คลังความรู้

ภาษาโคราช คำศัพท์และประโยคน่ารู้

รวมคำศัพท์ ภาษาโคราช ที่น่าสนใจ ประโยคน่ารู้รวมไปถึงคำที่ใช้บ่อย ๆ ภาษาท้องถิ่นของจังหวัดนครราชสีมามีสำเนียงภาษากลางรวมกับภาษาอีสาน

รวมคำศัพท์ ภาษาโคราช ที่น่าสนใจ ประโยคน่ารู้รวมไปถึงคำที่ใช้บ่อย ๆ ภาษาท้องถิ่นของจังหวัดนครราชสีมามีสำเนียงที่คล้ายกับภาษากลางรวมกับภาษาอีสาน มีความเป็นเอกลักษณ์มาก ใครได้ฟังได้ยินก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่คือสำเนียงของภาษาโคราชกลายเป็นภาษาท้องถิ่นที่มีความน่าสนใจมาก ๆ อีกภาษาหนึ่ง

เอกลักษณ์และความเป็นมาของภาษาถิ่นโคราช

“ไทโคราช” เป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่โดดเด่นมากมีภาษาโคราชเป็นภาษาพูดของตนเอง มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างภาษาไทยกลาง ภาษาอีสานและภาษาเขมรเข้าด้วยกัน คำศัพท์พื้นฐานส่วนใหญ่จะเป็นภาษาไทยกลางที่มีสำเนียงเพี้ยนไปจากเดิม เช่น

  • หน้า สำเนียงเพี้ยนเป็น หน่า
  • ม้า สำเนียงเพี้ยนเป็น ม่า
  • ช้า สำเนียงเพี้ยนเป็น ช่า
  • ค้า สำเนียงเพี้ยนเป็น ค่า
  • ไป สำเนียงเพี้ยนเป็น ไป๋
  • อาย สำเนียงเพี้ยนเป็น อ๋าย

คำศัพท์ภาษาโคราช เป็นคำศัพท์ที่ผสมผสานระหว่างภาษาไทยกลาง ภาษาอีสาน และ ภาษาเขมร เกิดเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ค่อนข้างจะเฉพาะ มีใช้กันเฉพาะในภาษาโคราช อาทิ เช่น ตะลุก(หลุมเล็กๆ) , ฝนละลึม(ฝนตกปรอยๆ) ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้มาจากศัพท์ในภาษาเขมร
อีกตัวอย่างที่เป็นการนำเอาคำมาจากมาภาษาอีสาน เช่น เก๊บมั่กเก๊บเมี่ยน หรือ เอาของไปเมี่ยน(เขาของไปเก็บ) คำว่าเมี่ยน มาจากภาษาอีสานเป็นต้น

ที่มา : ภาษาถิ่นโคราช – https://www2.nakhonratchasima.go.th/stuff/detail/41

ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของ ภาษาโคราช

ถ้าจะเล่าประวัติศาสตร์และอธิบายความเป็นมาของภาษาโคราช หรือสำเนียงโคราชนั้น ต้องย้อนกลับไปช่วงก่อนปีพ.ศ. 2000 โดยเริ่มจากรัฐสุพรรณภูมิ (บริเวณจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน) ใช้ภาษาไทย (มีสำเนียงเหน่อลาวลุ่มน้ำโขง) ในตระกูลไต-ไท เป็นภาษากลางในการค้าขายทางบกกับดินแดนภายใน สถาปนาภาษาไทยและความเป็นไทยในรัฐอยุธยา

สำเนียงเหน่อสุพรรณ

คนในรัฐสุพรรณภูมิพูดภาษาไทย (ตระกูลตระกูลไต-ไท) เคลื่อนย้ายไปอยู่ในอยุธยาเป็นเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ พลไพร่และประสมประสานเข้ากับกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน ซึ่งอยุธยาแต่เดิมใช้ภาษาเขมรเป็นหลักสืบต่อมาจากรัฐละโว้ (บริเวณจังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน) อยุธยาใช้ภาษาเขมรทั้งในราชสำนักและในคนทั่วไป นอกนั้นใช้ภาษามอญ ภาษามลายู และอื่น ๆ เช่น ภาษาตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู ฯลฯ

สำเนียงหลวงอยุธยา

เมื่อเวลาผ่านไป สำเนียงเหน่อจากสุพรรณก็กลายเป็นสำเนียงหลวงอยุธยา มีพยานสำคัญได้แก่ เจรจาโขนด้วยลีลายานคางสำเนียงเหน่อ

