พระธาตุยาคู กาฬสินธุ์
อีสานร้อยแปดวันนี้จะพาพี่น้องไปชมความงดงามและสัการะพระธาตุยาคู ที่ตั้งอยู่ บ้านเสมา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง
เมืองฟ้าแดดสงยาง หรือที่เรียกเพี้ยนเป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกว่า เมืองเสมา เนื่องจากแผนผังของเมืองมีรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณ ที่มีคันดินล้อมรอบสองชั้น ความยาวของคันดินยาวโดยรอบประมาณ 5 กิโลเมตร คูน้ำจะอยู่ตรงกลางระหว่างคูดินทั้งสอง
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ทำให้ทราบว่ามีการอยู่อาศัยภายในเมืองมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยทวารวดีราวๆพุทธศรรษวรรษที่ 13 -15 ดังหลักฐานทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งภายในและภายนอกเมือน เช่น ใบเสมาหินทรายจำหลักภาพเรื่องชาดกและพุทธประวัติจำนวนมาก บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม ซึ่งอยู่ภายในเมือง บางส่วนยังคงอยู่ในตำแหน่งดั้งเดิมที่พบ และบางส่วนก็นำไปเก็บรักษาและจัดแสดงพี่พิพิธภรรฑสถานแห่งชาติ จ.ขอนแก่น นอกจากนั้นยังมีซากศาสนากระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งภายในและภายนอกเมือง เช่น พระธาตุยาคู และกลุ่มเจดีน์บริวาร ศาสนสถานที่วัดโนนสูงโนนฟ้าหยาด โนนฟ้าแดด เป็นต้น
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียน เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอน 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2479
พระธาตุยาคู เดิมเรียกว่า ธาตุใหญ่ เป็นสถูปเจดีย์ในสมัยทวาราวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 15 ) มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด ในบรรดาโบราณสถานในเมืองฟ้าแดดสงยาง ยังปรากฏร่องรอยของฐานที่สร้างในสมัยแรก เป็นฐานสี่เหลี่ยม เดิมมีลวดลายปูนปั้นประดับ ปัจจุบันหลุดออกหมด และได้นำไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภันฑสถานแห่งชาติ จ.ขอนแก่น แผนผังของพระธาตุองค์เดิม เปรียบเทียบได้กับศาสนสถานแบบทวาราวดีที่พบทางภาคกลาง เช่นที่อำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และที่อำเภอคูบัว จ.ราชบุรี
รูปขององค์เจดีย์ ได้ถูกก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไปในสมัยหลังที่เป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม บนฐานสี่เหลี่ยมเดิม และกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2526 และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2539 ได้พบเสมาหินทรายหลายใบรอบองค์พระธาตุ ยังปรากฏซากฐานเจดีย์ขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐอีกทั้งสิ้น 8 องค์ กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระธาตุยาคู เป็นโบราณสถาน โดยประกาศในราจกิจจานุเบกษาเล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2480 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2525 พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน
ลักษณะขององค์พระธาตุยาคูเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐปรากฏการก่อสร้าง 3 สมัยด้วยกันคือ ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ มีปูนปั้นประดับสร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิมเป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ ชาวบ้านเชื่อกันว่าในองค์พระธาตุบรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดแต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ชาวบ้านจะจัดให้มีงานประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประจำทุกปีในเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นให้กับหมู่บ้าน
และสำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการเดินทางไปชมและสักการะองค์พระธาตุยาคู สามารถเดินทางไปตามแผนที่นี้เลยครับ