การออกเสียงภาษาอีสาน และเทคนิคพูดสำเนียงอีสานแท้

ภาษาอีสานเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของคนอีสาน ไม่ว่าคนภาคใดได้ยินสำเนียงก็สามารถบอกได้ว่าเป็นภาษาอีสาน  ภาษาอีสานจึงเป็นภาษาที่ค่อนข้างมีรูปแบบและเอกลักษณ์เด่นชัด  แต่ถ้าพูดกันในรายละเอียดแล้ว ภาษาอีสานก็มีสำเนียงที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป เป็นไปตามตามสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตติดต่อกับถิ่นใด และสังคมของถิ่น ๆ นั้น ๆ เป็นแบบใด เช่น แถบจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์  มีชายแดนติดกับเขมร ดังนั้น ศัพท์ สำเนียง รากศัพท์ภาษา ก็จะมีคำของภาษาเขมรปะปนอยู่ด้วย

จังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร หนองคาย เลย ที่มีพื้นที่ติดกับประเทศลาว และยังมีชาวเวียดนามเข้ามาอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก ก็จะมีรายละเอียดของสำเนียงไปอีกแบบหนึ่ง  และชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ๆ ก็มีส่วนที่ทำให้สำเนียงมีเอกลักษณ์ แตกต่างจากภาคอีสานถิ่นอื่นมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ชาวภูไทในจังหวัดมุกดาหารและนครพนม  ถึงแม้ภาษาอีสานมีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่มีความคล้ายกันก็คือ ลักษณะของคำและความหมายต่าง ๆ เป็นคำที่ใช้เหมือนกันในทุก ๆ ท้องถิ่น  จึงทำให้ชาวอีสานในแต่ละท้องถิ่นสามารถสื่อสารพูดคุยกันได้เข้าใจกันเป็นอย่างดี

ทุกวันนี้เด็กวัยรุ่นอีสานบางส่วนหันมาใช้ภาษาไทยกลางกันมากขึ้น เหตุผลหนึ่งก็เพราะพ่อแแม่มักจะส่งลูกเข้ามาเรียนในเมืองใหญ่ ๆ และในกรุงเทพ ฯ วัยรุ่นอีสานจึงมีโอกาสใช้ภาษาอีสานน้อยลง  และอีกเหตุผลหนึ่งที่เด็กวัยรุ่นอีสานพูดภาษาอีสานน้อยลง เพราะพ่อแม่บางส่วนที่มักจะหัดให้ลูกพูดภาษากลางตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยที่ตัวพ่อแม่เองก็ยังใช้ภาษาอีสานเป็นหลัก แต่เมื่อเวลาคุยกับลูกจะใช้ภาษากลาง ทำให้ภาษาอีสานเริ่มลดความสำคัญลง  แต่ผู้คนตามชนบทและคนเฒ่าคนแก่ยังใช้ภาษาอีสานกันเป็นภาษาหลักอยู่

ทุกวันนี้ก็จะเห็นคนอีสานส่วนใหญ่สามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาอีสานและภาษาไทยกลาง โดยเฉพาะชาวอีสานที่ไปต่างถิ่น ที่นอกจากจะหางานทำ แล้วก็ยังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมรวมทั้งภาษาของตนเองไปในตัวด้วย (บางครั้งบางทีเพื่อนภาคอื่นก็ยังมาถามศัพท์อีสาน หรือบางครั้งก็แลกเปลี่ยนกันสอนภาษากับภาคอื่นอยู่บ่อย ๆ )

หลักการพูดภาษาอีสานมี 16 กลุ่มเสียงท้องถิ่น หลักการที่สำคัญคือ ต้องใช้หลักการผันรูปและเสียงวรรณยุกต์ โดยแบ่งการผันเป็น 3 กลุ่มคือ อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ ส่วนใหญ่เวลาผันมักจะลดรูปวรรณยุกต์ในภาษากลางลง 1 ขั้น  มีหลักการพูดภาษาอีสานสำคัญดังนี้

