ภาษาอีสานฟังแล้วงง คนภาคอื่นได้ฟังแล้วงงแน่ๆ
ภาษาอีสานฟังแล้วงง ก็คงจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร จริงๆแล้วไม่ว่าจะภาษาถิ่นไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาเหนือ ภาษาใต้ หรือ ภาษาท้องถิ้นอื่นๆ ที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย เมื่อได้ยินได้ฟังบางคำมันก็จะงงๆอยู่เหมือนกัน วันนี้ทีมงานอีสานร้อยแปดเราก็เลยได้ทำการรวบรวมคำศัพท์ภาษาอีสานเด็ดๆ ที่คิดว่าพี่น้องที่อยู่ภาคอื่นๆ หรือ แม้แต่คนอีสานเองบางทีก็ไม่คุ้นกับคำศัพท์เหล่านี้ เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วนอกจากจะงงแล้ว อาจจะขำก๊ากออกมาเลยก็ได้ เพราะภาษาอีสานเป็นภาษาที่ฟังแล้วสนุก น่ารัก ม่วนหู ว่าแล้วไปดูกันเลยว่าจะมีคำศัพท์คำไหน แปลว่าอะไรบ้าง
ภาษาอีสานฟังแล้วงง จากเพจแม่ออกค้ำ
วันก่อนแอดมินเข้าไปในเฟสบุ๊ค ที่ได้กดติดตามเพจ “แม่ออกค้ำ” เอาไว้ เพจนี้ได้โพสต์ให้สมาชิกได้คอมเม้น อันดับแรกแอดมินอีสานร้อยแปดเลยขอรวบรวมคำศัพท์ที่เพื่อนๆสมาชิกเพจได้แสดงความคิดเห็นมา ไปดูว่าจะมีคำไหนๆเด็ดๆ ฟังแล้วงงๆบ้าง
- เตง = ทับ ฮ่า ๆ ๆ ในภาษากลางเราอาจจะเป็นคำน่ารักๆเวลาที่ใช้เรียกแฟน ตัวเองๆ เพี้ยนเป็น เตงๆ แต่คำว่าเตงในภาษาอีสานไม่ได้แปลว่าตัวเองนะ เพราะว่ามันแปลว่า ทับ เช่น อย่านั่งเตงมือข่อยหยับออกแหน่ แปลว่า อย่านั่งทับมือฉันขยับออกไปหน่อย
– อย่าเตงกูแหม = อย่าทับกูสิ
– เต็งสูงเต็งต่ำ อันนี้เป็นเรื่องของการเล่นไฮโลแล้วหละ ฮ่า ๆ ๆ คำว่าเต็งหมายถึง เน้นๆ ตรงๆ เช่นหวยสามตัวตรงเป็นต้น
- คันจ้อง หรือ คันยู = ร่ม คำนี้ก็เป็นอีกคำที่ฟังแล้วฮาๆ สนุกดีเหมือนกัน แต่ละท้องถิ่นอีสานก็เรียกไม่เหมือนกัน แอดมินเองก็เคยได้ยินคนแก่เรียกร่มว่า จ้อง และ คันยู มาเหมือนกัน เช่น บักหล่าๆ ไปเอาจ้อง มาให้แม่แหน่ แปลว่า ไอ้หนูๆ ไปเอาร่มมาให้แม่หน่อยเป็นต้น
- สี้ , เซิง = การมีอะไรกัน ฮ่า ๆ ๆ อันนี้หลายๆคนอาจจะไม่งง เพราะคนก็รู้จักกันเยอะพอสมควร แต่แอดมินก็รวบรวมมาให้อ่านกัน เผื่อยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ เดี๋ยวจะเชยย
- บาดลุน = คราวหน้า ครั้งหน้า รอบต่อไป คราวต่อไป
- ซิ๊ด = การสะบัด สลัด เหวี่ยงเบาๆ เป็นของที่ไม่หนักมาก ถ้าเป็นของที่มีขนาดใหญ่จะใช้คำว่าขว้าง หรือ “ดึก” การดึกก็คือการขว้างนั่นเอง เป็นที่มาของมุก อย่านอนดึกมันจะปวดแขน เพราะนอนดึกหรือนอนไปด้วยขว้างสิ่งของไปด้วยมันจะทำให้เกิดอาการปวดแขนนั่นเอง ฮ่า ๆ ๆ
- ผักอีตู่ = ใบแมงลัก ถ้าได้ยินคนอีสานบอกให้ไปเอาผักอีตู่ ก็อย่าไปเข้าใจผิดว่า เอ๊ะใครจะมาตู่อะไรใครว๊ะ มันคือผักสวนครัวประจำบ้านอย่างใบแมงลักนั่นเองเด้อ
- ซวดลวด = การไม่เกรงใจ หรือ การถือวิสาสะ ทำอะไรสักอย่างที่ไม่ได้ขออนุญาติ หรือ ล่วงเกินคนอื่น เช่น เดินเข้าบ้านคนอื่นแบบไม่เกรงใจ หรือ ทำอะไรที่ไม่เกรงใจ ในภาษาอีสานก็จะเรียกคนแบบนี้ว่าเป็นคนซวดลวดนั่นเอง ฮ่า ๆ ๆ
