แปดเผ่าชนพื้นเมือง จ.มุกดาหาร มีเผ่าอะไรบ้าง

แปดเผ่าชนพื้นเมือง

จากคำขวัญของจังหวัดมุกดาหาร เพิ่นว่า

หอแก้วสูงเสียดฟ้า ภูผาเทิบแก่งกะเบา แปดเผ่าชนพื้นเมือง ลือเลื่องมะขามหวาน กลองโบราณล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดลำผญา ตระการตาชายโขง เชื่อมโยงอินโดจีน

วันนี้อีสานร้อยแปดเราจึงจะมานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “แปดเผ่าชนพื้นเมือง” ที่ปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดว่าจะมีชนเผ่าอะไรบ้าง ไปเบิ่งกันเลยครับพี่น้อง

สาเหตุที่จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดที่มีชนเผ่าพื้นเมืองมากถึงแปดชนเผ่านั้นมาจากสงครามครับพี่น้อง ในอดีตแถบอีสานเป็นเมืองชายแดนปลายพระราชอาณาเขตที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่จนจรดแดนญวนในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงษ์ฯ กองทัพกรุงเทพฯ และกองทัพหัวเมือง แถบลุ่มแม่น้ำโขงได้ยกทัพข้ามโขงไปกวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง(ดินแดนลาว)ให้อพยพข้ามโขงมาตั้งบ้านตั้งเมืองอยู่ทางฝั่งขวาของ แม่น้ำโขง(ภาคอีสาน) ให้มากที่สุดเพื่อมิให้เป็นกำลังแก่ข้าศึก จังหวัดชายแดน เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ฯลฯ จึงมีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ ร.ศ.112 ราชอาณาจักรไทยต้องเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง(ฝั่งลาว) ไปถึง 3 ใน 4 ส่วน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ฝั่งขาว (ภาคอีสาน) ไม่ได้อพยพข้ามกลับไป เนื่องจากเป็นคนละดินแดน ซึ่งไทยเสียดินแดนไปแล้ว จึงทำให้มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่หลากหลายนั่นเอง

ไทยอีสาน
ไทยอีสาน

1. ไทยอีสาน
เป็นชาวไทยกลุ่มใหญ่ในจังหวัดมุกดาหาร เช่นเดียวกับชาวไทยอีสานในจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานอีกหลายจังหวัด ชาวไทยอีสานได้สืบเชื้อสาย ต่อเนื่องกันมานานนับหลายพันปี ตั้งแต่ขุนบรมปฐมวงศ์ของเผ่าไทย ตั้งแต่อาณาจักรน่านเจ้าอาณาจักรล้านช้างจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ชาวไทยอีสานได้อพยพลงมาตามลำน้ำโขงตั้งแต่ พ.ศ.2231 (สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)เมื่อท่านพระครูโพนเสม็กนำสานุศิษย์จากอาณาจักรล้านช้างอพยพลงมาตามลำน้ำโขงแล้วแผ่ขยายออกไปตามลำน้ำมูล ลำน้ำชี และลำน้ำอื่น ๆ ซึ่งแยกออกจากแม่น้ำโขง ตั้งเป็นเมืองต่าง ๆ เมืองมุกดาหารได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองเมื่อพ.ศ.2313 ในสมัยกรุงธนบุรี

ภูไท
ภูไท

2. ภูไท
คำว่า “ผู้ไทย” บางท่านมักเขียนว่า “ภูไท” ผู้ไทย คำว่า’ผู้” หรือ “พู้” เป็นสำเนียง ออกเสียงคำพูด ของคนภูไท( คนเขียน เรียบเรียง บึนทึกลงเว็บไซท์ เป็นคนภูไท โดยกำเนิด )
แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตเขียนว่า “ผู้ไทย”ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวผู้ไทยอยู่ในแค้วนสิบสองจุไทยและแค้วนสิบสองปันนา (ดินแดนส่วนเหนือของลาว และ เวียดนาม ซึ่งติดต่อกับดินแดนภาคใต้ของจีน) ราชอาณาจักรไทยได้สูญเสียดินแดนสิบสองจุไทย ซึ่งอยู่ในเขตของลาวให้แก่ฝรั่งเศสเมื่อ ร.ศ.107 (พ.ศ.2431)

ไทยข่า

3.ชาวข่า หรือ บรู
ข่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ชาวข่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแขวงสุวรรณเขตแขวงสาลวันและแขวงอัตปือ ของลาว ซึ่งเมื่อร้อยปีก่อน (ก่อน พ.ศ. 2436) ยังเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทยชาวข่า อพยพมาตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดมุกดาหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นส่วนมากนักมานุษยวิทยาถือว่า ชาวข่าเป็นชนเผ่าหนึ่งในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งอาจสืบเชื้อสายมาจากขอมโบราณ ซึ่งเคยอยู่ในดินแดนของอาณาจักรเจนละซึ่งต่อมาเป็นอาณาจักรขอมและอาณาจักรศรีโคตรบรูณ์ซึ่งขอมเคยมีอิทธิพลครอบคลุมขึ้นมาถึงแล้วเสื่อมอำนาจลง ซึ่งพวกข่าอยู่ในตระกูลเดียวกับขอมและมอญเขมร

