วัดน้ำฮู
วัดน้ำฮูอยู่ที่ตำบลเวียงใต้ เป็นที่ประดิษฐานของพระอุ่นเมือง พระพุทธรูปสิงห์สามอายุประมาณ 500 ปี สร้างด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 28 นิ้ว สูง 30 นิ้ว ปางมารวิชัย พระพุทธรูปองค์นี้พระเศียรกลวง ส่วนบนเปิดปิดได้ และมีน้ำซึมออกมาอยู่เสมอ ชาว บ้านและนักท่องเที่ยวนิยมเข้าไปนมัสการและขอน้ำที่ซึมออกมานี้ โดยทางวัดได้นำมาผสมเป็นน้ำมนต์ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองปาย หรือเมือง “ป้าย” ชื่อเดิมมาแต่สมัยโบราณ แต่ทุกวันนี้ที่เราๆเรียกกันว่า “ปาย” หรือ “เมืองปาย” เพราะว่าเรียกกันเพี้ยนจนมาเป็นเมืองปายหรืออำเภอปายในปัจจุบัน ปายคือสถานที่ที่ทุกคนไฝ่ฝันไว้ว่าสักครั้งหนึ่งต้องไปเที่ยวปายให้ได้ ก็เพราะความสงบร่มเย็นของเมืองปายแห่งนี้จึงทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางหลั่งไหลเข้ามาที่เมืองปาย วิถีชีวิตชาวบ้านเรียบง่าย สงบ ร่มเย็น ของเมืองปายที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว และเมืองปายนี้เองก็มีฝรั่งมังค่ามาเที่ยวกันเยอะมาก บางคนถึงกับมาตั้งรกรากที่ปายกันเลย และด้วยความที่เป็นเมืองปาย หรือเมืองป้าย วัฒนธรรมที่มีมาแต่ยาวนานทำให้มีวัดที่เก่าแก่อยู่หลายแห่ง แต่ละวัดก็จะมีประวัติที่แตกต่างกันไป แต่เมืองปายนี่เองที่มีอยู่หนึ่งวัดที่มีชื่ออยู่ในคำขวัญด้วย นั่นก็คือ “วัดน้ำฮู” ประวัติศาสตร์ของ วัดน้ำฮู นี้มีความเป็นมาที่ยาวนานมาควบคู่กับเมืองปาย หรือเมืองป้าย จากตำนานที่มีผู้บันทึกเป็นหนังสือพื้นเมือง และพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของอำเภอปาย สันนิษฐานว่าคงจะตั้งบ้านเมืองมาประมาณสองพันกว่าปีมาแล้ว ซึ่งในสมัยนั้นมีการปกครองลักษณะเจ้าผู้ครองนคร เมื่อประเทศไทยได้ประกาศแบ่งเขตการปกครองในปี พ.ศ. 2443 ได้ประกาศให้เมืองปาย ขุนยวม เมืองฮ่องสอน ไปขึ้นกับมณฑลพายัพ ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ทางการได้แต่งตั้งให้หลวงเจริญ เขตเขลางค์นคร (สอน สุขุมินทร์) มาเป็นนายอำเภอปายคนแรก จากหลักฐานที่ปรากฏเป็นโบราณวัตถุต่าง ๆ ตามวัดร้าง กำแพงวัด ซากเจดีย์ปรักหักพัง พระพุทธรูปที่ก่อด้วยอิฐถือปูน ก้อนอิฐเก่าแผ่นใหญ่และหนามาก สันนิษฐานได้ว่าเป็นที่อยู่ของพวกลั๊วะ พวกขอม และลำธาร ลำห้วย หลายแห่งเป็นที่ที่มีช้างป่าจำนวนมาก ต่อมามีพวกไทยใหญ่พากันอพยพมาจากเมืองปั่น เมืองพาย เมืองแสนหวี เชียงของ เชียงตุง หมอกใหม่ ลางเครือ ก้างยาม พม่า และมอญ มาด้วยบ้าง เมื่อมาถึงบ้านดอน (ปัจจุบันบ้านเวียงเหนือ) จึงตกลงใจกันอยู่ที่นั่น และยกขุนส่างปายขึ้นเป็นเจ้าเมืองจากนั้นช่วยกันขุดคูรอบเวียง เพื่อป้องกันสัตว์มารบกวน มีประตูสามด้าน ทางทิศใต้เรียกว่า ประตูดำ เป็นประตู ที่นำศพออกไปป่าช้า แล้วสร้างวัดในบ้านดอนทางทิศตะวันออก ในรัชสมัยของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ให้ พะก่ากั่นนะ มาเป็นเจ้าฟ้าเมืองปาย และมีผู้ครองเมืองปายสืบต่อมาอีกคนหนึ่งคือ ขุนส่างเนิง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2454 ตรงกับ ร.