หลัง พ.ศ. 2000 อยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมา และสร้างกำแพงอิฐ กว่าจะสำเร็จมั่นคงลงหลักปักฐานต้องมีกำลังคนของอยุธยาจำนวนไม่น้อยถูกเกณฑ์ให้เคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่ง เป็นคนหลากหลายต่างชาติพันธุ์ เช่น มอญ เขมร มลายู แต่ต้องสื่อสารด้วยภาษาไทย (ในตระกูลภาษาไทย-ลาว) ซึ่งเรียกว่าสำเนียงสองฝั่งโขง

จนมากลายเป็นสำเนียงโคราช

สำเนียงสองฝั่งโขงนี้แพร่กระจายอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามาก่อนนานแล้ว ซึ่งในปัจจุบันเรียกสำเนียงเหน่อ และสำเนียงเหน่อเดียวกันนี้ทางลุ่มน้ำมูลจะเรียกภายหลังว่าสำเนียงโคราช หากลองสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าสำเนียงโคราชจะมีความใกล้เคียงกับสำเนียงระยองและจันทบุรีทางชายทะเลฝั่งตะวันออก นั่นก็เพราะว่าทั้งสำเนียงโคราช สำเนียงระยองและสำเนียงจันทรบุรี ทั้งหมดมีรากมาจากสำเนียงเหน่อ

สรุปได้ว่า ภาษาโคราช ภาษาถิ่นโคราชหรือสำเนียงโคราช มีรากเหง้าจากสำเนียงหลวงของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยายุคต้นอยุธยาที่พูดเหน่อ คนภาคกลางยุคต้นอยุธยาถูกโยกย้ายขึ้นไปตั้งหลักแหล่งที่โคราช ในช่วงที่อยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสร้างกำแพงอิฐ ประมาณหลังปีพ.ศ. 2000 เป็นต้นมา จนกลายเป็นภาษาโคราชหรือสำเนียงโคราชอย่างที่ได้ยินในปัจจุบัน

ที่มา : สุจิตต์ วงษ์เทศ สำเนียงหลวงยุคอยุธยา ปัจจุบันเรียกเหน่อ ตกค้างตามท้องถิ่นต่างๆ – https://www.matichon.co.th/columnists/news_825278

ไทเบิ้ง ไทเดิ้ง หรือ ไทดา

ในบางบทความมีการระบุโดยมีใจความว่า “คนโคราชไม่ค่อยพอใจนักที่ถูกเรียกว่า ไทเบิ้ง หรือ ไทดา” ทางเว็บไซต์อีสานร้อยแปดจึงได้สอบถามข้อมูลจากคนโคราชหลากหลายช่วงอายุ ก็ไม่พบข้อเท็จจริงข้างต้น

คำว่า เบิ้ง เดิ้ง แปลว่า หน่อย แสดงความขอร้อง เช่น ช่วยเบิ้ง ช่วยเดิ้ง แปลว่า ช่วยหน่อย, บอกเบิ้ง บอกเดิ้ง แปลว่า บอกหน่อย

ส่วนคำว่า ดา แปลว่า ด้วย เป็นคำแสดงกริยาร่วมกันหรือในทำนองเดียวกัน เช่น กินดา แปลว่า กินด้วย

เนื่องจากทั้งคำว่า ไทเดิ้ง ไทเบิ้ง หรือ ไทดา ไม่ได้เป็นคำด่าหรือคำหยาบคายแต่อย่างใด นอกจากนั้นคนโคราชก็เรียกแทนตัวเองว่าเป็นคนไทเดิ้ง ไทเบิ้ง หรือ ไทดา ด้วยซ้ำไป ดังนั้นคำเรียก ไทเบิ้ง ไทเดิ้ง หรือ ไทดา จึงอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่บางบทความได้ระบุไว้

ภาษาโคราช พร้อมคำแปล มากกว่า 500 คำ

ทีมงานอีสานร้อยแปดเราได้รวบรวมคำศัพท์ภาษาอีสานไว้มากนับหมื่น ๆ คำ แต่สำหรับบทความนี้เราจะแยกภาษาถิ่นโคราชออกมา เพื่อให้หาข้อมูลได้ง่าย ๆ พร้อมทั้งจะบอกวิธีการค้นหาคำศัพท์ในฐานข้อมูลว่าทำอย่างไร สามารถดูวิธีเพิ่มเติมได้ที่ท้ายบทความ สำหรับหัวข้อนี้เราจะมานำเสนอรายการคำศัพท์ทั้งหมดที่เป็นภาษาโคราชมากกว่า 500 คำ แปลเป็นไทย ทั้งคำกวน ๆ คำน่ารัก ๆ ของโคราชบ้านเอง หรือจะเป็นคำด่า ว่าแล้วก็ไปดูกันเลย