สำเนียงอีสาน

อักษรสูง

อักษรสูงมี 11 ตัว ได้แก่ ข ฃ ฉ ถ ฐ ผ ฝ ศ ส ษ ห

  • รูปวรรณยุกต์สามัญ ให้ออกเสียงวรรณยุกต์จัตวาเหมือนภาษากลาง เช่น
    • ไข (ไขมัน) ออกเสียงว่า ไข
    • ขา ออกเสียงว่า ขา
    • ผา (หน้าผา) ออกเสียงว่า ผา
    • หา ออกเสียงว่า หา
  • รูปวรรณยุกต์เอก ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขั้น และใช้อักษรต่ำที่คู่กันมาใส่แทน เช่น
    • ไข่ ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขั้น กลายเป็น ไข และใช้อักษรต่ำที่คู่กันมาใส่แทน ซึ่งในที่นี้คือ ค ดังนั้นคำว่า ไข่ ออกเสียงว่า ไค
    • ข่า ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขั้น กลายเป็น ขา และใช้อักษรต่ำที่คู่กันมาใส่แทน ซึ่งในที่นี้คือ ค ดังนั้นคำว่า ข่า ออกเสียงว่า คา
    • ผ่า ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขั้น กลายเป็น ผา และใช้อักษรต่ำที่คู่กันมาใส่แทน ซึ่งในที่นี้คือ พ ดังนั้นคำว่า ผ่า ออกเสียงว่า พา
    • ห่า (ห่าฝน) ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขั้น กลายเป็น หา และใช้อักษรต่ำที่คู่กันมาใส่แทน ซึ่งในที่นี้คือ ฮ ดังนั้นคำว่า ห่า ออกเสียงว่า ฮา
  • รูปวรรณยุกต์โท ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขั้น เช่น
    • ไข้ ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขึ้น ออกเสียงว่า ไข่
    • ขี้ข้า ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขึ้น ออกเสียงว่า ขี่-ข่า
    • ผ้า ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขึ้น ออกเสียงว่า ผ่า
    • ห้า (เลขห้า) ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขึ้น ออกเสียงว่า ห่า
  • คำตาย ให้ใช้อักษรต่ำที่คู่กันมาใส่แทน และเพิ่มวรรณยุกต์ขึ้น 1 ขึ้น เช่น
    • ผัก ให้ใช้อักษรต่ำที่คู่กันมาใส่แทน ซึ่งในที่นี้คือ พ กลายเป็น พัก และเพิ่มวรรณยุกต์ขึ้น 1 ขึ้น กลายเป็น พั้ก ดังนั้นคำว่า ผัก ออกเสียงว่า พั้ก
    • สด ให้ใช้อักษรต่ำที่คู่กันมาใส่แทน ซึ่งในที่นี้คือ ซ กลายเป็น ซด และเพิ่มวรรณยุกต์ขึ้น 1 ขึ้น กลายเป็น ซ้ด ดังนั้นคำว่า สด ออกเสียงว่า ซ้ด

อักษรกลาง

อักษรกลาง มี 9 ตัว ได้แก่ ก จ ด ฎ ต ฏ บ ป อ

  • รูปวรรณยุกต์สามัญ ให้ออกเสียงวรรณยุกต์สามัญเหมือนภาษากลาง เช่น
    • ไกล ออกเสียงว่า ไก (ภาษาอีสานมักไม่ออกเสียงควบกล้ำ ร และ ล)
    • ไป ออกเสียงว่า ไป
    • ดี ออกเสียงว่า ดี
    • เอา ออกเสียงว่า เอา
  • รูปวรรณยุกต์เอก ให้เพิ่มรูปวรรณยุกต์ขึ้น 2 ขั้น เช่น
    • ไก่ ออกเสียงว่า ไก๊
    • ป่า ออกเสียงว่า ป๊า
    • กระบี่ ออกเสียงว่า กะ-บี๊ (ภาษาอีสานมักไม่ออกเสียงควบกล้ำ ร และ ล)
    • เก่า ออกเสียงว่า เก๊า
  • รูปวรรณยุกต์โท ให้ออกเสียงวรรณยุกต์โทเหมือนภาษากลาง เช่น
    • ใกล้ ออกเสียงว่า ไก้ (ภาษาอีสานมักไม่ออกเสียงควบกล้ำ ร และ ล)
    • ป้า ออกเสียงว่า ป้า
    • จี้ ออกเสียงว่า จี้
    • เก้า ออกเสียงว่า เก้า (ภาษาอีสานออกเสียงสั้นและห้วนว่า เก้า ไม่ใช่ ก้าว เหมือนในภาษากลาง)
  • รูปวรรณยุกต์ตรี ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขึ้น เช่น
    • ตื๊อ ออกเสียงว่า ตื้อ
  • รูปวรรณยุกต์จัตวา ให้ออกเสียงวรรณยุกต์จัตวาเหมือนภาษากลาง สังเกตว่าจะเหมือนหลักการออกเสียงอักษรสูง รูปวรรณยุกต์สามัญ
    • ตี๋ ออกเสียงว่า ตี๋
    • ลูกเต๋า ออกเสียงว่า ลูกเต๋า
  • คำตาย ให้ออกเสียงวรรณยุกต์จัตวา เช่น
    • กบ ออกเสียงว่า ก๋บ
    • ตก ออกเสียงว่า ต๋ก
    • จด ออกเสียงว่า จ๋ด
    • ปะ ออกเสียงว่า ป๋ะ

