ฟ้อนละคอน(ละคร)ภูไทบ้านโพน

ฟ้อนละคอน(ละคร) ภูไทบ้านโพน

ชาวภูไทบ้านโพน

มีศิลปะการฟ้อนรำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแบบชาวบ้านดั้งเดิม และมีการสืบทอด จนเกิดเป็นพัฒนาการมาจนถึงปัจจุบันอยู่ 2 ชุดด้วยกัน คือ ฟ้อนละคอนภูไท และฟ้อนภูไท ศิลปะการฟ้อนทั้ง 2 ชุด เป็นการฟ้อนที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านโพน และปัจจุบันยังมีการอนุรักษ์การฟ้อนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการฟ้อนในงานบุญบั้งไฟ หรืองานพิธีการที่สำคัญ ซึ่งมีบทบาทในการสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน และสังคมเป็นอย่างมาก

ฟ้อนภูไท 

เป็นการฟ้อนที่เกิดจากความต้องการของชาวภูไท เพื่อฟ้อนถวายองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปี พ.ศ.2521
ท่าฟ้อนที่คิดประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกมี 5 ท่า ได้แก่ ท่าเดินภูไท ท่าฟ้อนข้าง ท่ายิง ท่าม้วนหาง และท่าวงเดือน เอกลักษณ์ของการฟ้อนจะมีความสมจริงตามชื่อท่า ปัจจุบันได้มีการคิดท่าฟ้อนเพิ่มเติม 2 ท่าคือ ท่าฟ้อนเฉียง และท่าลง เอกลักษณ์การฟ้อนจะเน้นลีลาความอ่อนช้อย และมีการกำหนดระยะของการจัดวางท่าอย่างชัดเจน

ฟ้อนละคอน(ละคร)ภูไทบ้านโพน

มีลักษณะการฟ้อนที่แตกต่างจากฟ้อนละครของชาวภูไทในถิ่นอื่นๆ เนื่องจากเป็นการฟ้อนในรูปแบบขบวนและเดินฟ้อนไปเรื่อยๆ ที่มีการสวมเล็บแบบฟ้อนกลองตุ้มหรือเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งฟ้อนละคอนของชาวภูไทในถิ่นอื่นๆ จะฟ้อนโดยไม่สวมเล็บ และเป็นการฟ้อนเป็นวงไม่ขยับหรือเคลื่อนวงออกไปไหน เป็นการวาดลีลาการฟ้อนของชายหนุ่มเป็นสำคัญ

ฟ้อนละคอน(ละคร)ภูไท ของชาวบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการฟ้อนที่เกิดขึ้นจากประเพณีบุญบั้งไฟ ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 จากหลักฐานที่ปรากฏ ฟ้อนละคอนภูไท มีพัฒนาการแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ

1.ยุคดั้งเดิม ระหว่าง พ.ศ. 2459 -2512 เป็นการฟ้อนที่ไม่มีแบบแผนกระบวนท่าที่ชัดเจน

2. ยุคพื้นฟู ระหว่าง พ.ศ. 2532 -2539 เป็นการฟ้อนอย่างมีรูปแบบ และมีการคิดท่าฟ้อนขึ้นมา 4 ท่า ได้แก่ ท่าเดินทาง ท่ารำลาวละคอน ท่าเซิ้งละคอน และท่าสาละวัน

3. ยุคการประยุกต์ ระหว่าง พ.ศ.2539 – ปัจจุบัน รูปแบบการฟ้อนและองค์ประกอบในการฟ้อน มีการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม

ท่าฟ้อนมีแบบแผนที่ชัดเจน ซึ่งมี 5 ท่าประกอบด้วย
ท่าเดิน
ท่าฟ้อนข้าง
ท่าไกวมือสูง
ท่าหมุนตัว
ท่าลง

ฟ้อนละคอนภูไทบ้านโพน

ฟ้อนละคอนภูไทบ้านโพน

เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับในการฟ้อนละคอน (ละคร)

เครื่องแต่งกายชุดฟ้อนละคอน ได้ทำการวิเคราะห์ออกมาแล้วพบว่า เครื่องแต่งกายที่นำมาประดับนี้ได้นำมาจากวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวบ้าน

1.ผ้านุ่ง ชาวบ้านเรียกว่า ผ้าเข็น เป็นผ้าสีม่วง ใช้นุ่งทับกางเกง ด้านหน้าจะนุ่งเป็นทางไหลลงมา ส่วนอื่นๆ จะเก็บขึ้นเพื่ออวดขาส่วนล่างที่มีการสักขาลายอวดขาให้หญิงสาวได้เห็น

2.ผ้าสไบ ใช้ผ้าที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือผ้าแพรวา เป็นการนำเส้นไหมมาย้อมให้เป็นสีต่างๆ แล้วนำมาทอเป็นลวดลายต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดความวิจิตงดงาม

3.เครื่องประดับ เครื่องประดับที่ใช้ประกอบการฟ้อนละคอน ได้แก่กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า ซึ่งเป็นเครื่องเงิน ดังนั้นจึงใส่เครื่องประดับที่พอจะมีหรือหาได้มาประดับตกแต่ง เพื่อความสวยงาม

4.หมวกใช้หมวกสานทำจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น

5.ผ้าแพรมน มีลวดลายเหมือนผ้าแพรวา แต่มีลักษณะที่เป็นสีเหลี่ยมจัตุรัสใช้สำหรับคลุมหมวก

6.ตวยมือหรือเล็บ คือ การนำเอาสังกะสีหรือแผ่นใสมาเป็นกรวยแล้วนำเอาหรือไม้ไผ่มาเสียบปลายกรวย แล้วนำเอาด้ายไหมมาประดับ เพื่อให้เกิดความสวยงาม

7.ฝ้ายคล้องคอ ทำจากเส้นฝ้ายนำมามัดเป็นปล้องๆแล้วตัดให้เป็นพู่ด้วยระยะสม่ำเสมอกัน

8.กระดิ่ง ในสมัยก่อนกระดิ่งจะแขวนอยู่กันสัตว์ เช่น ม้า วัว ควาย หรือช้างเป็นต้น นำมาห้อยที่เอวเพื่อให้เกิดเสียงเวลาที่ฟ้อน

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง

1.ฉาบเล็ก     2.โปงลาง                  3.พิณอีสาน
4.แคน           5.โหวด                     6.เบส
7.กลองตุ้ม    8.กลองยาวอีสาน     9.เกราะ


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*