แมงจิซอน

ชื่อวิทยาศาสตร์    Gryllotalpa orientalis
อันดับ                ORTHOPTERA
วงศ์                   Gryllotalpidae
ชื่อสามัญ            Mole Crickets
ชื่อพื้นบ้าน           แมงซอน  แมงจิซอน แมงกระซอน (นักธรณีวิทยาแห่งชายบึง)

ลักษณะทั่วไป

แมลงจิซอน มีลำตัวกลมลักษณะคล้ายจิ้งหรีด แต่มีปีกสั้นมาก ขนาดความยาวลำตัวประมาณ
3 – 4 เชนติเมตร  หนวดสั้น ขาหน้ากว้างมีลักษณะคล้ายอุ้งมือของตัวตุ่น มีเล็บแข็ง
ใช้ในการขุดดิน ชอบอาศัยตามที่ชื้นขุดรูอยู่ใต้ดินกินรากพืชและพืชต่างๆ  เป็นอาหาร
แมลงชอนมีขาคู่หน้าดัดแปลงไปเป็นขาขุด เพื่อใช้ประโยชน์ในการขุดดินและมุดตัวอยู่ในดิน
ตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียแตกต่างกัน
จากการดูอวัยวะเพศที่ปลายท้องได้ ทั้งสองเพศมีรูปร่างลักษณะเหมือนกันมาก
ตัวผู้ท้องยาวเรียว แต่ที่แตกต่างคือเพศผู้สามารถทำเสียงได้เช่นเดียวกับจิ้งหรีดและตั๊กแตน
แต่เสียงค่อยกว่ามาก โดยเพศผู้มีอวัยวะในการทำเสียงอยู่ที่ปีกคู่หน้า เป็นตุ่มทำเสียงที่เรียกว่าไฟล์ และสะแครปเปอร์
และมีพื้นที่เล็กๆ บนแผ่นปีกที่ใช้ในการทำเสียงซึ่งเพศเมียไม่มี
ตัวเมีย ท้องป้อมๆ ลำตัวสั้นกว่าตัวผู้เล็กน้อย

แมงจิซอน

แมงจิซอน

แหล่งที่พบ

ขุดรูอาศัยในดินที่แฉะมากๆ โดยเฉพาะดินบริเวณรอบๆ แหล่งน้ำ ริมหนองน้ำ ริมห้วย ริมบึง
อาหารธรรมชาติ   คือ หญ้าสด มีหญ้าต่าง ๆ เช่น หญ้าขน หญ้าน้ำ หรือวัชพืช

วงจรชีวิต

แมลงกระชอน วางไข่เป็นแท่งไข่แข็งซึ่งมี 30-50 ฟองอยู่ในดิน ไข่ใช้เวลาฟักตัว
25-40 วัน ตัวอ่อนที่ฟักใหม่ๆมีสีขาว ส่วนอกและขาสีฟ้าอ่อน ตัวอ่อนเมื่อเติบโตขึ้น
เปลี่ยนเป็นสีเทาถึงดำ มีแต้มสีขาว ตัวอ่อนวัยสุดท้ายลักษณะเหมือนตัวเต็มวัยแต่มีปีกสั้นกว่า
ระยะตัวอ่อนนาน 3-4 เดือน  ผสมพันธุ์และวางไข่ช่วงต้นฤดูฝน ช่วงฝนตกใหม่ๆ คือช่วงที่
กระจายพันธุ์ โดยจะออกท่องเที่ยว บินหาแหล่งน้ำในตอนกลางคืน

แมงจิซอน ในโลกจำแนก เป็น 2 ชนิด ใหญ่ๆ   คือ ชนิดที่พบทางซีกโลกตะวันออก
และ ชนิดที่พบในแอฟริกา
ในประเทศไทยมีแมลงชนิดนี้ สายพันพันธุ์ตะวันออกชนิดเดียวเท่านั้น
ส่วนแมลงกระจิซอนที่พบในแอฟริกามีหนาม 3-4 อัน
(มักมี 4 อันดูจากตัวอย่างแมลงกระชอนจากอียิปต์ 2 ตัว)
เขตแพร่กระจายพบในเอเชียและฮาวาย พืชที่พบแมลงกระชอนทำความเสียหาย เช่นข้าวไร่ อ้อย ยาสูบ หอม
ทานตะวัน ผักกะหล่ำ ชา และมันเทศ เป็นต้น

ส่วนแมงจิซอนสายพันธุ์ไทย ไม่ปรากฏว่า ทำลายพืชไร่ ของเกษตรกรแต่อย่างใด  เนื่องจากมันไม่กินพืชไร่

หน้าที่ตามธรรมชาติ  ของแมงซอน

เนื่องจากมีขาหน้าที่ทรงพลัง บางคนเรียกแมงจิซอน ว่า ราชคึ  หรือ ราชคฤกษ์ ราชาแห่งการ “คึ “

