้นประเพณีบางอย่างเริ่มสูญหายไป หลักบือบ้านและดอนปู่ตา เริ่มเสือมความสำคัญลง บางท้องถิ่นก็หายไป
ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ตาและประเพณีบุญซำฮะ เป็นประเพณีความเชื่อของคนอีสานที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หรือเรียกว่า “สังคมแบบประเพณี” ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากความเชื่อในเรื่องจิตวิญญานที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามประเพณีทั้งสองนี้ก็เริ่มจางหายไปอันเป็นจากการพัฒนาและการเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ จึงทำให้ ประเพณี ความเชื่อ และ ความศักดิ์สิทธิ์ ต้องเผชิญกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่
บรรณานุกรม
- บุญศรี ตาแก้ว, 2545. ธรรมเนียมประเพณีอีสาน. กรุงเทพฯ: ส.ธรรมภักดี.
- ว.ศรีสุโร, 2541. ปู่ตา – อาฮัก. วารสารศิลปวัฒนธรรม ปี 19 ฉบับที่ 5-9( มี.ค.-ก.ย.) : หน้า64.
- ศรีศักร วัลลิโภดม, 2551. ความหมายของภูมิวัฒนธรรม การศึกษาจากภายในและสำนึกของท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
- สมชาย นิลอาธิ, มมป. บุญซำฮะ – เบิกบ้าน : พิธีกรรมสร้างความบริสุทธิ์เพื่อชีวิตที่สมบูรณ์.
- สุภาพ บุตรวิเศษ, 2558. (สัมภาษณ์) อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 73 ต.กู่สันตรัตน์ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม (ผู้สัมภาษณ์ : นนทนันท์ เวทสรากุล, วันที่สัมภาษณ์ 5 กันยายน 2558.
- https://sites.google.com/site/social54131108024/bth-thi2
- www.stou.ac.th
ที่มา