ประวัติและตำนาน “ทุ่งกุลาร้องไห้”

ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 2,000,000 ไร่ มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดมหาสารคาม

พื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ 700,000 ไร่ อยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณอำเภอโพนทราย อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอปทุมรัตน์

สาเหตุที่ทุ่งนี้มีชื่อว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาแสนนาน และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ บนสถานที่แห่งนี้ มีเรื่องเล่ากันมาว่า

ชนเผ่ากุลา ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจากเมืองเมาะตะมะ ประเทศมอญ (ปัจจุบันประเทศมอญได้ถูกพม่ายึดไป)  กุลากลุ่มนี้มีอาชีพค้าขายระหว่างเมือง นำสินค้าประเภทสีย้อมผ้า เครื่องทองเหลืองต่าง ๆ

ทุ่งกุลาร้องไห้ ชนเผ่ากุลา

ภาพถ่ายชนเผ่ากุลาที่สืบเชื้อสายต่อ ๆ มา

กุลาได้เดินทางค้าขายผ่านทุ่งแห่งนี้ ใช้เวลาเดินทางหลายวัน ไม่พบผู้คน ไม่พบหมู่บ้าน ไม่พบแหล่งน้ำ ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา มีแต่หญ้าขึ้นสูงเต็มไปหมด ส่วนดินก็เป็นดินทราย ยากลำบากแก่การเดินทาง เหมือนเดินทางอยู่กลางทะเลทราย จะขอความช่วยเหลือจากใครก็ไม่ได้ เพราะไม่มีใครให้ขอความช่วยเหลือ มีแต่แดด ต้นหญ้า และดินปนทราย

ถึงเวลาค่ำคืน ทั้งหิว ทั้งเหนื่อยสายตัวแทบขาด ร่างกายขาดน้ำทำท่าจะตายเอา ทั้งหมดจึงได้แต่นอนร้องไห้ จนมีชาวพื้นเมืองผ่านมาพบเข้า จึงช่วยเหลือหาบหามกันไปพยาบาลในหมู่บ้าน ผู้รอดตายจึงเล่าเหตุการณ์ก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือว่า เอาแต่นอนไห้เพียงอย่างเดียว ชาวบ้านจึงตั้งชื่อทุ่งนี้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้

ทุ่งกุลาร้องไห้ ชนเผ่ากุลา

ในอดีต ทุ่งกุลาร้องไห้ในหน้าแล้ง จะแห้งแล้งมากเพราะเป็นดินปนทราย หน้าฝนน้ำจะท่วมทุ่งทุกปี ใต้ผืนดินลงไปเป็นดินเค็ม น้ำที่สูบขึ้นมาก็เป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถปลูกพืชผลอะไรได้

ทุ่งกุลาร้องไห้ ชนเผ่ากุลา

ในปัจจุบันเรียกดินแดนแถบนี้ว่า “ทุ่งกุลาสดใส” ทั้งนี้เพราะรัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลออสเตรเลีย ส่งเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญในการพลิกผืนดินที่ไร้ประโยชน์ ให้สามารถทำประโยชน์ได้ด้วยการทำถนน สร้างอ่างเก็บน้ำที่มีอย่างเหลือเฟือในฤดูฝน  ขุดคลองซอยอย่างถี่ยิบ แล้วผันน้ำเข้สู่คลองซอย ผืนดินที่แห้งแล้งสีน้ำตลก็เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม เต็มไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ทุ่งกุลาร้องไห้ จึงถูกเรียกใหม่เป็น ทุ่งกุลาสดใส

สืบเนื่องจากประวัติของทุ่งกุลาร้องไห้นี้ จึงได้มีผญาที่เล่าเรื่องทุ่งแห่งนี้ มีอยู่ว่า

ตกกลางท่งแล้วล้าเดินฝ่าเทิงหัว

เห็นแต่ท่งเป็นทิวมือกุมควันกุ้ม

เหลียวไปไสฟ้าหุ้งงุมลงคือสักสุ่ม

มือกลางเวนจุ้มกุ้มคงไม้กะบ่มี

คักละนอบาดนี่หลงท่งคนเดียว

ถิ่มฮอดถงกะเทียวย่ามของสินค้า

เหลียวทางหลังทางหน้ากุลายั้งบ่อยู่

ลมออกหูจ้าวจ้าวไคค้าวย่าวไหล

จนปัญญาแล้วไห้เทิงจ่มระงมหา

คึดฮอดภรรยาลูกเมียอยู่ทางบ้าน

ลมอัสสวาสกั้นเนื้อสะเม็นเย็นหนาว

อ้าปากหาวโหยแฮงแข้งลาขาล้า

เพื่อไปนำกองหญ้าเวลาค่ายค่ำ

ยากนำปากและท้องเวรข่อยจ่องเถิง

ป่าหญ้าแฝกอึ้งตึงกุลาฮ่ำโมโห

ตายย้อนความโลโภล่องเดินเทียวค้า

ใจคะนึงไปหาโศกาไห้ฮ่ำ

คึดผู้เดียวอ้ำล้ำทางบ้านบ่เห็น

ในหนังสือกล่าวไว้บอกว่ากุลา

หรือแม่นไปทางได้แต่นานมาไว้

ท่งกุลาฮ้องไห้ที่หลังท้ายหมู่

อยู่โดนมาแต่พ้นพันร้อยกว่าปี

ลองมาดูจากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นว่าในปัจจุบันทุ่งกุลาร้องไห้ไม่ได้แห้งแล้งอย่างในอดีตและเรื่องเล่าอีกต่อไปแล้ว สีเขียวแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์มีอยู่ทั่วไปทั้งบริเวณของทุ่งกุลาร้องไห้

เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับชื่อเรียกของชนเผ่ากุลาของแต่ละภาษา

ไทย : กุลา

กัมพูชา : កូឡា

พม่า : ကုလား

อังกฤษ : Gula หรือ Kula

ทุ่งกุลาร้องไห้ ร้อยเอ็ด

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นพื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้ในปัจจุบัน ซึ่งมีสีเขียวอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนไปจากในอดีตอย่างมาก


1 ความเห็นที่มีต่อประวัติและตำนาน “ทุ่งกุลาร้องไห้”

มี 7 บทความลิงก์มาที่ประวัติและตำนาน “ทุ่งกุลาร้องไห้”

  • อาหารอีสาน – Thanaphat
  • ประวัติอาหารไทย (ภาคอีสาน) – Site Title
  • ประวัติและตำนาน “ทุ่งกุลาร้องไห้” - ข่าวออนซอนอีสาน
  • ประวัติและตำนาน “ทุ่งกุลาร้องไห้” – JangKhao – แจ้งข่าวชาวร้อยเอ็ด
  • ประวัติและตำนาน “ทุ่งกุลาร้องไห้” – อีสานบ้านทุ่ง
  • ประวัติและตำนาน “ทุ่งกุลาร้องไห้” - Panda Station
  • ประวัติและตำนาน “ทุ่งกุลาร้องไห้” – TrendyNews : ชีวิตติดเทรนด์

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*