  • โคราชบ้านเอ็ง [โค – ราด – บ้าน – เอ็ง] แปลว่า โคราชบ้านเรา
  • ร่ะเวิ่ก [ระ-เวิก] แปลว่า ฟุ้งซ่านสันสนไปมา,ยุ่งวุ่นวาย
  • หน้าหลึ่ม [หน่า-หลึ่ม] แปลว่า หน้าทะเล้น,หน้าทะลึ่ง,หน้ามึน
  • เสิ่นขึ่น [เสิ่น-ขึ้น] แปลว่า ยกย่องเพื่อยุให้ทำ,อวดดี,โอ้อวด,พูดห้ามไม่ให้ทำอะไรกลับทำเหมือนยั่วอารมณ์
  • หยำแยะ [หยำ-แยะ] แปลว่า คั่งค้าง , คาราคาซัง ทำอะไรซ้ำซากจนเป็นที่น่ารำคาญ หรือ น่าเบื่อหน่าย
  • จำโอ [จำ-โอ] แปลว่า อาเจียน , อ้วก
  • เบิ้ง แปลว่า บ้าง (ภาษาอังกฤษ : some, a bit.)
  • กะทั่กกะเทิน [กะ-ทัก-กะ-เทิน] แปลว่า ลักษณะที่กระทำอย่างครึ่งๆกลางๆ,กลางคัน,ก้ำกึ่ง
  • โต่งโหม่ง [โต่ง-โหม่ง] แปลว่า ตำตา,ปรากฏชัดแก่ตา,เห็นอยู่โทนโท่
  • จั๊กกะลืน [จั๊ก-กะ-ลืน] แปลว่า อาการสยิว,อาการรู้สึกเสียวซ่านจนขนลุก
  • จ่น แปลว่า เร่งรัด ไม่อยากทำก็ได้ทำ ไม่อยากพูดก็ได้พูด อย่างว่า บ่อยากเว้าหางแมงเงาเจ้าหั้งแหย่ บ่อยากเว้าหางแง้ผักแหย่มา (บ.). (ภาษาอังกฤษ : to force to hurry.)
  • หน้าเสมอหลึ่ม [หน่า-สะ-เหมอ-หลึ่ม] แปลว่า ดีหน้าตาย,หน้าด้านหน้าทน
  • กะเตอะกะเติ่น แปลว่า อาการหัวเราะอย่างร่าเริง เสียงดังฟังชัด เรียก หัวกะเตอะกะเติ่น หัวเตอะหัวเติ่น ก็ว่า.
  • ดู๋ทั๊วะ [ดู๋-ทั๊วะ] แปลว่า ดูซิ
  • ด๊ะดาด [ด๊ะ-ดาด] แปลว่า เกลื่อนกลาด
  • จืดจ่องหล่อง แปลว่า จืดจนไม่มีรสชาติ , ลักษณะอาหารที่มีน้ำไม่เข้มข้นจนไม่มีรสชาติ
  • เจ็บขี่ , เจ็บเยี่ยว แปลว่า อาการปวดอุจาระ อาการปวดปัสสาวะ
  • งึดหลาย แปล่า อาหารงงมาก ประหลาดใจ
  • พอกะเทิน แปลว่า ค้าง ๆ คา ๆ ค้างคา ครึ่ง ๆ กลาง ๆ จะดีก็ไม่ดี จะเสร็จก็ไม่เสร็จ
  • พูดเดิม แปลว่า นินทา
  • บ่อนนอน แปลว่า ที่นอน
  • บ้านเอ็ง แปลว่า บ้านหรือภูมิลำเนา บ้านเรา เช่น โคราชบ้านเอ็ง
  • สะออน แปลว่า น่ารัก
  • หนหวย แปลว่า รำคาญ
  • ไอ๋ , ไอเยอ แปลว่า อะไรนะ ว่าไงนะ
  • ดอกเด่ แปลว่า ต่างหาก
  • โกรกกราก แปลว่า รีบด่วน
  • สำมะปิ แปลว่า สารพัด , จิปาถะ
  • กะไหน แปลว่า ที่ไหน
  • ระอิ๊ก แปลว่า หัวเราะ
  • จ่น แปลว่า วุ่นวาย ยุ่ง
  • เข่า แปลว่า ข้าว
  • กิ๋น , จิ๋น แปลว่า กิน รับประทาน
  • เคียด แปลว่า โกรธ
  • แจ้ง แปลว่า สว่าง
  • ข่อหล่อแข่แหล่ แปลว่า ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีแก่นสาร
  • ขี่ซบร่อง แปลว่า บังเอิญ ถูกโดยบังเอิญ ฟลุ๊ค (เหมือนประมาณว่าไปขี้แล้วขี้ตกลงไปในร่องพอดี ตรงเป้า ประมาณนั้น เพราะว่าสมัยก่อนยังไม่มีห้องน้ำ คนสมัยก่อนจะใช้วิธีการขุดหลุมเพื่อทำการปลดทุกข์)
  • ขี่ฮดต๊ดหาย แปลว่า ขวัญหนีดีฝ่อ ตรงกับสำนวน ขี้หดตดหาย
  • จำโอ แปลว่า อ้วก , อาเจียน
  • จั๊กเด่ แปลว่า ไม่รู้ ไม่รู้จัก (ถ้าเป็นคำอีสานจะพูดว่า จักแหล่ว)
  • จิเป๋นไอ๋ แปลว่า จะเป็นอะไร
  • ดีกั่ว แปลว่า ดีกว่า
  • ดา แปลว่า ด้วย
  • ตื่ม แปลว่า แถม เพิ่ม เติม เช่น ใส่เงินตื่มไป๋อีก แปลว่า ใส่เงินเพิ่มเข้าไปอีก เดี๋ยวคนอื่นสิมาตื่มอีกดอก แปลว่า เดี๋ยวคนอื่นก็มาเพิ่มมาสมทบให้อีก
  • มะเขือละคอน แปลว่า มะเขือพวง
  • เสมอหรึ่ม หรือ เสมอหลึ่ม แปลว่า ไม่สนใจใคร หน้ามึน
  • ระยึกระยึน แปลว่า ขวักไขว่
  • ทำแนว แปลว่า ทำพันธุ์ เช่น เอาไว้ทำแนว
  • ยิบผ่า แปล่า เย็บผ้า
ภาษาโคราช ณ นครราชสีมา

