ดงพญาเย็น ดงพญาไฟ เทือกเขาในตำนาน
ย้อนหลังไปในอดีต มากกว่า 120 ปีมาแล้ว ป่าดงดิบอันกว้างใหญ่ไพศาลคั่นกลางระหว่างที่ราบลุ่มภาคกลางกับที่ราบสูงภาคอีสาน นั่นคือ เทือกเขาพนมดงรัก
มีเรื่องเล่าตำนานเกี่ยวกับดงพญาไฟ ดงพญาเย็นนี้ว่า
ในสมัยหนึ่ง ขุนบรมราชาได้สร้างเมืองขวางทะบุรีขึ้น และได้ประกาศห้ามการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในวันพระ จึงทำให้ประชาชนอยู่กันมาด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ต่อมาเจ้าผู้ครองเมืองขวางทะบุรีองค์หนึ่งไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมมักไป รุกรานผู้อื่น และฆ่าสัตว์ทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำเป็นนิจ เมื่อพระยาแถน(เทวดา) ได้ทราบก็ส่งงูร้ายมาทำอันตรายผู้คนในเมือง จนทุกคนรวมทั้งเจ้าผู้ครองเมืองก็เจ็บป่วยล้มตายกันหมด
เหลือแต่ราช ธิดาของเจ้าผีครองโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมานพหนุ่มชื่อคัทธกุมาร ได้ท่องเที่ยวไปกับทหารคู่ใจ 2 คน ชื่อ นาย ชายไม้ร้อยกอ และนาย ชายเกวียนร้อยเล่ม ทั้งสามมาถึงเมืองขวางทะบุรี ก็เห็นเป็นเมืองร้างไม่มีผู้คน และพบกลองใบใหญ่ก็ลองตี จึงรู้ว่ามีคนอยู่ภายใน คัทธกุมารใช้พระขรรค์ผ่าดูแล้วนำราชธิดากองศรีออกมาสอบถามเรื่องราว นางก็เล่าให้ฟัง และบอกว่า ถ้าผู้ใดจุดไฟไหม้ให้มีแสงสว่างและมีควันขึ้นไปบนท้องฟ้าเมื่อใดก็จะมีงู ร้ายฝูงใหญ่มาทำอันตราย
คัทธกุมารและทหารทั้งสองจึงเก็บฟืนมากอง แล้วจุดไฟเผาเป็นควันขึ้นไปบนท้องฟ้าพระยาแถนทราบว่ายังมีคนอยุ่ในเมืองขวาง ทะบุรีจึงปล่อยฝูงงูมาทำร้ายคัทธกุมารและทหารคู่ใจก็สังหารงูตายหมดสิ้น แล้วคัทธกุมากก็ชุบชีวิตพระยาขวางทะบุรีพร้อมมเหสีและไพร่บ้านพลเมืองให้ ฟื้นคืนชีวิตโดยทั่วกัน ส่วนกระดูกของเหล่างูร้ายก็บันดาลให้เป็นสายน้ำพัดพาออกไปนอกเมือง ไปรวมเป้นกองใหญ่เกิดเป็นภูเขาเรียกว่า ภูหอ หรือ ภูโฮง กองไฟใหญ่ที่จุดเผ่าล่อให้งูมานั้น ภายหลังเป็นป่าชัฎ เรียกว่า ดงพญาไฟ เมืองขวางทะบุรีนั้นก็มีนามเรียกว่า เมืองนคร
ดงพญาเย็น หรือในอดีตเรียกกันว่า ดงพญาไฟ เป็นชื่อภูเขาที่มีป่าดงใหญ่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิดชุกชุมมาก ตลอดจนภูติผีปีศาจ และอาถรรพณ์ลึกลับ มากมาย ผืนป่าแห่งนี้ผู้คนจึงขนามนามว่า ดงพญาไฟ ป่าดงใหญ่ที่ผู้ใดเข้าไปในป่าผืนนี้แล้วน้อยคนนักที่จะได้กลับออกมา จนเป็นที่ร่ำลือเล่าขานกันมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย และที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ไข้ป่า (ไข้มาลาเรีย)
ความน่ากลัวเหล่านี้เป็นที่ครั่นคร้ามหวาดกลัวของผู้คนที่จำเป็นต้องเดินทางผ่านเส้นทางนี้ ซึ่งจำเป็นต้องพักแรมถึง 2 คืนจึงจะผ่านพ้นดงพญาเย็นไปได้ ในแต่ละคืนจะต้องมีการจัดเปลี่ยนเวรยามสลับกันตลอดทั้งคืน ระหว่างที่เฝ้ายามก็จะต้องดูกองไฟ คอยเติมฟืนอยู่ไม่ขาด ให้ไฟลุกโชนอยู่เสมอ แต่ถ้าเมื่อใดหลับยามกองไฟดับมอด เสือโคร่งและสัตว์ป่าหิวกระหายก็จะออกมาลากเอาไปกินที่ลำห้วย
