หมวดหมู่ : ศิลปวัฒนธรรม

ฟ้อนสาละวัน

เป็นวัฒนธรรมของชนชาติลาวอีกประเภทหนึ่ง การลำสาละวันที่เก่าแก่ที่กำเนิดมาจากการทรงผีไท้ผีแถน ตามความเชื่อดั้งเดิมแล้วกลายมา เป็นมหรสพของชุมชน แล้วได้ประยุกต์เพิ่มกลอนลำให้เกิดความสนุกสนาน ประกอบท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยอิสระตามธรรมชาติ แรกเริ่มเป็นการเล่นโดยทั่วไปในหมู่ชาวบ้าน แล้วแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย ได้รับความนิยมมายาวนาน ด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ จังหวะสม่ำเสมอ

เนื้อความของลำสาละวัน นอกจากจะสะท้อนให้เห็นแนวทางการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิงแล้ว โวหารเปรียบเทียบที่ใช้ในกลอนลำ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความงามของการใช้ภาษา นอกจากนั้น ท่วงทำนองของการลำ ยังมีการเอื้อนที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว
“ลำสาละวัน” จึงเป็นเอกลักษณ์ของชาวสาละวันมายาวนาน ยังคงไว้ซึ่งความไพเราะ และเป็นการร้อยเรียงภาษาที่บอกเล่าเป็นทำนอง ให้ทราบถึงอดีตที่รุ่งเรืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้อย่างดียิ่ง

การแสดงชุด “ฟ้อนสาละวัน” ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรก โดย อาจารย์วีณา วีสเพ็ญ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม โดยได้กลอนลำสาละวันมาจากคนลาวอพยพ ซึ่งฟ้อนสาละวันนี้ เป็นแบบของวงแคนหรือแบบของ อ.วีณา

การแสดงชุด “ฟ้อนสาละวัน”  อีกแบบหนึ่งเป็นแบบของวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด โดยคณาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด เล็งเห็นคุณค่าความไพเราะของทำนองและบทร้อง ตลอดจนท่าฟ้อนรำที่สื่อความหมายตามแบบศิลปะพื้นบ้านที่บริสุทธิ์ รวมไปถึงความสวยงามของลวดลายที่ปรากฏบนผ้าทอของชาวสาละวัน โดยพยายามอนุรักษ์การฟ้อนแบบดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด โดยไปศึกษาการขับลำสาละวันและท่าฟ้อนสาละวัน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วนำกลับเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยอีกครั้ง จึงได้นำฟ้อนประกอบการลำสาละวันมาจัดระเบียบแบบแผนการแสดงใหม่ โดยดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบในการแสดงวงโปงลาง แต่ยังคงรูปแบบไว้ดั้งเดิมเอาไว้อย่างครบถ้วน

ฟ้อนสาละวัน

การแต่งกาย (แบบวนศ.ร้อยเอ็ด)

– ชาย สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นสีเขียวลายจกดิ้นทอง นุ่งผ้าโจงกระเบนสีเขียว ใช้ผ้าสไบจกลุ่มน้ำโขงมัดเอว สวมสร้อยทอง และกำไลทอง
– หญิง สวมเสื้อที่มีไหล่เสื้อด้านซ้ายสีเขียว ซึ่งเป็นแบบเสื้อชุดประจำชาติของลาว ห่มสไบจกดิ้นทองและนุ่งผ้าซิ่นจกสีแดงยกดิ้นทอง ผมเกล้ามวยสูง รวบผมตึงเบี่ยงมวยผมไปทางซ้าย มัดมวยผมด้วยสายลูกปัดทอง ปักปิ่นทองที่ยอดมวยผม สวมเครื่องประดับทอง เช่น สร้อย ต่างหู กำไล เข็มขัด

ลำสาละวัน (แบบวนศ.ร้อยเอ็ด)

(เกริ่น)
โอ๋ ..โอย…น้อ โอ…หนา โอ๋หนออ้ายเอย มา..มาแล้ว สาละวันมาแล้ว มาเอาแนวไปไว้ มาเอาในมันไปหว่านอ้ายเอย เอาเมือปลูกไว้บ้านพอสิได้ดอกเฮ็ดแนว..เฮ็ดแนวหนา
โอหนออ้ายเอย ยามน้องมาเห็นหน้าอยากถามข่าวถามถึงเด้หนอ สุขสำบายดีบ่ หือได๋อยากฮู้ข่าวท่านเอย น้องนี่มาฟาวฟ้าวอยากเห็นหน้าอยากข่าวถามข่าวถามหนา โอ…โอย…หนา
…………………….

