หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก

หอแก้วมุกดาหารมุมกว้าง

วันนี้อีสานร้อยแปดพามาเที่ยวจังหวัดมุกดาหาร โดยจะพาไปรู้จักกับพิพิธภัณฑ์ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดมุกดาหาร และยังเป็นที่ที่เล่าประวัติความเป็นมา รวมถึงวิถิชีวิตและวัฒนธรรมของชาวมุกดาหารได้เป็นอย่างดี และนี่คือ หอแก้วมุกดาหาร

ทางเข้าชั้น 1 หอแก้วมุกดาหาร

ทางเข้าชั้น 1 หอแก้วมุกดาหาร

หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ หอแก้วมุกดาหาร แต่จริง ๆ แล้วมีชื่อเต็มว่า หอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก เป็นสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ เป็นหอสูง ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงเก้าเหลี่ย  บริเวณโดยรอบมีสวนหย่อมให้ความร่มรื่นเหมาะแก่การท่องเที่ยวและพักผ่อน

หอแก้วมุกดาหาร นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสครองราชย์ครบ 50 ปี ในพ.ศ. 2539 และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดมุกดาหาร ถูกเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2539

หอแก้วมุกดาหาร ด้านนอก

หอแก้วมุกดาหาร ด้านนอก

หอแก้วมุกดาหาร เป็นหอคอยรูปทรงกระบอก มีความสูง 65.50 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร ส่วนฐานเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงเก้าเหลี่ยมแทนความหมายถึงรัชกาลที่ 9 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร มีทางเข้าออก 3 ทาง

ส่วนที่เป็นแกนหอคอยเริ่มตั้งแต่ชั้น 3 ถึงชั้น 6  บนยอดสูงสุดเป็นที่ตั้งของ ลูกแก้วมุกดาหาร มีลักษณะกลมสีขาวหมอก มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เมตร

โดยนักท่องเที่ยวสามารถใช้ฟต์และบันไดเวียนเพื่อขึ้นไปชั้นต่าง ๆ และจุดชมวิว โดยมีชั้นสำหรับชมนิทรรศการและทัศนียภาพรอบด้าน ทั้งหมด 4 ชั้น คือชั้นที่  1 2 6 และ 7

โดยบนชั้นที่ 6 มีกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้านเพื่อชมวิวตัวเมืองมุกดาหาร และยังสามารถมองเห็นเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขต ที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน  สำหรับแต่ละชั้นจะมีความน่าสนใจดังนี้

ชั้นที่ 1
จัดแสดงภาพปั้นดินเผาที่แสดงถึงวิถีชีวิตชาวมุกดาหารในอดีต รวมถึงประวัติความเป็นมาของเมืองมุกดาหาร

หอแก้วมุกดาหาร ด้านในชั้น 1

หอแก้วมุกดาหาร ด้านในชั้น 1

ชั้นที่ 2
จัดแสดงนิทรรศการ (จัดทำโดยคุณสุจิตต์ จันทรสาขา ลูกหลานผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองมุกดาหารในอดีต) เครื่องแต่งกายไทยมุกดาหาร 8 เผ่า รูปแบบของการจัดแสดงเป็นการนำเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของชาวเผ่าต่างๆ ใส่กับหุ่นสำเร็จ อย่างไรก็ดีการสอดคล้องกับความเป็นจริงของเครื่องแต่งกายเผ่าต่าง ๆ   และนำหุ่นลักษณะเชิงแฟชั่นที่ใช้ในร้านสรรพสินค้ามาจัดแสดง ยังต้องถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้องและเหมาะสม

