หมวดหมู่ : ศิลปวัฒนธรรม

ฟ้อนตำนานท้องนา

ผู้คนในภูมิภาคอีสาน มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม บริโภคข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่ ข้าวเหนียวที่บริโภค เป็นผลผลิตในครัวเรือน กว่าจะได้ข้าวเหนียว ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง วิถีชีวิตชาวนาอีสาน เกี่ยวพันกับท้องนาอย่างไรบ้าง เป็นคำถามที่หลายคนที่ไม่ใช่ชาวนาอยากรู้

ฟ้อนตำนานท้องนา

แต่สำหรับชาวนา ลูกชาวนาที่เคยผ่านวิถีชีวิตแห่งท้องนา เติบโตมากับท้องนา ย่อมจะรู้สึกถึงความรัก ความผูกพัน ความกลมเกลียวแห่งชุมชน รู้สึกถึงความผูกพันกับท้องนา ไอดินที่เคยดม ยังหอมติดใจอยู่มิเสื่อมคลาย กลิ่นอายแห่งอีสานยังอยู่ในความทรงจำไม่เลือนหาย
เรื่องราวแห่งท้องนา เป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ เท่าๆ กับข้าวที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน

ทำข้าวจี่

เมื่อปี พ.ศ. 2550 เนื่องในโอกาสที่ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานจุฬาฯ ครบรอบ 30 ปี ทางชมรมฯ ได้คิดการแสดง “ฟ้อนตำนานท้องนา” ขึ้น เพื่อนำเสนอความเป็นมาของข้าวเหนียวผ่านการฟ้อนรำประกอบดนตรี โดยคุณกิตติศักดิ์ แก้งทอง เป็นผู้ออกแบบท่ารำและเครื่องแต่งกาย มังกรเดียวดาย เรียบเรียงลายเพลง และแสดงครั้งแรกในงาน “ไอดินถิ่นอีสาน อลังการวัฒนธรรม 30ปีอีสานจุฬาฯ” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2550
ฟ้อนตำนานท้องนา ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ คือ

    1. ไถนา ใช้นักแสดงชาย 2 คน คนหนึ่งเป็นคนไถ อีกคนหนึ่งแสดงเป็นควาย (ลายชมทุ่ง)
    2. หว่านกล้า ช่างฟ้อนหญิง 4 คน (ลายชมทุ่ง)
    3. ถอนกล้า ช่างฟ้อนหญิง 4 คน (ลายหลกกล้า)
    4. ดำนา ช่างฟ้อนหญิง 4 คน (ลายดำนา)
    5. เกี่ยวข้าว ช่างฟ้อนหญิง 4 คน (ลายชมทุ่ง)
    6. ตีข้าว ช่างฟ้อนชาย 4 คน (ไม่บรรเลงลาย ใช้กลองตุ้มตีตามจังหวะการตีข้าว)
    7. ตำข้าว + ฝัดข้าว ช่างฟ้อนชาย 4 คน ช่างฟ้อนหญิง 4 คน (ลายชมทุ่ง)
    8. ทำข้าวจี่ ช่างฟ้อนหญิง 12 คน (ลายข้าวจี่)

(จำนวนที่ระบุนี้ คือจำนวนคนที่ใช้ในงาน 30ปีอีสานจุฬาฯ)

ไถนา

เครื่องแต่งกาย

ชายหญิง แต่งกายแบบชาวนา

เครื่องแต่งกายฟ้อนข้าวจี่

นุ่งผ้าซิ่น เสื้อแขนกระบอกสีแดง คล้องสไบจกหรือแพรวาเขียว เกล้าผม ทัดดอกไม้สีเหลือง  เครื่องประดับ กำไลมือ สร้อยคอ ต่างหู

ดนตรี ใช้ลายชมทุ่ง ลายหลกกล้า ลายดำนา ลายข้าวจี่

แชร์
Alitta Boonrueang