ประเพณีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของทางภาคอีสาน ที่โด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก นั่นกะคือประเพณีบุญบั้งไฟ บุญบั้งไฟนั้นเป็นหนึ่งในฮีตสิบสิงคองสิบสี่ ฮีตคองของคนอีสานที่สืบสานกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นแล้วคนอีสานจึงรู้จักกันดีเพราะเป็นประเพณีบุญเดือนหกนั่นเอง โดยปกติแล้วทั่วทั้งภาคอีสาน แต่ละตำบลหรือหมู่บ้านก็จะมีประเพณีนี้ แต่ที่โด่งดังมากก็คือที่จังหวัดยโสธร เมืองบั้งไฟโก้ ดั่งคำขวัญของจังหวัดนั่นเอง
วันนี้อีสานร้อยแปดจึงจะพาพี่น้องไปรู้จักกับประวัติอันยาวนานของประเพณีบุญบั้งไฟ โดยเรื่องราวนั้นมาจากนิทานพื้นบ้านทางภาคอีสานสองเรื่อง คือ “ผาแดงนางไอ่” และ “พญาคันาก” นิทานสองเรื่องนี้ได้กล่าวถึงการจุดบั้งไฟ และถูกเล่าต่อกันมา
นิทานพื้นบ้านเรื่อง “ผาแดงนางไอ่” กับประวัติประเพณีบุญบั้งไฟ
ในเนื้อเรื่องนิทานนั้นเป็นสาเหตุมาจากรักสามเส้า มีตัวละครคือ ท้าวผาแดง ท้าวพังคี และนางไอ่ ทั้งสามเคยมีความผูกพันธุ์กันมาก่อนตั้งแต่อดีตชาติ
นางไอ่เป็นธิดาของธิดาขอมพระราชาเมืองชะธีตา บ้างก็เรียก “ธีตานคร” นางไอ่เป็นสตรีที่มีสิริโฉมงดงามมาก เป็นที่เลื่องลือไปทั่วในนครต่างๆ ทั้งโลกมนุษย์และเมืองบาดาล ชายหนุ่มต่างหมายปองที่จะได้อภิเษกกับนางไอ่ ในจำนวนนั้นมีท้าวผาแดงเจ้าชายแห่งเมือง “ผาโพง” และท้าวพังคี โอรสสุทโธนาค เจ้าผู้ครองนครบาดาล
เจ้าเมืองธีตามีการจัดแข่งขันบั่งไฟซึ่งเป็นประเพณีแต่โบราณของเมืองเอกชะทีตา ใครชนะจะเป็นผู้ครอบครองเมืองธีตานคร และได้นางไอ่เป็นคู่สมรส
สุดท้ายทั้งคู่ก็แพ้บั้งไฟ จึงไม่ได้อภิเษกสมรสกับนางไอ่ แต่ท้าวพังคีไม่ยอมลดละ แปลงกายเป็นกระรอกเผือกเฝ้าติดตามนางไอ่ สุดท้ายถูกฆ่าตาย พญานาคผู้เป็นพ่อจึงขึ้นมาถล่มเมืองจนล่มไป กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ หนองหาร หนองหานในตำนานท้าวผาแดงนางไอ่ ที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าที่ไหนกันแน่ มีอยู่ถึง 3 ที่ ได้แก่ หนองหาน ที่ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี ซึ่งก็ไม่ไกลจากที่แรกมากนัก และอีกที่หนึ่งก็คือหนองหาร จังหวัดสกลนคร
นิทานพื้นบ้านเรื่อง “พญาคันคากกับพญาแถน” กับประวัติประเพณีบุญบั้งไฟ
พญาแถนเป็นเทพผู้คอยดลบับาลควบคุมฟ้าฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล วันหนึ่งเกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตกถึงเจ็ดปีเจ็ดเดือนเจ็ดวัน ชาวโลกมนุษย์อดอยากหมากแพงทนไม่ไหวคิดต่อสู้กับพญาแถนแต่สู้ทัพเทวดาไม่ได้ ถูกไล่ทัพมาจนถึงต้นไม้ใหญ่ที่พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาคันคาก (คางคก) อาศัยอยู่ และพญาคันคากตกลงใจเป็นจอมทัพของชาวโลกต่อสู้กับพญาแถน พญาคันคากให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงสวรรค์ ให้พญามอดไม้ไปทำลายด้ามอาวุธของทหารและอาวุธพญาแถน และให้พญาผึ้ง ต่อ แตนไปต่อยทหารและพญาแถนฝ่ายเทวดาพ่ายแพ้ พญาแถนจึงให้คำมั่นว่า หากมนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นไปเตือนเมื่อไรจะรีบบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ทันทีและถ้ากบเขียดร้องก็ถือเป็นสัญญาณว่าฝนได้ตกลงถึงพื้นแล้ว และเมื่อใดที่ชาวเมืองเล่นว่าวก็เป็นสัญญาณแห่งการหมดสิ้นฤดูฝน หลังจากนั้นมาชาวเมืองก็ปฏิบัติสืบต่อกันมา พอถึงเดือนหกจะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบอกพญาแถน จนกลายเป็นประเพณีบุญบั้งไฟจนทุกวันนี้
นิทานที่เกี่ยวข้องกับประวัติประเพณีบุญบั้งไฟทั้งสองเรื่องนั้น เป็นเพียงบางส่วนที่ย่อมา ทีมงานอีสานร้อยแปดจะมานำเสนอแต่ละเรื่องแบบละเอียดในโอกาสต่อไป เพราะถ้าเล่าแบบยาวๆคงไม่จบในที่เดียวแน่ โปรดติดตามตอนต่อไปกับนิทานฉบับเต็ม เด้อครับพี่น้อง มื้อนี้เอาคร่าวๆไปสาก่อน
ดูความคิดเห็น