อักษรต่ำ

อักษรต่ำ มี 24 ตัว ได้แก่ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ

  • รูปวรรณยุกต์สามัญ ให้เพิ่มรูปวรรณยุกต์ขึ้น 1 ขั้น เช่น
    • นา ออกเสียงว่า น่า
    • มา ออกเสียงว่า ม่า
    • ยา ออกเสียงว่า ยา (คำนี้ยกเว้น)
    • งู ออกเสียงว่า งู่
  • รูปวรรณยุกต์เอก ให้ลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขั้น เช่น
    • ค่า ออกเสียงว่า คา
    • ว่า ออกเสียงว่า วา
    • ท่า ออกเสียงว่า ทา
  • รูปวรรณยุกต์โท ให้เพิ่มรูปวรรณยุกต์ขึ้น 1 ขั้น เช่น
    • ค้า ออกเสียงว่า ค่า
    • ลูกหว้า ออกเสียงว่า ลูก-หว่า
    • ท้า ออกเสียว่า ท่า
    • หน้าม้า ออกเสียงว่า หน่า-ม่า

ภาษาอีสาน

สรุปหลักการออกเสียงสำเนียงอีสาน

หลักการออกเสียงภาษาอีสานที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างภาษาอีสานส่วนใหญ่ ซึ่งคำบางคำก็จะมีกรณียกเว้นไปจากรูปแบบการออกเสียงที่ได้กล่าวมา แต่มีข้อสังเกตที่สรุปได้ดังนี้

  • ถ้าเป็นเสียงวรรณยุกต์จัตวาในภาษากลาง ในภาษาอีสานก็จะคงเสียงเดิมไว้เช่นเดียวกัน
  • อักษรกลางคำเป็นรูปและเสียงวรรณยุกต์โทเหมือนกัน ให้คงเสียงวรรณยุกต์โทไว้ตามเดิม
  • การผันเสียงภาษากลางให้เป็นภาษาอีสานมักใช้วิธีลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขั้นเป็นส่วนใหญ่
  • เสียงสามัญไม่สามารถลดรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขั้นก็ให้ใช้การเพิ่มรูปวรรณยุกต์ 1 ขั้นแทน
  • หากมีการลดขั้นของรูปวรรณยุกต์ลง 1 ขั้นแล้วกลายเป็นเสียงจัตวา ก็ให้เปลี่ยนเสียงจัตวานี้ไปเป็นเสียงสามัญ เช่น “ไข่” อีสานออกเสียงเป็น “ไค” และ “หมู่” ภาษาอีสานออกเสียงเป็น “มู”
  • คนอีสานมักไม่ใช้คำควบกล้ำ
  • ในบางท้องที่นอกจากจะออกเสียงโดยการผันวรรณยุกต์แล้ว ยังผันสระไปเลยก็มี เช่น คำว่า “เกลือ” ในภาษากลาง คนอีสานจะออกเสียงเป็น “เกีย”
  • บางครั้งตัว ร. เรือ ในภาษากลาง ทางอีสานจะใช้ ฮ. นกฮูกแทน เช่น คำว่า ”หมู่เรา” อีสานจะอ่านว่า “มูเฮ่า” เข้าใจว่าการอ่านตัว ร. เรือ เป็น ฮ. นกฮูกนี้ น่าจะมาจากการอ่านสลับกับของภาษาลาวในยุคโบราณ เพราะในภาษาลาวนั้น ตัว ร. เรือ และ ฮ. นกฮูก เขียนคล้ายกันมาก เพียงแต่ ปลายหางตัวอักษร ร. เรือของลาว ชี้ลง ในขณะที่ ฮ.นกฮูกเขียนเหมือน ร. เรือแต่หางชี้ขึ้น อันที่จริงตัว ร. เรือในภาษาลาวใช้น้อย เพราะเขามักจะใช้ ล. ลิง แทน ส่วนตัว ร. เรือ เช่น เรารักโรงเรียน มักใช้ ฮ. นกฮูกแทน เช่น เฮาฮักโฮงเฮียน (ภาษาอีสานออกเสียงว่า เฮ่าหักโฮ่งเฮี่ยน) เป็นต้น
  • ตัว ห.หีบ และ ย.ยักษ์ คนอีสานมักมีเสียงออกทางจมูก

