หอพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เริ่มตั้งแต่การสร้างและประดิษฐานในลังกา 1,150 ปี นอกจากนี้ได้ไปประดิษฐานยังเมืองต่างๆ ของประเทศไทยอีกหลายแห่ง พระพุทธสิหิงค์ เป็นพุทธศิลป์ที่สร้างในลังพระสรีระได้สัดส่วนและงดงามที่สุด เป็นพระพุทธรูปสวยงามศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาติไทย เป็นสิริมงคลและหลักใจของพุทธศาสนิกชน มีอานุภาพสามารถบำบัดทุกข์ในใจให้เหือดหาย เมื่อท้อแท้หมดมานะแล้วได้มาสักการะ จะทำให้ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งกลับสดชื่นมีความเข้มแข็ง จิตที่เคยหวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ จิตที่เกียจคร้านจะมีวิริยะ ผู้หมดหวังจะมีกำลังใจ พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปซึ่งตามประเพณีจะมีพิธีอัญเชิญเสด็จออกให้ประชาชนทำการสักการะบูชาสรงน้ำ ตามจารีตประเพณีของไทยในวันสงกรานต์อันเป็นวันขึ้นปีใหม่มาแต่โบราณทุกปี พระพุทธสิหิงค์ ประวัติความเป็นมาปรากฏตามตำนานของพระโพธิรังษี พระเถระปราชญ์ชาวเชียงใหม่ ซึ่งเป็นไว้เป็นภาษามคธ ราวปี พ.ศ.1960 กล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์นี้เจ้าแห่งลังกา 3 พระองค์ได้ร่วมพระทัยกันพร้อมด้วยเหล่าพระอรหันต์ในเกาะลังกาสร้างขึ้นราว พ.ศ. 700 ถ้านับอายุถึงเวลานี้ก็เกือบ 2000 ปีมาแล้ว และประดิษฐานอยู่เกาะลังการาว 1,150 ปี ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ.1820-1860) ซึ่งเป็นสมัยต้นที่ประเทศสยามกำเนิดขึ้น พระองค์ด้ทรงทราบถึงพุทธลักษณะที่งดงามของพระพุทธสิหิงค์ จากพระภิกษุชาวลังกาที่เข้ามาสู่ประเทศไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยานครศรีธรรมราชแต่งทูตเชิญพระราชสาส์น ไปขอประทานพระพุทธสิหิงค์ จากพระเจ้ากรุงลังกา พระองค์ได้ถวายมาตามพระราชประสงค์ ในคราวนั้นพ่อขุนรามคำแหงฯ เสด็จฯ ไปรับองค์พระพุทธสิหิงค์ ถึงเมืองนครศรีธรรมราช แล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (ราว พ.ศ.1850) ต่อมาราว พ.ศ. 1920 กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง พญาไสลือไทยจึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองพิษณุโลก จนพระไสลือไทยสิ้นพระชนม์ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองพิษณุโลก 5 ปี ราว พ.ศ. 1925 สมเด็นพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาอยู่ได้ราว 5 ปี ราว พ.ศ. 1930 พระยายุธิษฐิระ ราชบุตรเลี้ยงของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ผู้ครองเมืองกำแพงเพชร ได้มีอุบายร่วมกับพระมารดาทูลขอพระพุทธรูปไปบูชาและได้ให้สินบนขุนพลพุทธบาล จึงเลือกพระพุทธสิหิงค์ส่งไป และพอถึง พ.ศ. 1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. 1930 เจ้ามหาพรหมผู้ครองนครเชียงราย ได้ชวนเจ้ากือนา พระเชษฐาผู้ครองนครเชียงใหม่ ยกทัพไปเมืองกำแพงเพชร และทรงขู่ขอพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธสิหิงค์จึงได้ไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงราย ในปี พ.ศ. 1931 ราว 20 ปี พอถึง พ.ศ. 1950 นครเชียงใหม่กับเมืองเชียงรายเกิดวิวาทถึงกับรบกัน เชียงใหม่ชนะ เจ้าแสนเมืองมาผู้ครองนครจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานอยู่ที่นครเชียงใหม่ และอยู่นานถึง 255 ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2204 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตีเมืองเชียงใหม่ได้ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา อยู่ราว 105 ปี ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 เชียงใหม่เข้ากับพม่า จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปนครเชียงใหม่อีกครั้งใน พ.ศ.2310 คราวนี้อยู่นานถึง 28 ปี ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2338) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพไปขับไล่พม่าให้พ้นจากนครเชียงใหม่ และทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงเทพฯ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว จึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) จนถึงรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2394 โปรดให้อัญเชิญกลับมาไว้ที่วังหน้าอีกครั้งหนึ่งต่อมามีพระราชประสงค์จะประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ ณ วัดบวรสิทธาวาส (วัดพระแก้ว วังหน้า) จึงโปรดให้ช่างเขียนตำนานพระพุทธสิหิงค์ที่ฝาผนังข้างในพระอุโบสถ ยังมิทันเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระพุทธสิหิงค์จึงประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์จนมาถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ คือพระพุทธสิหิงค์องค์ข้างต้น พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระพระพุทธสิหิงค์บริเวณศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช และพระพุทธสิหิงค์ในวิหารลายคำในวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 3 องค์ พุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นนั้นๆ ต่างก็เคารพนับถือว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์องค์ที่แท้จริงกันทั้งนั้น ส่วนนักโบราณคดีก็ได้พากันวินิจฉัยว่าองค์ไหนจะเป็นองค์จริงตามตำนานปรากฏว่ายังไม่สามารถที่จะลงมติเป็นเอกฉันท์ได้ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงวินิจฉัยพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ไว้ในเรื่อง พุทธศิลปในประเทศไทย ว่าพระพุทธสิหิงค์ นั้นตามตำนานได้มาจากเกาะลังกา จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าโดยเหตุที่เคยไปประดิษฐานหลายๆ แห่ง จึงอาจจะถูกขัดแต่งจนกลายเป็นพระพุทธรูปแบบฝีมือไทย หรือองค์เดิมสูญหายไปเสีย จึงสร้างแทนขึ้นในสมัยหลัง ส่วนพระพุทธสิหิงค์องค์ที่อยู่ในหอพระพุทธสิหิงค์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้นพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบนายขนมต้ม ซึ่งเป็นพุทธศิลปโดยเฉพาะของจังหวัดนครศรีธรรมราช คือพุทธศิลปโดยทั่วๆ ไป เหมือนพุทธศิลปสมัยเชียงแสน (ล้านนา) เป็นแต่ตรงสังฆาฏิต่างกันคือ สังฆาฏิสั้นๆ หลายอันซ้อนกัน ที่เรียกว่าสังฆาฏิแฉก สำหรับพระพุทธสิหิงค์ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีพุทธลักษณะแบบสิงห์ 1 (ล้านนา) ดังนั้นนักโบราณคดีส่วนใหญ่จึงปักใจเชื่อว่า พระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ คือองค์ที่ปรากฏอยู่ในตำนานที่พระโพธิรังษี พระเถระชาวเชียงใหม่แต่ไว้เมื่อ 600 ปี มาแล้ว…
หอพระพุทธสิหิงค์ ตำบล/แขวงบางปลาสร้อย อำเภอ/เขตเมืองชลบุรี