เทือกเขาดงพญาเย็น ลักษณะจากรูปถ่ายทางอากศจากดาวเทียม มีลักษณะเหมือนรูปตัวยู ที่หันด้านฐานมาทางเมืองลพบุรี-สระบุรี เป็นเทือกเขากั้นภาคกลางและจังหวัดนครราชสีมา ประตูสู่ภาคอีสาน จะอ้อมไปทางเหนือก็เจอเทือกเขาเพชรบูรณ์ อ้อมลงมาทางใต้ก็เจอเทือกเขาสันกำแพง ดังนั้นช่วงเวลาก่อนที่จะสร้างทางรถไฟสายอีสานผ่านนครราชสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2446 นั้น การติดต่อของผู้คนระหว่างภาคกลางที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปภาคอีสานนั้น ต้องผ่านดงพญาไฟสถานเดียว
การเดินทางจากเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมาจะต้องผ่านดงพญาไฟแห่งนี้ และจะใช้เกวียนก็ไม่ได้ ต้องอาศัยการเดินเท้าอย่างเดียว ต้องเดินตามสันเขาบ้าง ไหล่เขาบ้าง ลำธารบ้าง คนเดินตามปกตินั้นตั้งแต่ตำบลแก่งคอย จังหวดสระบุรี ต้องค้างคืนในป่านี้ถึง 2 คืน จึงจะผ่านดงนี้ไปได้
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านเขียนเล่าไว้ในนิทานโบราณคดี เมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปตรวจราชการหัวเมืองมณฑลอุดร (ในปัจจุบันคือจังหวัดอุดรธานี) และมณฑลอีสาน ได้เดินทางออกจากรุงเทพ ฯ วันที่ 15 ธันวาคม 2449 กลับถึงกรุงเทพ ฯ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450 ใช้เวลาเดินทาง 3 เดือน 4 วัน (ในสมัยนั้นวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่) พระองค์ท่านพระนิพนธ์เล่าถึงดงพญาไฟ “เที่ยวตามทางรถไฟ” ไว้
ตอนหนึ่งว่า
“…เขาดงพญาไฟนี้ คือเทือกเขาอันเป็นเขื่อนของแผ่นดินสูง เขาเขื่อนที่กล่าวถึงนี้เป็นเขาหินปูน ต้นไม้ขึ้นหนาแน่นเป็นดงทึบตลอดทั้งเทือกเขา มีทางข้ามได้เพียงช่องทางเล็ก ๆ ทางเดินผ่านดงพญาไฟนี้เป็นช่องทางเล็ก ๆ สำหรับเดินข้ามไปมาระหว่างสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมา มาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยปากดงพญาไฟอยู่บริเวณเชิงเขา อำเภอแก่งคอย ผ่านกลางดงไปออกจากดงที่ตำบลปากช่อง เส้นทางนี้ผ่านไปได้เพียงแต่เดินเท้า จะใช้โคและเกวียนหาได้ไม่ ด้วยทางเดินต้องเลียบขึ้นไปตามไหล่เขาบ้าง เดินไต่ไปตามสันเขาบ้าง เลี้ยวลดไปตามทางเดินที่เดินได้สะดวก คนเดินโดยปกติตั้งแต่ตำบลแก่งคอย ต้องค้างคืนในดงพญาไฟ 2 คืนจึงจะพ้นดงที่ตำบลปากช่อง แล้วก็ใช้โคและล้อเกวียนเดินทางต่อไปถึงเมืองนครราชสีมาได้
เมื่อก่อนที่จะสร้างทางรถไฟ เป็นที่ถ่ายสินค้าจากเกวียนบรรทุกโคในขาลงเขา และถ่ายสินค้าจากโคต่างบรรทุกเกวียนในขาขึ้นไปเมืองนครราชสีมา แต่ที่ตรงนี้ยังไม่พ้นดง ต่อตำบลปากช่องไปยังมีดงอีกดงหนึ่งเรียกว่า ดงพุ่มเม่น ต้องผ่านไปอีกระยะหนึ่งเป็นทาง 12 กิโลเมตร จึงจะถึงสถานีจันทึก จึงจะพ้นเขตเขาเขื่อนที่ข้ามไป..”