เวลาจับใส่มือไว้ แมงจิซอน จะใช้ขาหน้า “คึ” ง่ามมือออก พลังในการแหวกน่าอัศจรรย์
หน้าที่หลักคือการพรวนดิน ในริมน้ำทำให้ดินริมแหล่งน้ำมีอากาศ  ให้บักเตรี
ทำการย่อยสลายซากอินทรีย์
ในดินกลายเป็นแร่ธาตุที่อุดม เหมาะสำหรับพืชริมน้ำและ แมลงสัตว์น้ำอื่นๆดำรงชีพ
แมงจิซอนยังกินซากพืช รากพืชน้ำที่เน่าสลายในดิน เป็นอาหาร และเป็นอาหารของปลาหลากหลายสายพันธุ์
บางครั้งความสัมพันธ์ ในระบบนิเวศน์ ก็ซับซ้อนและอ่อนไหว ในการดำรงสภาพอันเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
หลายๆอย่าง เมื่อพิจารณาแล้ว ล้วนเกี่ยวพันกันเป็นสายใย ห่วงโซ่อาหารและความสมดุล

การเกี่ยวพันในวิถีชีวิตอีสาน

เมื่อย่างเข้าหน้าแล้ง ช่วงเดือน ธันวาคม ถึง กุมภาพันธุ์  น้ำตามแหล่งน้ำเหลือเพียงแหล่งน้ำใหญ่ๆ
บริเวณริมแหล่งน้ำเหล่านั้นยังชุ่มชื้น บางแห่งยังมีตม พื้นดินนิ่มชาวบ้านต่างแบกจอบ ถือคุ ลงไปหากิน
ตามแหล่งน้ำที่ยังหลงเหลือ ต่างลงไปหา “ย่ำแมงซอน “   ตามพื้นดินริมแหล่งน้ำที่ยังอ่อนนิ่ม

ขั้นตอนแรก คือ ทำคันกั้นน้ำเล็ก ๆ  เป็นแนวยาว  บางแห่ง ก็ ทำเป็นรูปครึ่งวงกลม เพื่อกั้นน้ำ
จากนั้นก็ ขุดหน้าดินขึ้นมา ตักน้ำมาราด ดินที่ขุดขึ้น แล้วก็ลงมือ ย่ำดินให้กลายเป็นดินเหนียว
เมื่อน้ำเข้าไปแทนอากาศที่อยู่ในดิน และน้ำท่วมดิน บริเวณที่แมงซอน อาศัยอยู่ แมงซอนก็จะออกมาจากดิน
ชาวบ้านต่างเก็บเอาแมงซอน เพื่อเป็นอาหาร  ไล่คุบแมงซอน เป็นที่สนุกสนาน
แมงซอน หรือ แมงจิซอน เป็นอาหารของชาวอีสานในหน้าแล้ง นำไปทำอาหารได้หลายอย่าง
ห้วงเดือนดังที่กล่าวมาเท่านั้น ที่ชาวบ้านหากินแมลงชนิดนี้  ส่วนห้วงเดือนอื่น ก็หากินอย่างอื่น
ชีวิตชาวอีสาน ยากจนค้นแค้น อึดอยากปากหมอง  หากินแมลงต่าง ตามฤดูกาล เป็นแหล่งโปรตีน
จึงมีความสัมพันธ์ กับแมลงมากกว่าภาคอื่น ๆ  ซึ่งทางภาคอื่น มีแหล่งอาหารหลากหลายกว่า อุดมกว่า
แมลงจึงเป็นตัวเลือกลำดับสุดท้ายในการนำมาเป็นอาหาร  ต่างจากภาคอีสาน ซึ่งกินแมลงตามฤดูกาล

สิ่งที่น่าเป็นห่วง

เนื่องจากปัจจุบันการทำเกษตร มีการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากขึ้นทุกปี  เกินขีดความสามารถของธรรมชาติ
ในการกำจัดสารตกค้าง ตามแม่น้ำลำคลอง ห้วยหนอง ให้เจือจางลงตาม วิถีธรรมชาติ จึงเป็นผลกระทบ
ในวงกว้างในระบบนิเวศน์  สารเคมีตกค้างในดินจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แมงจิซอนเป็นจำพวกต้นๆ
ในการได้รับผลกระทบ  ลดจำนวนลง  ส่วนผลกระทบในด้านอื่นๆ  ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ขอกล่าว
เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนา  ส่วนใหญ่ไม่สนใจ ระบบนิเวศน์และธรรมชาติ เท่าไหร่
ข้าวของผลิตภัณฑ์ทางเศรษฐกิจ ราคาสูงขึ้น  ที่ราคาถูกลงคือ ชีวิตพลเมือง


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*