สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช
ด้วยรัฐได้ตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยาที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ และต่อการดำเนินชีวิตที่ดีของประชาชนโดยส่วนรวม คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2510 ให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย (สวป.) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จัดตั้งเป็นสถานีวิจัยขึ้นเพื่อดำเนินการวิจัยในลักษณะพหุศาสตร์ (Multi-disciplinary Research) ด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศป่า โดยระยะแรกของการดำเนินงาน ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา หลังจากการสนับสนุนจากต่างประเทศลดลงและสิ้นสุดไป นักวิชาการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังตระหนักถึงความจำเป็นและเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากผลการดำเนินงานวิจัยของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกันและขอให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ ดำเนินการนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คงไว้และสนับสนุนการดำเนินงานของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จนกระทั่งวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชดำเนินการต่อไป โดยอนุมัติให้สำนักงบประมาณสนับสนุนด้านงบประมาณ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและให้มีคณะกรรมการ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน เพื่อทำหน้าที่พิจารณากำหนดแนวทางการวิจัยและดำเนินการวิจัย ส่วนการจัดการงานของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชนั้น ให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และในปี พ.ศ.2542 วช.ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างบริหารภายใน จึงได้มอบหมายให้ วว. รับผิดชอบการบริหารงานเพียงหน่วยงานเดียว การดำเนินงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาในพื้นที่ของสถานีฯ ได้เป็นที่รู้จักทั่วไปทั้งภายใน ประเทศและต่างประเทศ ในที่ประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งจัดโดย UNESCO โครงการ MAB (Man and Biosphere ) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเชีย ในวันที่ 19 สิงหาคม 2517 ได้มีมติให้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) แห่งหนึ่งของโลกในจำนวน 669 แห่งใน 120 ประเทศทั่วโลก (มี.ค.59) ในประเทศไทยมีจำนวน 4 แห่ง
(1) พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา
(2) พื้นที่สงวนชีวมณฑลสวนสัก – ห้วยทาก จังหวัดลำปาง
(3) พื้นที่สงวนชีวมณฑลห้วยคอกม้า จังหวัดเชียงใหม่
(4) พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าชายเลน จังหวัดระนอง
ข้อมูลเพิ่มเติม
เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) แห่งหนึ่งของโลกในจำนวน 669 แห่งใน 120 ประเทศทั่วโลก
Line ID
จองค่ายสะแกราช
1 หมู่ 9 ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา 30370