โอ๋ ..โอย…น้อ โอ…หนา โอ๋หนออ้ายเอย เชิญอ้ายมาลำฟ้อน สาละวันให้มันคล่องอ้ายเอย ขอเชิญอ้ายและน้องมาลงฟ้อนเตี้ยเข้าใส่กัน ใส่กันหนา

เตี้ยลงสาละวันเตี้ยลง (ซ้ำ) เตี้ยลงให้คือหงส์เล่นน้ำ อยากให้งามให้เตี้ยลงต่ำๆ เตี้ยต่ำๆให้เตี้ยลงต่ำๆ เตี้ยลงแล้วฟังน้องสิเดี่ยวกลอน ฟ้อนอ่อนๆ เด้อชายสาละวัน ฟ้อนอ่อนๆ ละเด้อสาวสาละวัน เฮามาฟ้อนนำกันให้เตี้ยลงต่ำๆ เตี้ยต่ำๆ เตี้ยลงต่ำๆ เกี้ยวให้งามให้เตี้ยต่ำจำดิน

เตี้ยลงแล้วลุกขึ้นสาละวัน สาละวันลุกขึ้น ลุกขึ้นลุกขึ้นสาละวัน ลุกขึ้นแล้วกะฟ้อนอยู่ตรงๆ
มารำวงนำกันเป็นหมู่ เดินเป็นคู่สอดสายมาลัย จักแฟนไผกะซางมางามแท้น้อ
รูปหล่อๆ น้องอยากขอเมือนำ ตาดำๆ สิฮักน้องบ่นอ (ซ้ำ) โอ…โอย…หนา
………………………
โอ๋ ..โอย…น้อ โอ…หนา โอ๋หนออ้ายเอย ยามน้องมาเห็นน้ำวังใส คึดอยากอาบหลายเด บาดเทือมาฮอดแล้ววังน้ำย้านเพิ่นหมาย เพิ่นหมายหนา คึดอยากเมือนำอ้ายย้านบ่อนนั่งนั้นมีแต่ขอนเด้
ย้าน บ่อนนอนนั้นมีตั้งแต่เสี้ยน หาบ่อนเมี้ยนคีงน้องหย้านบ่มี บ่มีหนา
โอหนออ้ายเอย เฮาได้มาลำฟ้อนสาละวันกันเป็นหมู่นั่นแล้ว เดินเป็นคู่เกี่ยวก้อย สาวซำเล็กบ่าวซำน้อย มาลอยหน้าต่อไป ต่อไปหนา

สาละวันเดินหน้า เดินหน้า เดินหน้าสาละวัน สาละวันถอยหลัง ถอยหลังถอยหลังสาละวัน (ซ้ำ) ถอยหลังแล้วเชิญยิ้มหวานๆ อ้ายบ่สงสารสาวหมอลำบ่ บ่ฮักน้องบ้อ บ่ฮักน้องบ่ บ่ฮักน้อง…บ่

สาละวันขาเดียว ขาเดียว ขาเดียวสาละวัน
สาละวันแขนเดียว แขนเดียว แขนเดียวสาละวัน
สาละวันขาเดียว ขาเดียวแขนเดียวสาละวัน
แขนเดียวแล้วเชิญยิ้มหวานๆ อ้ายบ่สงสารสาวหมอลำบ่ บ่ฮักน้องบ้อ บ่ฮักน้องบ่ บ่ฮักน้อง…บ่
โอ…โอย…หนา
………………………..
โอ๋ ..โอย…น้อ โอ…หนา โอ๋หนออ้ายเอย พอแต่มาถึงนี้ สาละวันสิลงก่อนท่านเอย ขอแถมพรบาดท้าย สิลาอ้ายแล้วต่าวลง ต่าวลงหนา ขอลาลง…….

สาละวันลาลง ลาลง ลาลงสาละวัน
สาละวันลาลง ลาลง ลาลงสาละวัน
ลา..ลงลาลงสาละวัน ลา..ลงลาลง สา…ละวัน
โอ…โอย…หนา

แชร์
Alitta Boonrueang