ฟ้อนหางนกยูง
นาฏศิลป์ของจังหวัดนครพนมได้มีการแสดงการฟ้อนรำที่เรียกได้ว่าเป็น นาฏศิลป์พื้นเมืองเอกลักษณ์นครพนมอยู่หลายอย่าง ซึ่งเป็นการแสดงดั้งเดิมสืบทอดกันมาและที่คิดขึ้นใหม่ผสมผสานกลมกลืนกันไป รวมทั้งการได้สืบค้นการแสดงที่หายไปแล้วได้คิดท่าฟ้อนรำขึ้นใหม่ตามแนวทางที่ได้สืบคนก็มี ซึ่งการแสดงชุดหนึ่งที่เป็นการแสดงนาฏศิลป์ของนครพนมที่มีความสวยงาม คือ การฟ้อนหางนกยูง
ประวัติการแสดง
ในปี พ.ศ. 2530 สมัยที่ นายอุทัย นาคปรีชา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (พ.ศ. 2527-2531) ได้ฟื้นฟูการฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนมร่วมกับงานเทศกาลออกพรรษาและไหลเรือไฟ
ฟ้อนหางนกยูงเป็นการแสดงชุดหนึ่งที่ทางจังหวัดกำหนดให้เป็นการฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนม ซึ่งนำโดยอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และได้ปฏิบัติติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
การฟ้อนหางนกยูงนี้ ในอุรังคนิทานมีกล่าวไว้ในบทพระธาตุทำปาฏิหาริย์ หลังจากพระอินทร์ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานในอุโมงค์ ภายในพระเจดีย์เป็นที่อนุโมทนาสาธุแก่เหล่าเทวดา ครั้งนั้นพระอุรังคธาตุเสด็จออกมาทำปาฏิหาริย์ เทวดาทั้งหลายมีความชื่นชมยินดียิ่งนัก ในเวลานี้เองที่เป็นที่มาของตำนานของการ ฟ้อนหางนกยูงและฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนมประจำปี ความว่า
…เทวดาทั้งหลายมีความชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงส่งเสียงสาธุขึ้นอึงมี่ตลอดทั่วบริเวณ
วิทยาธรคนธรรพ์ทั้งหลายประโคมด้วยดุริยะดนตรี
วัสสวลาหกเทวบุตรพาเอาบริวารนำเอาหางนกยูง เข้าไปฟ้อนถวายบูชาเทวดาทั้งหลาย
ลางหมู่ขับ ลางหมู่ดีด สี ตี เป่า นางเทวดา ทั้งหลายถือหางนกยูง ฟ้อนและขับร้องถวายบูชา…
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าฟ้อนหางนกยูง เป็นศิลปะการฟ้อนรำของจังหวัดนครพนม เป็นลีลาฟ้อนรำอีกแบบหนึ่งที่เป็นการเลียนแบบจากท่านกยูงรำแพนเป็นส่วนมาก การฟ้อนหางนำยูงนี้มีผู้นำมาถ่ายทอดและฟ้อนรำเองตามคำบอกเล่าว่า
“เมื่อประมาณ 100 ปีเศษ โดยมีคุณตาพัน เหมหงษ์ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดนครพนมโดยกำเนิด ท่านเป็นบุตรของอุปฮาดคนหนึ่งในสมัยโบราณ เมื่อครั้งที่คุณตาท่านมีชีวิตอยู่ ท่านมีชีวิตโลดโผนเป็นนักสู้รบมาก่อน ท่านสนใจการฟันดาบ เพลงดาบ กระบี่กระบอง และมวย ท่านจึงกลายเป็นครูดาบ กระบี่กระบอง และมวย เป็นผู้มีฝีมือเยี่ยมยุทธ์คนหนึ่ง
