วัดราชประดิษฐาน
วัดราชประดิษฐาน เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ริมปากคลองประตูข้าวเปลือกฝั่งตะวันตก ภายในกำแพงพระนคร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในรัชสมัยใด แต่วัดราชประดิษฐาน มีหมายความว่า วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ดังนั้น จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ผู้สร้างวัดนี้คงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน วัดราชประดิษฐานยังใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ในขณะที่พระองค์ผนวชเป็นพระภิกษุ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 วัดราชประดิษฐานถูกปล่อยร้างเรื่อยมา จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนศรีสงครามเป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2460 และได้รับพระราชทานวิสุงคามเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2497 สิ่งก่อสร้างเก่าแก่สมัยอยุธยาที่ยังเหลือให้ชม คือ ใบเสมาคู่ สลักจากหินทรายแดงสมัยอยุธยา ที่ปักรอบทั้งแปดทิศแสดงหลักเขต ภายในมีพระประธานทรงเครื่ององค์สีทอง นามว่า “พระบรมไตรโลกนารถ” และภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถสมัยอยุธยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทอดพระเนตร และโปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนราชสีหวิกรมถ่ายอย่างภาพนี้ไว้ และรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภาพเขียนนี้ถึง 2 ครั้ง แต่ปัจจุบันลบเลือนไปหมดสิ้นแล้ว เพราะพระอุโบสถไม่มีหลังคา และต่อมาทางวัดรื้อถอนเพื่อสร้างพระอุโบสถใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2507 ด้านทิศตะวันออกของวัด คือ วัดท่าทราย ซึ่งถูกรวมอยู่กับวัดราชประดิษฐาน เรียกว่า คณะท่าทราย มีเจดีย์ทรงปรางค์ลักษณะแปดเหลี่ยมเรือนธาตุ มีซุ้มจระนำ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนพระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้าย ส่วนพระอุโบสถมีพาไลทั้งด้านหน้าด้านหลังใบเสมาสมัยอยุธยาตอนปลายตั้งอยู่บนฐานบัวกลุ่ม ใบเสมามีขนาดเล็ก เอวคอด สลักลายตรงกลางเป็นรูปทับทรวง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ลงมา วัดท่าทรายยังเป็นที่พักพิงของพระมหานาค ผู้แต่งบุรโณวาทคำฉันท์ เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท
ข้อมูลเพิ่มเติม
วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา
69 ถนนอู่ทอง