ศาลหลักเมือง
ศาลหลักเมืองอุดรธานีนั้นสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยได้อัญเชิญดวงพระวิญญาณของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ทรงก่อตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2436 มาสถิตย์ ณ เสาหลักเมืองนี้ด้วย องค์เสาหลักเมืองทำขึ้นด้วยไม้คูณยาว 5 เมตรเศษ และฝังลึกลงไป 3 เมตร มีการบรรจุแผ่นยันต์และแก้วแหวน เงิน ทองต่างๆ เป็นจำนวนมากไว้ใต้ฐานเพื่อเป็นสิริมงคล ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่แทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมไป
ตัวอาคารของศาลหลักเมือง จะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ผสมผสานศิลปะแห่งภาค อีสาน ให้เป็นที่สักการะขอพรของชาวอุดรธานีสืบมา นอกจากนี้บริเวณศาลหลักเมืองยังมีรูปปั้นท้าวเวสสุวัณ 1 ใน 4 ของท้าวจตุโลกบาลผู้ปกครองเหล่าอสูร และศาลหลักเมืองหลังใหม่ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ามาสักการะศาลหลักเมืองอุดรธานีนั้น สามารถบูชาและกราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 ได้ในหนเดียว
ข้อมูลเพิ่มเติม
มีผู้นิยมมาสักการะศาลหลักเมืองเพื่อขอพรให้ชีวิตมั่นคง ราบรื่นทั้งการงานและการเงิน โดยมีเคล็ดความเชื่อว่าหากเข้าประตูใดให้ออกประตูนั้น จะทำให้ได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้น ส่วนการสักการะพระพุทธโพธิ์ทองนั้นเชื่อว่าจะทำให้มีร่มโพธิ์ร่มไทร มีผู้ใหญ่สนับสนุน ค้ำจุน โดยผู้ที่มาสักการะมักเก็บใบโพธิ์ที่หล่นอยู่หลังคาไปบูชาเพื่อเป็นมงคลด้วย และการบูชารูปปั้นของท้าวเวสสุวัณนั้นถือว่าคือการขอพรให้ศัตรูหมู่มารหรือผู้มาคิดร้ายให้แพ้ภัยตัวเอง หรือกลับใจมาเป็นมิตร
บริเวณทุ่งศรีเมือง พานพร้าว