- แครอท ไม่ได้แปลว่า หลวงพ่อเด้อ ฮ่า ๆ ๆ อันนี้น่าจะเป็นคอมเม้นฮาๆ ที่เพื่อนๆแกล้งตั้งฉายาให้กับพระเวลาบินฑบาตร เพราะสีเหมือนแครอทแน่ๆเลย บางคนก็ตั้งฉายาว่า แก๊งมินเนี่ยน ฮ่า ๆ ๆ อันนี้ก็ฮาเกิน แต่เอาเข้าจริงๆแล้วไม่ใช่เด้อ เป็นการหยอกล้อกันเล่นๆเฉยๆ อย่าเผลอเอาไปพูดจริงๆ ไม่งั้นงงกันเป็นไก่ตาแตกแน่ๆ
- แค่นั้น = จระเข้ตัวนั้น ฮ่า ๆ ๆ อันนี้ไม่ใช่ละ แต่เป็นการเล่นคำเอาฮาเฉยๆ ภาษาอีสานเป็นภาษาที่สนุก หลายๆครั้งคนนิยมเอาไปเล่นคำเล่นเสียง ทำให้เกิดความสนุกมากยิ่งขึ้น ในที่นี้คำว่า แค่ หรือ แข้ ในภาษาอีสาน หมายถึงจระเข้ นั่นเอง แข้นั้น หรือ แค่นั้น จึงเล่นคำเอาฮาว่าหมายถึง จระเข้ตัวนั้น ฮ่า ๆ ๆ ๆ
นอกจากนี้ถ้าหากเพื่อนๆ สนใจอยากจะตามไปอ่านคอมเม้นฮาๆจากเพจแม่ออกค้ำ ที่แอดมินเอามารีวิวให้อ่านกันนี้ ก็สามารถเข้าไปอ่านที่โพสต์ในเฟสบุ๊คตามลิงก์แฟนเพจนี้ได้เลย หรือ ถ้าเพื่อนๆมีคำถาม สงสัยว่าคำนี้ในภาษาอีสานมันแปลว่าอะไร ก็ไม่ต้องเก็บความสงสัยนี้เอาไว้คนเดียวเด้อ เราสามารถไปตั้งกระทู้ถามแอดมินอีสานร้อยแปดของเราได้ที่ “หม่องโสเหล่” คลิกเข้าไปสมัครสมาชิกและตั้งกระทู้ถามโลด
ภาษาอีสานจากอีสานร้อยแปด
แหล่งข้อมูลภาษาอีสานที่เพื่อนๆรู้จักกันดีอยู่แล้วก็คือภาษาอีสานจากอีสานร้อยแปดเรานี่เอง ที่หน้าแรกของภาษาอีสานจะมีคำศัพท์ล่าสุดที่มีผู้คนสนใจ และเปิดเข้ามาดูเป็นจำนวนมากในรอบวันที่ผ่านมา ระบบของเราจะคัดกรองเอามาแสดงเอาไว้ นั่นแสดงว่าคำเหล่านี้เป็นคำศัพท์ที่มีคนต้องการรู้ความหมาย เพราะงงๆว่าแปลว่าอะไร
นี่คือตัวอย่างคำศัพท์ที่ผู้คนค้นหาผ่านทางออนไลน์ และ งงว่ามันแปลว่าอะไร ตัวอย่าง เช่น คำว่างึด คำว่างึดในภาษาอีสานแปลว่า แปลก ประหลาด อัศจรรย์ใจ ไม่น่าที่จะเป็นไปได้ หรือ น่าเหลือเชื่อ เป็นต้น เพราะฉะนั้ถ้าหากเพื่อนๆไปได้ยินคำนี้ที่ไหนก็ให้เข้าใจเด้อ ว่ามันแปลว่าแบบนี้ ฮ่า ๆ ๆ
- บักปอบ = คำด่าผู้ชาย ด่าประมาณว่าไอ้หมอนี้เป็นผี เป็นปอบ คล้ายๆกับคำด่าที่ว่า บักห่า บักพาก เป็นต้น
- จักแหล่ว = ไม่รู้ ไม่ใช้ ไม่ทราบ เวลาที่ใครถามอะไรเราเป็นภาษาอีสาน แล้วเราไม่รู้จริงๆ ก็สามารถตอบกลับไปว่า “จักแหล่ว”
- ซิกงิก = อาหารงอล ชิ๊ เชอร์ เวลาทำหน้าบูดหน้าบึ้ง ในภาษาอีสานเราก็สามารถพูดได้ว่า อย่าทำหน้าซิกงิกหลาย
- ฮ่อน = ร่อน หรือ แกว่งไปแกว่งมา ถ้าออกเสียงยาวๆเป็น ฮ้อน จะหมายถึงร้อน ต้องระวังเรื่องการออกเสียงให้ดี จะได้ไม่เข้าใจผิดเด้อ
เป็นยังไงบ้างน้อ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เพื่อนๆภาคอื่นก็อาจจะงงๆไปตามกันใช่ไหม ฮ่า ๆ ๆ นี่เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งที่แอดมินเราได้รวบรวมมาเป็นตัวอย่างบางตอนเท่านั้น เรื่องของภาษาเป็นอะไรที่ยืดหยุ่นและมีพัฒนาการอยู่ตลอด คำเก่าๆบางคำก็ไม่ค่อยได้ใช้ บางทีก็เลิกใช้หรือตายไปเลยก็มี แล้วก็มีคำใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะทุกวันนี้การสื่อสารทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น การผสมผสานระหว่างภาษายิ่งมีมากยิ่งขึ้น หลายๆครั้งเราก็แยกไม่ออกว่าคำนี้มาจากภาษาไหน หรือ เรียกทับศัพท์กันจนเคยชินก็มี หากเพื่อนๆคิดว่าบทความนี้อ่านแล้วสนุก ก็อย่าลืมใช้ปุ่มไลค์ปุ่มแชร์ให้เป็นประโยชน์ กดไลค์กดแชร์ไปให้เพื่อนๆของเราได้อ่านกัน