และเวลาว่าง ๆท่านก็ชอบออกล่าสัตว์ หมูป่า และนกต่าง ๆ จากนั้นก็สะสมของป่าเอาไว้ เช่น หางนกยูง แล้วนำมามัดเป็นกำ ๆ แล้วคิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนรำขึ้น ซึ่งมีลีลาคล้ายกับการฟ้อนดาบแล้วก็นำไปถ่ายทอดให้ลูกหลานต่อไป”
การฟ้อนหางนกยูงนี้ในสมัยก่อนนิยมฟ้อนเดี่ยวบนหัวเรือแข่ง เมื่อมีงานประจำปีงานออกพรรษาความเชื่อว่าก่อนทีจะนำเรือเข้าแข่งจะนำเรือขึ้นไปถวายสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองเพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าจะนำเรือเข้าแข่งขัน และจะต้องฟ้อนหางนกยูงเพื่อถวายต่อหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองด้วย การฟ้อนหางนกยูงนี้จะฟ้อนเฉพาะเรือแข่งที่สำคัญและมีขื่อเสียงโด่งดังเท่านั้น
ศิลปะการฟ้อนหางนกยูงนี้ มีลีลาอ่อนช้อย สวยงาม ถ้าขาดความอ่อนช้อยแล้วก็ขาดความสวยงามไป การฟ้อนหางนกยูงหาคนฟ้อนสวยได้ยาก ด้วยเหตุนี้การฟ้อนหางนกยูงจึงหยุดชะงัก
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2491 นางเกษมสุข สุวรรณธรรมา ซึ่งรับราชการอยู่ที่โรงเรียนอุเทนวิทยาคาร อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ได้ย้ายไปรับราชการที่โรงเรียนบ้านหนองจันทน์ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม ซึ่งมีนายทวี สุริรมย์ เป็นหลานของคุณตาพัน เหมหงษ์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดการฟ้อนหางนกยูงนี้ไว้ นางเกษมสุข สุวรรณธรรมา จึงได้โอกาสและขอถ่ายทอดฟ้อนหางนกยูงนี้ไว้ตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2493 จึงได้นำไปฝึกสอนให้แก่นักเรียนในโรงเรียน เมื่อ พ.ศ. 2495 ซึ่งนางเกษมสุข สุวรรณธรรมา คิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายท่า
ดนตรีที่ใช้ประกอบท่าฟ้อน
ในสมัยก่อนนั้น เป็นการฟ้อนเข้าจังหวะกลองยาว ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง เท่านั้น
ต่อมาเมื่อได้คิดประดิษฐ์ท่ารำเพิ่มเติมขึ้นแล้ว ก็ได้ใช้ระนาด กลอง ฉิ่ง ฉาบ เป็นจังหวะประกอบการฟ้อน
ท่าฟ้อน ฟ้อนหางนกยูงมีท่าฟ้อนต่าง ๆ ดังนี้
ท่าที่ 1 ท่านกยูงร่อนออก
ท่าที่ 2 ท่ายูงรำแพน
ท่าที่ 3 ท่ารำแพนปักหลัก
ท่าที่ 4 ไหวัครู
ท่าที่ 5 ยูงพิสมัย
ท่าที่ 6 ยูงฟ้อนหาง
ท่าที่ 7 ปักหลักลอดซุ้ม
ท่าที่ 8 ยูงร่ายไม้
ท่าที่ 9 ยูงกระสันคู่
