การ “อยู่ไฟ” ของหญิงหลังคลอด
ผญาอีสาน ที่เขียนเป็นตำรา อธิบายเกี่ยวกับการอยู่ไฟ
การอยู่ไฟนั้นโบราณเผิ่นว่ายาก เรียกอยู่กรรมแท้ๆ นอนเฝ้าถ่านไฟ ทั้งบางตัวกินน้ำร้อน ทั้งจ่อยผอมโซ กินแต่ของของเค็มก็เพื่อเบาบางเพื้อ เป็นกรรมแท้แนวใด๋ก็ลำบาก หม้อก็เรียกหม้อหรรมถืกต้องโบราณเฒ่าแต่หลัง ต้องอาบแต่น้ำร้อนให้มีเลือดลมดี แม่ใหม่นั้นอยู่มาก 15 วัน ถ้าเคยมีบุตรา 7 – 8 วัน ก็พอได้ ของกินนั้นระของแสลงจงมาก บางคนบ่คะลำของกิน ก็หากถึงตายแท้ ในการนี้มีคนมาเยี่ยมพ่อบางผ่องให้น้ำอ้อยทั้งหมู่ผลาผล เป็นธรรมเนียมคนเฮาสู่คนมาเยี่ยม
อันหนึ่งนั้นเขาจักทำตาแหลวห้อปัดรังควนหมายอยู่ เอาไม้ไผ่สานเป็นตะกร้าน้อยๆแขวนไว้บ่อนกระได เพื่อให้คนรู้ไว้ ว่ามีผู้นอนกรรมทั้งบ่ให้พรรณาเถิงว่ามีความฮ้อน ลางคนไปเห็นหน้าถามว่าฮ้อนบ่ สังมาซ่างบ่ฮ้อนนอนเฝ้าคีไฟ เว้าดังนี้เป็นเหตุทางบ่ดี จักเกิดเป็นผื่นคันมีขึ้น
ในสมัยก่อนนั้นสานอู่สานเปล เถิง 3 วันก็จึงเอานอนได้ ทางที่ดีควรให้ตายายคนแก่ มาอุ้มหน่อนน้อยลงไว้ใส่เปล ให้ศีลพรหลานตายืนยิงมีของแขวนปนอู่ไว้เขาได้หล่ำแยง จะเป็ยพวงไม้หรือสิ่งของกีฬา เป็นแถวๆพวงๆ ให้หลำแลดูเล่น ครั้นเขาพอโตขึ้นจะเห็นกีฬาแปลกๆ กลายเป็นนักกีฬาก็ได้แนวนี้ ก็หากมีท่านเอย
จากผญาอีสานที่เพิ่นเขียนไว้ “การอยู่ไฟ” หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การอยู่กรรม” การอยู่ไฟสมัยก่อน มี 2 แบบคือ ไฟข้าง (ก่อไฟอยู่ข้างตัวบริเวณท้อง) และไฟแคร่ (คุณแม่นอนบนไม้กระดาน ส่วนเตาไฟอยู่ใต้แคร่ มีแผ่นสังกะสีรองทับอีกที เหมือนการนอนปิ้งบนไฟดี ๆ นี่เอง) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้แบบแรกมากกว่า โดยจะมีสามี หรือญาติ คอยดูเรื่องฟืนไฟให้ เพราะคุณแม่จะต้องอยู่ในเรือนไฟ 7 – 15 วัน หลังจากคลอด และห้ามออกจากเรือนไฟเด็ดขาด เพราะจะทำให้ตัวคุณแม่ปรับอุณหภูมิของร่างกายไม่ทัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วย และไม่สบายได้
คุณแม่ที่มีลูกคนแรกอาจจะต้องอยู่กรรมมากถึง 15 วัน ถ้าไม่ใช่ท้องแรกก็อาจจะแค่ 7 – 8 วันก็พอ
ของกินของแม่ลูกอ่อนขณะอยู่ไฟ ห้ามกินของสแลง กินข้าวกับเกลือ ที่คนโบราณเชื่อว่า จะไปทดแทนเกลือที่ร่างกายต้องเสียไปทางเหงื่อที่ไหลออกมาระหว่างการอยู่ไฟ หากกินอาหารผิดอาจถึงชีวิตได้ คุณแม่หลังคลอดทุกคน จะต้องเข้าเรือนไฟ ที่สร้างเป็นกระท่อมหลังคาจาก โดยเข้าไปนอนผิงไฟ พร้อมกับลูกน้อยที่จะเอาใส่กระด้ง ร่วมอยู่ไฟกับคุณแม่ บนกระดานไม้แผ่นเดียว ทุกๆ วัน จะอาบน้ำร้อน ดื่มเฉพาะน้ำอุ่น