ศ.129 เมืองปาย ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอจนถึงปัจจุบัน ปี 2548 รวมเป็นเวลาประมาณ 94 ปี มีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอปาย รวม 29 คน พระพ่ออุ่นเมืองที่อยู่คู่มากับวัดน้ำฮูที่ทุกคนสักการะนับถือเป็นพระพุทธรูปสิงห์สาม ปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 24นิ้ว สูง 30นิ้ว ส่วนพระเศียรกลวงมีพระเมาฬีครอบ ไม่มีประวัติบันทึกการสร้างอย่างชัดเจนสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พร้อมกับสถูปเจดีย์ซึ่งอยู่หลังวิหาร ได้รกร้างอยู่เป็นเวลานาน ในปี พ.ศ. 2468 ผู้ใหญ่ทอน และ นายเห็งพงษ์ พงษ์คำเต็ม พร้อมด้วยชาวบ้านน้ำฮู ได้สร้างศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งอยู่โคนไม้พร้อมด้วยซากปรักหักพังของเจดีย์ ในปี พ.ศ.2474 ครูบาศรีวิชัยนักบุญลานนาไทย ได้นำคณะศิษยานุศิษย์เดินธุดงค์มายังอำเภอปาย ได้มาเห็นสภาพทรุดโทรมของวัดและได้พบพระพุทธรูปดังกล่าว จึงได้สร้างวิหารขึ้นหนึ่งหลังสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมกับสร้างเจดีย์ขึ้นด้านหลังวิหาร 1 องค์และที่วัดน้ำฮูแห่งนี้หากมองดูดีๆจะเห็นพระเจดีย์สีทองอยู่หลังวิหารหรือโบสถ์ของวัดน้ำฮูแห่งนี้ พระเจดีย์นี้ไม่มีบันทึกประวัติการสร้างอย่างชัดเจน แต่เชื่อกันว่าสร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา ซึ่งได้เสด็จไปเป็นตัวประกันที่พม่าแทนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ต่อมาได้ถูกปลงพระชนม์ที่พม่านั่นเอง ภายในพระเจดีย์นี้ยังบรรจุเส้นพระเกศาของสมเด็จพระพี่นางฯ ไว้ด้วย สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาเป็นวีรสตรีไทยที่ประวัติศาสตร์ควรจำรึกไว้ หากไม่มีพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชอาจไม่มีโอกาสกลับมากอบกู้เอกราช และอาจไม่ทรงทราบข่าวการเคลื่อนไหวของทัพพม่าก่อนทุกครั้ง ชาวไทยจึงควรระลึกถึงวีรกรรมของพระองค์ และถวายสักการะดวงวิญญาณของพระองค์โดยทั่วกัน ส่วนหน้าวัดก็จะมีศาลาปลาให้ผู้คนมากราบไหว้ เนื่องจากว่าศาลาปลาของวัดน้ำฮูนี้มีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและรูปปั้นสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยาไว้ให้สักการบูชาได้อีกด้วย
บ้านน้ำฮู หมู่ 5 ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย