เรื่องทั่วไป

กุดจี่เบ้า แมลงแห่งอีสาน

แมงกุดจี่เบ้า ( dung beetle ) ราชาแมลงแห่งทุ่งอีสาน

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heliocopris bucephalus Fabricius
เป็นแมลงสวยงาม มีลูกเบ้าขนาดใหญ่เกือบเท่า  ลูกเปตองและ   ลูกเทนนิส เส้นผ่าศูนย์กลาง
ลูกเบ้าประมาณ 6.5 – 8.5 เซนติเมตร ลำตัวแมลงเบ้ากุดจี่ส่วนอกกว้าง 2.2 – 3.0 เซนติเมตร
ลำตัวยาว 3.6 – 5.0 เซนติเมตร แหล่งที่พบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

กุดจี่เบ้า

ในธรรมชาติจะพบในพื้นที่ป่าเต็งรังที่มีดินลักษณะเป็นดินทรายละเอียด พื้นที่ที่มีความสูงระดับน้ำทะเล  170 เมตร ที่มีหญ้าเป็นไม้พื้นล่าง ในบริเวณพื้นที่ ที่ชาวบ้านนำฝูงควายขึ้นมาเลี้ยงให้กินหญ้าบนดอนดิน

แมงกุดจี่ หรือ Dung Beetle สัตว์ตัวเล็กแต่ยิ่งใหญ่ มีวิวัฒนาการยาวนาน สันนิษฐานว่าอาจมีอยู่ตั้งแต่ 350 ล้านปีก่อน โดยกินมูลของไดโนเสาร์และสัตว์ในยุคนั้น และเมื่อ 5,000 ปีที่ผ่านมา ชาวอียิปต์โบราณได้ยกย่องบูชา แมงกุดจี่ เป็นตัวแทนของสุริยเทพ ที่เรียกว่า “เทพเจ้า Kherpri” ซึ่งมีการสร้างรูปปั้นหน้าสุสานและเขียนภาพแมงกุดจี่ไว้สักการะบูชา สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน เราสามารถพบได้ทั่วไปตามกองมูลควายในทุ่งนาชนบท ซึ่งพบว่าในมูลหนึ่งกองมีกุดจี่หลายชนิดและบางชนิด สามารถจับมาทำเป็นอาหารได้

ประโยชน์ของแมลงกุดจี่ยักษ์นั้นมีตั้งแต่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เนื่องมาจากแมลงกุ๊ดจี่จะเก็บมูลควายไปกินเป็นอาหาร ทำให้ช่วยกำจัดมูลควายให้ไม่เกิดการทับทมของมูลสัตว์จนส่งกลิ่นเหม็น และในระหว่างที่มันสร้างเบ้าด้วยมูลและดินนั้น แมลงกุ๊ดจี่จะกินมูลควายและย่อยสลายขับถ่ายออกมาทำให้ดินร่วนซุยอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกพืชเกษตร
ในด้านอาหารแมลงกุ๊ดจี่ขึ้นชื่อว่าเป็นแมลงกินได้ที่อร่อย กล่าวกันว่าอร่อยเสียยิ่งกว่าไข่มดแดง ชาวภาคอีสานและภาคเหนือนิยมบริโภคกันมาก เนื่องจากลำตัวใหญ่  เนื้อมาก สามารถประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น จี่  ย่าง   ต้ม  ทำแกงอ่อม  แกงป่า ตำน้ำพริก ห่อหมก แกงผักหวาน เป็นต้น มีคุณค่าอาหารและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

โดยในน้ำหนักแมลงสด 100 กรัม  จะประกอบด้วย

โปรตีน 17.2 กรัม
สารแป้งน้ำตาล 0.2 กรัม
เส้นใย 7.0 กรัม ให้พลังงาน 108.3 กิโลแคลอรี่
นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุแคลเซียม 30.9. มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส  157. 9 มิลลิกรัม
โปรตัสเซียม 287.6  มิลลิกรัม
วิตามิน  บี1,บี2 และ   ไนอาซีน  3.44 มิลิลกรัม

กุ๊ดจี่มีช่วงชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 ปี ตัวผู้มีหน้าที่จะช่วยกลิ้งขนอาหารเพื่อปั้นลูกเบ้า จะพบตัวผู้
ตั้งแต่ปลายเมษายนถึงเดือนธันวาคมและสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานประมาณ 8 เดือน
ส่วนตัวเมียมีหน้าที่วางไข่และ  ดูแลตัวอ่อน ตัวเมียจะเริ่มปั้นลูกเบ้าจากมูลควายและวางไข่
ใส่ในลูกเบ้าลูกละ 1 ฟอง หลังจากนั้นจะปั้นลูกเบ้าพอกใหญ่ขึ้นเพื่อเป็นอาหารของตัวอ่อน
ใช้ในการเจริญเติบโตอยู่ในลูกเบ้าและพอกปิดทับด้วยดินทราย ในธรรมชาติสามารถขุดพบ
ลูกเบ้ากุดจี่อยู่ในโพรงมีจำนวน 5, 7, 9 และ 11 ลูกต่อโพรง

ในแง่วิถีชีวิตอีสาน

กุดจี่เบ้า หรือ จุดจี่เบ้า ช่วงเดือน พฤศจิกา – กุมภาพันธ์  เด็กน้อยอีสานสมัยก่อน ตอนเช้าๆ
จะถือเสียม สะพายกะต่า หรือหิ้วคุ เดินตามท่งนา เลาะตีนบ้าน หรือ เลาะไปตาม เดิ่นนาดินทราย
หัวป่า เนินทรายเพื่อเสาะหา ขวยจุดจี่  ส่วนมาก หาตามกองขี้ วัวขี้ควาย  เพื่อขุดจุดจี่  ส่วนมากสิได้
กุดจี่คุ่ม  กดจี่หวาย กุดจี่แดง  ต่างเลาะหาแมลงเหล่านี้มาเป็นอาหาร  ส่วนกุดจี่เป้า หากเจอ
ถือว่าเป็นโชค ดีใจจนเนื้อเต้น เนื่องจากหากยาก มักทำรัง หรือ ทำขวย หลบสายตา
พบส่วนมาก ตามหัวป่า หัวบะ เดิ่นนาดินทราย

บางขวย ก็เป็น ขวยฮ้างต้องอาศัย ช่างสังเกต  การขุดก็ไม่ง่าย เพราะค่อนข้างอยู่ลึก
บางขวย ลึกเป็นวา  ทั้งนี้การขุดต้องหารู หรือ”แปว” มันให้พบ ขุดไม่ดี ดินถม “ แปว”
หาไม่เจอ เรียกว่า “ แปวตัน “
การได้ กุดจี่เบ้า ขวยเดียว ก็พอแล้ว เพราะ อย่างน้อยก็  5 ลูกขึ้นไป  โชคดีก็ได้  11 ลูก  แบกกลับบ้าน
หัวร่อเอิกอาก อารมณ์ดี  ส่วนมาก เบ้า จะมีจำนวนคี่ ไม่พบเป้าในขวยเดียวกัน จำนวนคู่
อันนี้ ผู้ตั้งกระทู้ไม่ทราบสาเหตุ  รวมทั้งยังไม่มีการวิจัย “ ทำไมเบ้าถึงมีคี่ “
การขุดเบ้าต้องไปขุด 2  คนขึ้นไป เพราะคนหนึ่ง เป็นคนขุด คนหนึ่งเป็นคน “ขวัก” หรือ โกยดิน

จากสาเหตุเบ้ามีจำนวนคี่  จึงต้องแบ่งปันกัน ระหว่าง  2 คน เช่น คนขุด มักจะได้มากกว่า “คนขวัก”
ซึ่งต้องมีอีกคนเสียสละ นั่นจึงเป็น สมการแห่งการเรียนรู้การแบ่งปัน ของลูกอีสานโดยแท้
เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมกลางแจ้งด้วยกัน ที่สำคัญได้เหนื่อยยากร่วมกัน แบ่งปันกัน ย่อมมีความผูกพัน
แม้เบาบางแต่ ค่อยๆ ซึมซับเข้าในหัวใจ ที่ธรรมชาติเป็นผู้สอน

ในแง่ความเกี่ยวพันทางลึก

จะเห็นได้ว่าวงจรชีวิตของแมงกุดจี่ กับควาย กับ วัว ชาวบ้าน มีความเชื่อมโยงกัน ถ้าขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป
จะทำให้ขาดความสมดุล เช่น ในปัจจุบัน จำนวนควายลดลง ส่งผลให้แมงกุดจี่หายากขึ้นและลดจำนวนลง เพราะขยายพันธุ์ได้น้อยลง และหากไม่มีแมงกุดจี่คอยกินมูล ก็จะส่งผลให้เกิด ความไม่สมดุล  ทางนิเวศน์
หน้าดิน ขาดความอุดม วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง  เมื่อใดที่ ชาวนาขาด วัวควาย พื้นดินขาดแมงกุดจี่
นั่นย่อมหมายถึงผืนดิน ที่ใช้ปลูกข้าวในอีสาน ขาดแร่ธาตุอันเป็นประโยชน์ ในการเติบโตของพืช
จำต้องพึ่งสารเคมีสูงขึ้น ทุกปี   ต้นทุนสูงขึ้น ทำนาด้วยความยากลำบาก

สถานการณ์ปัจจุบัน

กุดจี่เบ้า หายากยิ่งขึ้น ยังคงมากมีตาม จังหวัดที่ยังรักษา วิถีชาวนาอีสานไว้อย่างแน่นแฟ้น
ยังมี วัวควายจำนวนมากในพื้นที่ เช่น บุรีรัมย์( บางอำเภอ)  ศรีษะเกษ   อุบล ฯ
มุกดาหาร  อุดร ขอนแก่นตอนบน และ หนองบัวลำภู

กุดจี่เบ้าเข้าขั้น วิกฤต ใกล้สูญพันธ์จากพื้นที่ ได้แก่ สุรินทร์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม สกลนคร หนองคาย
เด็กน้อยอีสานบางคน สมัยนี้  ไม่เคยไปขุด กุดจี่เบ้า หรือ รู้จักกุดจี่เบ้า  ซึ่งน่าเศร้าในแนวลึกวิถีอีสาน

แชร์
Alitta Boonrueang