ไทกะโซ่

4.ไทกะโซ่
ไทกะโซ่ หรือไทยกะโซ่ หรือโซ่ ในพจนานุกรมฉบัับราชฐานบัณฑิตสถานเขียนว่า กะโซ่แต่ก็ยังมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกเดียวกันกับลาวโซ่ง ในจังหวัดเพชรบุรี ,นครปฐมและสุพรรณบุรี แต่แท้จริงแล้ว ลาวโซ่งคือพวก ไทยดำ ที่อพยพมาจากเมืองแถนหรือเดียน เบียนฟู ในสมัยกรุงธนบุรี ส่วนคำว่ากะโซ่ หมายถึง ข่าพวกหนึ่งในตระกูลมอญเขมรกะโซ่ตามลักษณะและชาติพันธ์ถือว่าอยู่ในกลุ่มมองโกลอยด์ กะโซ่มีภาษา และวัฒนธรรมแตกต่างไปจากพวกข่าอยู่บ้าง เล็กน้อย แต่ภาษาของกะโซ่ ยังถือว่าอยู่ในตระกูล ออสโตรอาเซียติค สาขามอญเขมรหรือ กะตุ( Katuic)

ไทยกะเลิง

5.ไทยกะเลิง
คำว่า กะเลิง มาจากคำว่า ข่าเลิง หมายถึง ข่าพวกหนึ่งในตระกูลมอญเขมร ข่า กะโซ่และกะเลิง อยู่ในตระกูลเดียวกัน ภาษาพูดอยู่ในตระกูล ออสโตรอาเซียติค ถิ่นกำเนิดของชาวกะเลิงอยู่ในแขวงคำม่วน และแขวงสุวรรณเขต ของลาว อพยพข้ามโขงมาอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากการปราบกบฏเจ้าอนุวงษ์เวียงจันทน์แล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในท้องที่จังหวัดสกลนคร นครพนม และจังหวัดมุกดาหารในอดีตผู้ชายกะเลิงชอบสักรูปนกแก้วที่แก้ม และปล่อยผมยาวประบ่า ส่วนผู้หญิงเกล้ามวยผม ปัจจุบันผู้ชายกะเลิงที่สักขาลายตั้งแต่ข้อเท้า ขึ้นไปถึงบั้นเอว ยังมีหลงเหลืออยู่บ้างในท้องที่อำเภอดอนตาล เช่นที่ตำบลนาสะเม็ง และในท้องที่อำเภอคำชะอี ที่ตำบลบ้านซ่ง บางหมู่บ้านตำบลเหล่าสร้างถ่อบางหมู่บ้าน และที่บ้านโนนสังข์ บ้านนาหลวง จังหวัดมุกดาหาร ชาวกะเลิงมีผิวกายดำคล้ำผมหยิกเช่นเดียวกับพวกข่า และกะโซ่ อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลอยด์

ไทยแสก
ไทยแสก

6.ชาวแสก
แสก คือ คนไทยกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่ เมืองแสก เมืองแสกปัจจุบันเป็นเมืองร้าง อยู่บริเวณบ้านหนาด บ้านตอง ในแขวงคำม่วนของดินแดนลาว และอยู่ห่างจากชายแดนเวียดนามประมาณ 20 กิโลเมตร(จากเอกสาร ร.5 ม,212 ก.หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)เมืองแสกเคยอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย ก่อน ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) เป็นภาษาไทยลาว ปนญวน เพราะว่าอยู่ใกล้ชิดติดกับเขตแดนญวนและมีขนบธรรมเนียมของญวน

ไทยย้อ
ไทยย้อ

7.ชาวย้อ
ไทยย้อเป็นชาวไทยในภาคอีสานอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมักเรียกตัวเองว่า ไทยย้อ เช่น ชาวย้อในจังหวัดสกลนคร , ชาวย้อ ในตำบลท่าขอนยาง(เมืองท่าขอนยาง) อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม , ชาวย้อ ในอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และชาวย้อในตำบลดงเย็น อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ภาษาและสำเนียงของชาวย้ออาจผิดเพี้ยนไปจากชาวอีสานทั่วไปบ้างเล็กน้อย ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวย้อ มีผู้ค้นพบว่าเดิมอยู่แคว้นสิบสองปันนา หรือ ยูนาน ต่อมาชาวย้อบางพวกได้อพยพลงมาตามลำน้ำโขง เพื่อเลือกหาที่ตั้งบ้านตั้งเมืองที่อุดมสมบรูณ์กว่า

ไทยกุลา
ไทยกุลา

8.ชาวกุลา
คำว่า “กุลา” มาจากภาษาพม่าซึ่งแปลว่า คนต่างถิ่น กุลา คือพวกเงี้ยวหรือตองซู่ในรัฐไทยใหญ่ของพม่า เงี้ยวหรือตองซู่ เมื่อเดินทางมาค้าขายในภาคอีสานถูกชาวอีสานในอดีตเรียกขาน และตั้งชื่อให้ใหม่ว่าพวก “กุลา”คำว่า “กุลา” เดิมหมายถึง พวกแขกบังคล่า (บังคลาเทศ ในปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อเห็นพวกไทยใหญ่หรือเงี้ยวรูปร่างสูงใหญ่นุ่งกางเกงขายาวปลายบาน โพกศีรษะทรงสูงเข้ามาค้าขายในภาคอีสานก็เลยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกเดียวกับพวกแขกบังคล่าจึงเรียกพวกไทยใหญ่หรือเงี้ยวว่ากุลา ต่อมาเมื่อเห็นพวกแขกขาวเช่นมาจากอาฟกานิสถาน อิหร่าน ฯลฯก็เลยเรียกว่าพวกกุลาขาว และเรียกพวกมาจากบังคลาเทศจากอินเดีย และจากพม่าว่ากุลาดำพวกเงี้ยวหรือกุลาชอบเร่ร่อนมาค้าขายในภาคอีสานจนมีชื่อเป็นอนุสรณ์ว่าทุ่งกุลาร้องไห้

อ้างอิง http://www.hellomukdahan.com


2 ความเห็นที่มีต่อแปดเผ่าชนพื้นเมือง จ.มุกดาหาร มีเผ่าอะไรบ้าง

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*