สำหรับบ้านที่มีคนอยู่ไฟในสมัยโบราณ ตามคำอธิบายในผญา จะมีการเอาไม้ไผ่สานเป็นตะกร้าเล็กๆแขวนไว้ที่บันได เป็นสัญลักษณ์ของคนที่ผ่านไปผ่านมาว่าบ้านนี้มีคนอยู่กรรมและมีความเชื่อว่าสามารถปัดรังควาญได้ หากมีญาติพี่น้องมาเยี่ยม เจ้าของบ้านก็จะมีการเตรียมของต้อนรับเป็นธรรมเนียม
สำหรับแม่ลูกอ่อนที่อยู่ไฟ ห้ามพรรณาหรือบ่นว่าร้อน หรือห้ามมีคนถามว่าร้อนไหม ถือเป็นเหตไม่ดี อาจจะทำให้มีผื่นขึ้นตามร่างกายตามความเชื่อนั่นเอง
“การอยู่ไฟ” ตัวช่วยฟื้นสุขภาพ
‘การอยู่ไฟ’ เป็นความคิดที่ชาญฉลาดของคนโบราณ เป็นกระบวนการดูแลหญิงหลังคลอด เพื่อให้ร่างกายฟื้นจากความเหนื่อยอ่อนให้กลับคืนสภาพปกติได้เร็วที่สุด โดยใช้ความร้อนเข้าช่วย ทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นบริเวณหลัง และขา ที่เกิดจากการกดทับขณะตั้งครรภ์ คลายตัว ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัวในภายหลังได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ การอยู่ไฟ ยังช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ทำให้อาการหนาวสะท้าน ที่เกิดจากการเสียเลือด และน้ำหลังคลอด มีอาการดีขึ้น ช่วยปรับสมดุลร่างกายในตัวคุณแม่ให้เข้าที่ และที่สำคัญ ช่วยให้มดลูกที่ขยายตัว หดตัว หรือเข้าอู่ได้เร็ว พร้อมกับช่วยให้ปากมดลูกปิดได้ดี ป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูกหลังคลอด ทำให้น้ำคาวปลาแห้งเร็ว ลดการไหลย้อนกลับ จนนำไปสู่ภาวะเป็นพิษได้
หญิงหลังคลอดสมัยนั้น จะต้องอยู่ไฟกันทุกคน เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนโบราณ โดยจะมีสามีเป็นคนจัดเตรียมที่นอนสำหรับการอยู่ไฟให้ ไม่ว่าจะดูแลเรื่องฟืนไฟ ที่จะต้องไม่ร้อนเกินไป โดยฟืนที่ใช้ จะต้องมาจากไม้แห้ง เช่น ไม้มะขาม เพราะไม่ทำให้ฟืนแตก และไม่ควรนำฟืนเปียกมาก่อไฟ เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็น
การอยู่ไฟทำให้ระบบเลือดของยายไหลเวียนดี ท้องยุบ น้ำคาวปลาแห้งเร็ว ร่างกายกลับมากระชับได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ดี ตอนนี้ดูเหมือนว่า คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการอยู่ไฟเท่าที่ควร ทำให้เกิดคำเปรียบเทียบที่ว่า คนรุ่นใหม่ที่มีลูก มักจะบ่นว่าปวดเมื่อยกันบ่อยๆ เพราะไม่ได้อยู่ไฟหลังคลอด อะไรทำนองนี้ อีกอย่างทำไมคนโบราณถึงมีแรงคลอดลูกได้บ่อยๆ เพราะการอยู่ไฟช่วยฟื้นร่างกายให้แข็งแรงนั่นเอง
มี 1 บทความลิงก์มาที่การ “อยู่ไฟ” ของหญิงหลังคลอด