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการออกเสียงภาษาอีสานให้ใกล้เคียงกับสำเนียงอีสานมากที่สุด แต่บางคำอาจจะไม่ได้เหมือนสำเนียงภาษาอีสาน 100%  แต่อย่างน้อยก็พอจะให้เห็นหลักการออกเสียงภาษาอีสานสำหรับผู้ที่สนใจ  เพราะว่าทุกวันนี้ภาษาอีสานเป็นที่แพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงลูกทุ่งหมอลำ ลูกทุ่งอีสาน ละครทีวีที่มีดำเนินเนื้อเรื่องผ่านตัวละครและวิถีชีวิตในภาคอีสาน  อีสานร้อยแปดก็ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาษาอีสานยังคงอยู่ต่อไป หากสงสัยเกี่ยวกับความหมายภาษาอีสานหรือการออกเสียง สามารถค้นหาคำศัพท์ความหมายและการออกเสียงได้ที่พจนานุกรมภาษาอีสาน หรือจะตั้งกระทู้ถามได้ที่เว็บบอร์ดโสเหล่ได้เลย  สุดท้ายนี้ก็ขอฝากผญาไว้ก่อนไปครับ

ฟังสำเนียงเสียงอีสาน              ก้องกังวานไกลทั่วหล้า
เสียงดังม้วนสุขอุรา                  จะแม่นมีค่าต่อเฮา
เว้าต่อไกลฮอดไกลเด๋อ             อย่ามั่วเพ้อเป็นหลายเหล่า
อีสานให้ฮักกันเด๋อเฮา               อย่าลืมเว้าภาษาตน

ขอขอบคุณข้อมูล


2 ความเห็นที่มีต่อการออกเสียงภาษาอีสาน และเทคนิคพูดสำเนียงอีสานแท้

  • ดร.จันทร์ชัย หญิงประยูร พูดว่า:

    รู้สึกว่าข้อเขียนนี้ กว่า 90 % เป็นของผม ที่เคยเขียนไว้หลายปีมาแล้ว โดยใช้นามปากกาว่า “แขชนะ” แต่ไม่มีการอ้างอิง

    • ขอขอบคุณสำหรับข้อติชมนะครับ
      ทางเว็บไซต์ขอเรียนว่าไม่ได้มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์บทความ เนื้อหาที่เขียนขึ้นเกิดจากที่นักเขียนเคยอ่านจากหลาย ๆ เว็บไซต์และจากประสบการณ์

      หลังจากที่ได้รับคอมเมนต์นี้ ทางเว็บไซต์จึงพยายามหาข้อมูลจนเจอบทความเกี่ยวกับภาษาอีสานที่ใช้นามปากกาว่า แขชนะ และเพิ่มการอ้างอิงไว้ในบทความตามที่คอมเมนต์

      หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เนื้อหาหรือรูปภาพ สามารถแจ้งมาทางอีเมลผู้ดูแลเว็บไซต์ได้เลยครับ

มี 4 บทความลิงก์มาที่การออกเสียงภาษาอีสาน และเทคนิคพูดสำเนียงอีสานแท้

  • เทคนิคการพูดและออกเสียงภาษาอีสาน แบบชาวอีสานแท้ๆ – NANANARU นานาน่ารู้
  • เทคนิคการพูดและออกเสียงภาษาอีสาน แบบชาวอีสานแท้ๆ – LongDooSee
  • วิธีการออกเสียงภาษาอีสาน และเทคนิคพูดสำเนียงแบบชาวอีสานแท้ๆ - Loved The Food & Travel Fun
  • วิธีการออกเสียงภาษาอีสาน และเทคนิคพูดสำเนียงแบบชาวอีสานแท้ๆ – NANANARU นานาน่ารู้

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*