หวด (หวดนึ่งข้าว)
หวด คือ วัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร ใช้การนึ่งข้าวเหนียวของคนในภาคอีสานหรือใช้นึ่งสิ่งของที่ต้องการได้ตามใจชอบ คนอีสานกับหวดนึ่งข้าว เป็นของคู่กัน เพราะคนอีสานกินข้าวเหนียว ช่วงเวลาที่สานหวดคือเวลาว่างจากการทำไร่ทำนา เนื่องจากในทุกๆวันจะต้องใช้หวดนึ่งข้าวเป็นประจำ เพราะชาวอีสานส่วนมากจะกินข้าวเหนียวเป็นหลัก การนึ่งข้าวเหนียวด้วยหวดนั้น นับว่าเป็นวิธีง่ายและสะดวกที่สุดของชาวบ้าน
วัสดุที่ใช้ในการทำหวด
ตอกไม้ไผ่ เชือกผ้าฝ้าย
การเตรียมไม้ไผ่ หรือตอกไม้ไผ่
ใช้เลื่อยตัดไม้ไผ่ออกเป็นปล้องๆ โดยทิ้งส่วนที่เป็นข้อ เพราะส่วนที่เป็นข้อไม่สามารถใช้งานได้ ความยาวของไม้ไผ่ที่เลื่อยนั้นจะขึ้นอยู่กับขนาดของหวดที่จะสาน เช่น ถ้าสานหวดใหญ่จะตัดไม้ไผ่ให้ยาว 35 นิ้ว หวดขนาดกลางจะตัด 30 นิ้ว หวดขนาดเล็กจะตัด 25 นิ้ว เป็นต้น
ใช้พร้าผ่าไม้ไผ่ให้เป็นซีก (ชาวบ้านในภาคอีสานเรียก กีบ) ขนาดความกว้างของซีกไม้ไผ่ ถ้าเป็นหวดขนาดใหญ่ กว้าง 0.8 ซม. หวดขนาดกลาง กว้าง 0.6 ซม. และหวดขนาดเล็ก กว้าง 0.5 ซม. ตามลำดับ
การจักส่วยตอก
คือ การเหลาซีกไม้ไผ่เพื่อลบคมของซีกไม้ตรงกลางออก แล้วเหลาหัวท้ายของซีกไม้ให้เรียวลง โดยใช้มีดตอก (คำว่า ส่วย ในภาษาอีสานคือ การทำปลายให้แหลม)
การจักตอก
คือ การใช้มีดเอาส่วนที่เป็นเนื้อไม้ไผ่และเปลือกไม้ไผ่แยกออกจากกัน ในซีกหนึ่งจะจักเป็นเส้นตอกได้ประมาณ 8 – 10 เส้น การจักตอกที่จะนำมาสานหวดนั้น ควรหาไม้ไผ่ที่ค่อนข้างอ่อน ความยาวของเส้นตอกก็ทำตามขนาดที่กล่าวมาข้างต้น
จากนั้นนำเส้นตอกที่จักเสร็จแล้วผึ่งแดดให้แห้ง ถ้าเป็นฤดูฝนก็จะใช้วิธีรมควัน เพราะจะทำให้ไม่มีราขึ้นและกำจัดมอดด้วย การผึ่งแดดใช้เวลา 2 – 3 วัน ถ้ารมควันก็ให้สังเกตดูสีของเส้นตอกว่าเป็นสีน้ำตาลหรือยัง ถ้าเป็นสีน้ำตาลแล้วก็ถือว่าใช้ได้ เมื่อเส้นตอกผึ่งแดดหรือรมควันได้ที่แล้ว ให้มัดตอกเป็นมัดๆ เรียงตามความยาวของเส้นตอกแต่ละขนาดไว้
ขั้นตอนการสานหวด
– นำติวไม้ไผ่และตอกไม้ไผ่ ที่เหลาเตรียมไว้มาวางเป็นแนวตั้ง 4 เส้น แนวนอน 8 เส้น สานเริ่มจากจุดกึ่งกลางสานเป็นลายขัดสาม สานไปข้างละ 13 ขัด
– เมื่อสานได้ขนาดแล้ว นำมาหักมุมสานลายสามไปรอบๆจนสุดเส้นตอกทั้งสองข้าง หากต้องการให้ขนาดของหวดกว้างและยาวขึ้นก็ให้เพิ่มตอกสานไปเรื่อยๆตามความต้องการของเรา
– เมื่อได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว ก็เอาไม้ที่เหลาไว้ทำขอบบนและขอบล่างมาประกอบใส่กับหวด และใช้เชือกผ้าฝ้ายมัดเพื่อความมั่นคงให้ไม้ไผ่ไม่หลุดออกจากตัวหวด
– ก้นหวดใช้เชือกสานไขว้เป็นตาข่ายห่างๆกัน ทำไว้สำหรับใส่ที่รองข้าว เพื่อไม่ให้ข้าวสารหล่นออกจากหวด
เตี่ยวมวย (ที่รองข้าวสาร,ข้าวหม่า)
ชาวบ้านบางครัวเรือนจะทำเตี่ยวมวยแตกต่างกันไป บางครัวเรือนก็สานไม้ไผ่แล้วตัดเป็นวงกลมจากนั้นนำตาข่ายในล่อนมารองแล้วเย็บเข้าด้วยกัน บางครัวเรือนก็ใช้ใยบวบตัดเป็นวงกลมแล้วนำไปรองได้ทันที เตี่ยวมวยทำขึ้นมาเพื่อใส่ข้าวหม่า ป้องกันไม่ให้ข้าวหล่นลงไปในหม้อนึ่งข้าว
ประโยชน์ของหวด
ใช้นึ่งข้าวเหนียว นึ่งถั่วเหลืองเพื่อนำมาทำขนม นึ่งผักนึ่งปลา หรือจะนึ่งขนมก็ได้ แต่ส่วนมากคนอีสานจะนิยมใช้นึ่งข้าวเหนียวมากกว่า