ส่วนเรื่องราวการก่อตั้งและการปกครองบอกเล่าผ่านจดหมายเหตุการเมือง – การปกครองของเมืองมุกดาหารในอดีต อาวุธสงครามโบราณ และวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับงานราชการ สัญลักษณ์วัตถุที่แสดงถึงอำนาจในอดีต ประวัติศาสตร์เหล่านี้กลับเน้นเพียงเรื่องราวของชนชั้นปกครองส่วนบน อาจเป็นเพราะเอกสารอ้างอิงมีเนื้อหาไปในทิศทางดังกล่าว หรือการเลือกที่จะบอกเล่าเรื่องเฉพาะนั้นๆ เรื่องราวในถิ่นเมืองมุกดาหารที่กล่าวถึงบุคคลทั่วไปเป็นสุญญากาศของประวัติศาสตร์ เพราะเนื้อหาเน้นในเรื่องของผู้ปกครองส่วนบน สายตระกูล และกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่ได้บอกเล่าถึงชาวบ้านมากนัก

หอแก้วมุกดาหาร ชั้น 2

หอแก้วมุกดาหาร ชั้น 2

ชั้นที่ 3-5 เป็นส่วนแกนของหอคอย

ชั้นที่ 6
นิทรรศการหลักจัดแสดงโดยใช้ผนังรอบในของหอ และกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ “แม่น้ำโขง มหานทีแห่งเอเชีย สายน้ำแห่งอุษาคเนย์ สายธารอารยธรรม” และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ “เส้นทางความสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง East-West Economic Corridor, เส้นทางการค้าไร้พรมแดน” การจัดแสดงโดยส่วนใหญ่เป็นการใช้งานออกแบบกราฟฟิก และการสร้างส่วนของสถาปัตยกรรม (ซุ้มปราสาททางเข้า) ประดับเป็นระยะ

นอกจากนี้ บริเวณกระจกโดยรอบจัดเป็นหอชมวิว และส่องกล้องทางไกลชมทิวทัศน์ของแม่น้ำโขง และฝั่งตรงข้าม คือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื้อความที่อธิบายสถานที่ต่างๆ ที่สามารถมองเห็นได้จากกล้องส่องทางไกล เช่น พิพิธภัณฑ์กะปอมยักษ์ในลาว   ส่วนบริเวณขายของที่ระลึก ตั้งอยู่ที่จุดแรกหลังจากออกมาจากลิฟท์โดยสาร

วิวแม่น้ำโขง

วิวแม่น้ำโขง

ชั้นที่ 7
เป็นห้องที่อยู่ในส่วนลูกแก้วบนสุดของหอคอย จัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนวมิ่งมงคลมุกดาหาร (พระประจำเมือง) เป็นพระพุทธรูปเนื้อเงินแท้บริสุทธิ์ผสมทองคำ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 20 นิ้ว นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปประจำวันเกิด โดย ผู้ชมสามารถสักการะและบริจาคเงิน

หอแก้วมุกดาหาร ชั้น 7

หอแก้วมุกดาหาร ชั้น 7

หอแก้วมุกดาหารตั้งอยู่บนถนนชยางกูร (มุกดาหาร-ดอนตาล) ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ไปประมาณ 2 กิโลเมตร มีพื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา

หอแก้วมุกดาหารเปิดบริการนักท่องเที่ยวทุกวันตั้งแต่ เวลา 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชม 20 บาท

การเดินทางมายังจังหวัดมุกดาหาร

นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-มุกดาหาร ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมงครึ่ง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 เว็บไซต์ www.transport.co.th

และนอกจากการเดินทางด้วยรถทัวร์แล้ว อีสานร้อยแปดขอแนะนำเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารราคาประหยัด ซึ่งราคาไม่แพงจนเกินไป และยิ่งถ้ามีการวางแผนล่วงหน้าก็สามารถซื้อตั๋วเครื่องบินได้ในราคาที่ใกล้เคียงกับการเดินทางด้วยรถทัวร์ แถมยังประหยัดเวลาเดินทางอีกด้วย

แผนที่ หอแก้วมุกดาหาร

ขอบคุณภาพจาก chotto เว็บ Pantip.com


1 ความเห็นที่มีต่อหอแก้วมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*