ท่าที่ 10 ยูงรำแพนซุ้ม
ท่าที่ 11 ยูงปัดรังควาน
ท่าที่ 12 ยูงเหินฟ้า
คำอธิบายประกอบท่าฟ้อนรำ
ท่าที่ 1 ท่าออก ทำหางนกยูงทั้งสองข้างตั้งวงซ้ายระดับไหล่ วิ่งซอยเท้าขึ้นข้างหน้าเวที แล้วซอยเท้าถอยลงมาแล้ววิ่งขึ้น หางนกยูงโบกไปมาตามจังหวะ พับหางทั้งสองไปทางซ้ายแล้วก้างเท้าขวาไปข้าง ๆ แล้วหมุนลากไปรอบตัวทางขวาแล้วเปลี่ยนเป็นหมุนจากขวาไปซ้ายสลับกัน (ทำ 2 รอบ)
ท่าที่ 2 ยูงรำแพน ท่าเตรียมยืนเท้าชิด วางหางนกยูงขนานกันยื่นไปข้างหน้ารอบแรกก้าวเท้าซ้ายเท้าขวาไขว้ไปข้างหน้า โบกหางทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะแล้วตวัดหางไปทางด้านหลังแล้งตวัดเข้ามา แขนซ้ายอยู่ระดับหน้าอก รอบสองยกไหล่ทั้งสองพร้อมกับกระตุกข้อถอดแพนแยกหางนกยูงออกซ้ายขวา
ท่าที่ 3 รำแพนปักหลัก ท่าเตรียมยืนอยู่ในลักษณะเดิมเหมือนท่าที่ 2 รอบแรกเหยียดแขนทั้งสองในท่าตั้งวงซ้าย แขนซ้ายหวาย แขนขวาคว่ำอยู่รำดับไหล่ แขนเหยียดตึงแล้วลากหางนกยูงผ่านหน้าจากซ้ายขวายุบยืดตามจังหวะ พับหางทั้งสองไปทางขวา (ลากหางต้องเอี้ยวตัวไป) รอบสองบากหางทั้งสองผ่านหน้าจากขวามาซ้ายตามจังหวะทำเหมือนรอบแรก
ท่าที่ 4 ท่าไหว้ครู ท่าเตรียมเหมือนท่าที่ 3 ถือหางนกเหยียดแขนไปซ้ายเหมือนเดิม ลากหางผ่านหน้าตามจังหวะ เริ่มย่อเข่าทีละน้อยบากหางผ่านหน้าจากซ้ายไปขวาและจากขวาไปซ้าย 4 จังหวะ เข่าซ้ายถึงพื้นแล้ววางขนานไปข้างหน้ากระตุกข้อแตะพื้นพอดี รอบสอง ในท่านั่งคุกเข่าซ้ายเหยียดขาขวาไปข้างหลัง โบกหางทั้งสองขึ้นตวัดอกเหวี่ยงข้างแล้วชักเข้ามากอด กระตุกข้อยักไหลถอดหางทั้งสองออกเหมือนเดิม (ทำท่านั่ง 3 รอบ)
ท่าที่ 5 ยูงพิสมัย ท่าเตรียมอยู่ในท่าคุกเข่าเหมือนท่าที่ 4 เหยียดแขนตั้งวงซ้ายพับหางไปข้างหลัง ลากจากซ้ายไปขวาเอียงขาทิ้งหางไปขวาแล้วลากหางผ่านหน้า ตัวพร้อมกับยักไหบ่ทิ้งหางซ้าย แล้วลากหางผ่านหน้าพร้อมกับโน้มตัวไปข้างหน้าตามจังหวะรอบสอง ทำเหมือนเดิม
ท่าที่ 6 ยุงฟ้อนหาง ท่าเตรียม วางหางนกยูงขนานไปข้างหน้า กระตุกข้อแล้วยื่นขึ้นพร้อมกับหางนกยูงขึ้นข้างบนตวัดเหวี่ยงหางนกยูงลงทั้งสองข้าง ชักเข้ามากอดในระดับอก กระตุกข้อยกไหล่ ให้หางนกยูงโบกหางขึ้นบน ท่านี้ทำเหมือนท่าที่ 2 แต่จะต้องโบกหางนกยูงขึ้นแล้วหมุนตัวไปทาวซ้ายกระทุ้งเท้าซ้าย รอบสอง ก็โบกขึ้นทางขวามือ กระทุ้งขวา ทำดังสลับกันไป