วิธีการค้นหา ภาษาโคราช ในอีสานร้อยแปด

เว็บไซต์อีสานร้อยแปดเราได้จัดทำฐานข้อมูลภาษาอีสานโดยมีชื่อโปรเจคว่าพจนานุกรมภาษาอีสาน เพื่อให้เราสามารถค้นหาคำศัพท์ได้ง่าย ๆ สำหรับการค้นหาภาษาโคราชนั้น เราสามารถใช้ Google ในการค้นหาได้เลย วิธีการค้นหาสามารถทำได้ดังนี้

Time needed: 2 minutes

วิธีการค้นหาคำศัพท์ภาษาโคราชในฐานข้อมูลอีสานร้อยแปดด้วย Google

  1. เข้าไปที่ Google.com หรือ Google.co.th

    กดไปที่ Google (สามารถทำได้ทั้งมือถือและเดสท็อป)

  2. ค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด “site:esan108.com/dict/ โคราช

    หลังจากที่เปิด Google เรียบร้อยแล้วให้ทำการค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด “site:esan108.com/dict/view/ โคราช
    ระบบของ Google จะแสดงผลลัพธ์รายการเฉพาะคำศัพท์ที่เป็นภาษาโคราชขึ้นมา (ดูภาพประกอบ) หรือกดลิงก์เพื่อดูผลการค้นหาได้ที่นี่

แชร์
ไทสกล คนสว่าง

แอดมินอีสานร้อยแปด ไทสกล คนสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บอีสานร้อยแปด นำเสนอข้อมูลรอบด้าน ทุกเรื่องราวของพี่น้องชาวอีสาน เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิดแต่เกิดอยู่สกลนคร ออนซอนประเพณีวัฒนธรรมที่ราบสูงที่เรียกว่าภาคอีสาน จึงได้รวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหล่านั้นรังสรรค์ผลงานนำเสนอผ่านเว็บไซต์ "อีสานร้อยแปดดอทคอม"