หน้าแรก / สถานที่ / จังหวัดอุบลราชธานี/อำเภอพิบูลมังสาหาร/แก่งสะพือ

แก่งสะพือ

สถานที่ท่องเที่ยว

แก่งสะพือ เป็นแก่งหินที่มีลักษณะเดียวกันกับที่ “สามพันโบก” นั่นคือในช่วงฤดูน้ำหลาก แก่งหินจะจมอยู่ใต้น้ำ และจะถูกกัดเซาะด้วยแรงของกระแสน้ำวนจนเกิดเป็นแอ่งเล็กแอ่งน้อย เมื่อน้ำในลำน้ำมูลแห้งขอดในฤดูแล้ง แก่งหินดังกล่าวก็จะโผล่พ้นน้ำกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติกลางแม่น้ำมูล เป็นโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมความสวยงามของแก่งหินที่ถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนเว้าแหว่ง มองเห็นเป็นภาพศิลปะ ทั้งรูปวงกลม วงรี รูปดาว และรูปอื่นๆ อีกมากมาย ตามแต่จะจินตนาการ ซึ่งบรรยากาศแบบนี้จะมีให้สัมผัสเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคมเท่านั้น
ส่วนในช่วงหน้าฝน แม้ว่าจะไม่สามารถมองเห็นแก่งหินที่สวยงามได้ แต่ก็เป็นช่วงที่ลงเล่นน้ำได้สนุกสนาน เนื่องจากน้ำที่นี่ไหลแรงกำลังดี ระดับน้ำไม่ตื้นเกินไป ไม่ลึกเกินไป อีกทั้งก้อนหินต่างๆ ยังมีตะไคร่น้ำเกาะอยู่หนามาก ทำให้ก้อนหินนุ่มและลื่น สามารถสนุกกับการเล่นน้ำได้โดยไม่ต้องกลัวหินบาด
แก่งสะพือ นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวเมืองอุบลราชธานีแล้ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี สถานที่แห่งนี้ยังถูกใช้เป็นที่จัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และสืบทอดประเพณีอันดีงามไว้

นอกจากแก่งสะพือจะมีความสวยงามตามธรรมชาติแล้ว ยังถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ … คำว่า “แก่งสะพือ” มาจากภาษาส่วยว่า “กะไซผืด” .. กะไซ แปลว่า งู .. ผืด แปลว่า ใหญ่ .. ต่อมาเพี้ยนเป็น “ซำพืด” หรือ “ซำปื้ด” จนในที่สุดเพี้ยนมาเป็นคำว่า “สะพือ” .. ดังนั้นหากแปลตามความหมายแล้ว “แก่งสะพือ” ก็คือ“แก่งงูใหญ่” นั่นเอง ทั้งนี้มีผู้รู้กล่าวอธิบายว่า ที่มีความหมายแบบนี้ก็เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าแก่งแห่งนี้มีงูใหญ่หรือพญานาคอาศัยอยู่ เพื่อใช้เป็นทางผ่านไปยังแม่น้ำโขง นั่นเอง จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่นกล่าวว่า เดิมทีบริเวณสองฝั่งแม่น้ำนี้มีเมืองโบราณที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่เกิดภัยพิบัติ เมืองจึงถล่มลงในแม่น้ำมูลบางส่วน … และหากดูจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณแก่งสะพือก็น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นจริงดังคำกล่าว เพราะมีการสำรวจพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมของปราสาทหิน ได้แก่ ทับหลังศิลปะแบบไพรกเมง (ไพร-กะ-เมง) ที่มีอายุราวพุทธสตวรรษที่ 12-13 พบฐานรูปเคารพ ศิลาจารึก และอื่นๆ ที่รื้อได้จากเนินโบราณสถานเก่า ในเขตวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ที่น่าสนใจ คือ ในบริเวณกลางแก่งสะพือ มีแท่งหินรูปสี่เหลี่ยม ปลายมน มีลายสลักบนหินเป็นรูปเทวสตรี ประทับในท่านั่งขัดสมาธิ ทรงจักร สังข์ และดอกบัว คนทั่วไปเรียกกันว่า “พระสะพือ” หรือ “พระพือ” และตามข้อสันนิษฐานของ ดร. ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์โบราณคดี คาดว่าลายสลักน่าจะเป็นรูปของพระลักษมี หรือพระคงคา ตามความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งหากเป็นพระลักษมี ก็อาจจะสมมุติได้ว่าบริเวณแก่งสะพือนั้นเป็นบริเวณที่มีการกวนเกษียรสมุทร ระหว่างเทวดา กับอสูร อันเป็นต้นกำเนิดของพระลักษมี ในพิธีกรรมใหญ่ๆของขอมจะเรียกว่า พิธีอินทราภิเษก ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องกันสำหรับ “พระพือ” นั้นเป็นที่เลื่องลือกล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ว่าเมื่อใดมีปัญหาทุกข์ร้อน หากมาอธิษฐานขอพร จะทำให้ทำการสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ถ้าทำไม่ดีจะมีอันเป็นไปใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยค่ะ) เดิมทีชาวบ้านจะเรียกกันว่า “หินพระนารายณ์” แต่เนื่องจากตั้งอยู่กลางแก่งสะพือ จึงเรียกว่า พระสะพือแทน ปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ในอุโบสถวัดสระแก้ว ในช่วงสงกรานต์แต่ละปี จะมีเทศกาลกราบไหว้พระพือ ที่แก่งสะพือ

แก่งสะพือ

087-2471080

  15.161000,105.189400

ค้นหา

แนะนำสถานที่ใหม่  

สำรวจขอนแก่น  

สำรวจอุดรธานี  

สำรวจสกลนคร  

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*