ท่าที่ 7 ปักหลักลอดซุ้ม ท่าเตรียม ก้าวเท้าซ้ายขวาไว้เหมือนท่าที่ 6 โบกหางนกยูงทั้งสองข้างขึ้นบนตวัดหางนกยูงทั้งสองเหวี่ยงลงข้างมากอดระดับอก แขนซ้ายทับแทนขวา ยกไหล่ ถอดหาง วาดหางซ้าย เหวี่ยงไปทางซ้าย หมุนตัวไปทางซ้าย ก้มศีรษะลอดแบนขา ชักหางขวาลากผ่านศีรษะแล้วชักหางซ้ายตามลงข้างขวาทั้งข้างขวา รอบสอง ทำเหมือนเดิม
ท่าที่ 8 ยูงร่ายไม้ ท่าเตรียม วางหางนกยูงขนานไปข้าวหน้า เท้าขวายืน เท้าซ้ายกระทุ้งหลัง รอบแรก โบกหางนกยูงขึ้นเหนือศีรษะ ตวัดหางลงข้าง ชักเข้ามากอดแขนซ้ายทับขวาแล้วเหวี่ยงหางนกยูงขึ้น (กระทุ้งเท้าขวา ซ้าย ขวา เหวี่ยงหางจากข้างบนเหวี่ยงลงมาข้างแล้วกระทุ้งเท้าซ้าย รอบสองทำเหมือนเดิม
ท่าที่ 9 ยูงกรันคู่ ท่าเตรียม เหมือนท่าแรก รอบแรก โบกหางนกยูงขึ้นเหนือศีรษะเหวี่ยงหางซ้าย ลงมากอดที่เอวขวา ชักแขนขวาเจ้ามากอด แล้วลากหางนกยูงซ้ายขั้นปาดปลายหางนกยูงขวา แล้วชักแขนซ้ายและขวาออกจากกันให้แขนซ้ายตั้งสูงกว่าแขนขวา รอบสอง ทำเหมือนเดิม
ท่าที่ 10 ยูงรำแพนซุ้ม ท่าเตรียม วางหางนกยูงขนานไปข้างหน้า รอบแรก วาดหางนกยูงเอียงมาทับทางซ้าย แขนซ้ายเหยียดตึงบิดตัวไปทางซ้ายแขนขวางอเหยียดตรงหน้า ชักหางหมุนรอบตัวจากซ้ายไปขวา ถัดเท้าขวาไปตามจังหวะ 6 จังหวะ รอบสอง ทำเหมือนรอบแรก แต่เหยียดหางบิดตัวทางขวาแล้วหมุนรอบตัวจากขวาไปซ้าย ถัดเท้าขวา 6 จังหวะ
ท่าที่ 11 ยูงรำแพนซุ้ม ท่าเตรียม วางหางนกยูงแตะขนานไปข้างหน้าระดับเอว รอบแรก ยกหางนกยูงกระตุกตั้งขึ้นอยู่ในระดับเดิม ส่ายหางโบกหางนกยูงไปทางซ้ายไขว้เข้ามาไขว้กันแล้วชักหางนกยูงส่ายเข้าออกพร้อมกัน ซอยเท้า ยกไหล่ ตามจังหวะ (จะไปหน้าหรือหลังก็ได้ใช้เมื่อแปรแถว)
ท่าที่ 12 ท่ายูงเหินฟ้า ท่าเตรียมพับหางนกยูงทั้งสองเหวี่ยงไปทางซ้ายระดับไหล่เท้าชิดกันแล้วซอยเท้าวิ่งจากซ้ายไปขวาหรือสลับจากขวาไปซ้าย
หมายเหตุ
ท่าฟ้อนหางนกยูงทุกท่า จะต้องเล่นข้อมือ ยักไหล่ โยกตัวเอียงซ้ายขวา บิดตัวซ้าย ขวา ทำเข่ายุบยืด เหมือนท่าฟ้อนอื่น ๆ จึงจะอ่อนช้อยและสวยงาม
การฟ้อนหางนกยูง เครื่องดนตรีที่ใช้มี แคน พิณ โปงลาง โหวด ฉาบ กลอง ฉิ่ง
การแต่งกาย
แต่งกายแบบพื้นเมืองอีสาน คือ เสื้อ ผ้าเหลืองอ่อนคอกลม หรือ คอจีน แขนกระบอก นุ่งผ้าซิ่นสีเขียวสดเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมมัดหมี่ หรือผ้าพื้นสีเขียวต่อตีนซิ่น (เวลาสวมเก็บชายเสื้อเข้าในผ้าถุง แล้วใช้ผ้าคาดทับ)
ผ้าสไบใช้ผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายลายใดก็ได้ห่มเฉียงบ่า ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ สวมเครื่องประดับเงิน เช่น ต่างหู สร้อย และกำไลแขน