และจากบันทึกของพันตรี อีริค ไซเดนฟาเดน (Major Erik Seidenfaden) นักชาติพันธุ์วิทยา ชาวเดนมาร์ก ผู้เขียนหนังสือ Guide to Bangkok, with notes on Siam และ The Thai People เล่าถึงป่าดงพญาไฟ บริเวณที่เป็นฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กในปัจจุบันไว้ตอนหนึ่งว่า
“…เมื่อผ่านสถานีรถไฟมวกเหล็ก ซึ่งเอาชื่อมาจากชื่อภูเขาในแถบนี้ลูกหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนหมวก เลยเรียกกันว่าหมวกเหล็ก (จนเพี้ยนมาเป็น มวกเหล็ก ในปัจจุบัน) หากท่านจงใจสังเกต ท่านจะเห็นหลุมศพของนายช่างชาวเดนมาร์ก ซึ่งเป็นไข้ป่าตายระหว่างคุมสร้างเส้นทางช่วงนี้ เขาคือ มร.เค.แอล.ราเบ็ค (K.L. Rebeck)
…การสร้างทางรถไฟในสมัยนั้น ผู้คนล้มตายด้วยไข้ป่าเป็นภูเขาเลากา แถบนี้มีเทือกเขาปกคลุมไปด้วยต้นไม่นานาชนิดชนเป็นป่าทึบหรือป่าสูงที่เรียกกันว่า ป่าพระเพลิง (ดงพญาไฟ) เป็นป่าที่เลื่องลือด้วยไข้ป่ามาแต่โบราณแล้ว..”
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ชาติยุโรปกำลังแข่งขันกันล่าอาณานิคมในทวีปเอเชีย ประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ สยาม ต่างเป็นประเทศราชยุโรปไปหมดสิ้นแล้ว ทรงมีพระราชปรารภว่า สยามควรมีราชธานีสำรองไว้สักแห่งหนึ่ง ทรงเลือกเมืองนครราชสีมาเป็นราชธานีสำรอง ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชอนุชา (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ) เสด็จขึ้นไปสำรวจลู่ทางหาความเป็นไปได้
เมื่อเสด็จกลับถึงพระนคร กราบทูลให้สมเด็จพระเชษฐาทรงทราบว่า ดงพญาไฟเป็นป่าดงที่เย็น ไม่ควรเรียกดงพญาไฟให้ผู้คนหวาดกลัว จึงกราบทูลให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ดงพญาเย็น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนก็เรียกดงนี้เป็นดงพญาเย็นมาจนกระทั่งปัจจุบัน
อันตรายจากสัตว์ร้ายและไข้ป่าของดงพญาไฟนั้น ปัจจุบันเหลือเพียงความทรงจำเท่านั้น ป่าดงดิบบนเทือกเขาดงพญาไฟ เหลือเพียงเขาหัวโล้นไปทั้งเทือก คำว่าดงพญาไฟเหลือเพียงตำนาน อีสานร้อยแปดจึงอยากจะบันทึกไว้ให้ลูกหลานของเราไว้ในอีก 50 ปีหรือ 100-200 ปีข้างหน้าว่า ดงพญาไฟ หรือ ดงพญาเย็น ที่ในเวลานั้นคงมีรถไฟความเร็วสูง 700 กิโลเมตรต่อชั่วโมงผ่านทุก ๆ วันนั้น มีอยู่จริง
มี 1 บทความลิงก์มาที่ดงพญาเย็น ดงพญาไฟ เทือกเขาในตำนาน