กลับอีสานตอน “แกงหน่อไม้”

แกงหน่อไม้

สวัสดีครับพี่น้องอีสานบ้านเฮา เป็นจังใด๋น้อ ดำนาแล้วหละไป่ กล้าพอบ่น้อ มื้อนี้อีสานร้อยแปดสิพาไปสับหน่อไม้มาแกง กว่าจะได้หน่อไม้มา วิธีการสับ วิธีการหา ไปจนถึงการแกงหน่อไม้แบบอีสานๆ ไปดูกันเลยครับ
เริ่มตั้งแต่การสังเกตุหาหน่อไม่ เวลาที่เราไปใต้ก่อไผ่ บางที่ก็รกโปรดระวังสัตว์เลื้อยคลานเช่น งู ที่สำคัญอีกอย่างคือกิ่งไผ่ ระวังมันจะจิ้มตา

ไปสับหน่อไม้ 4/12

พอเราเจอหน่อไม้ที่เราต้องการแล้ว ก็ทำการเล็งว่าจะขุดลงจากมุมไหน ส่วนใหญ่โดยธรรมชาติของหน่อไม่ โคนของหน่อไม้จะอยู่ฝั่งในของกอไผ่

จากนั้นก็ทำการขุด เพื่อหาจุดที่เราจะสับ ในที่นี้บังเอิญผมไปเจอหน่อไม้ที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งโผล่ขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ถ้าเรียกเป็นภาษาอีสานเรียก “หน่อนางดิน” เปลือกจะเป็นสีขาวๆ รสชาติของหน่อนางดินจะหวานอร่อยเวลาแกง

ไปสับหน่อไม้ 3/12

เพียงแค่แป๊บเดียว แค่หาสองสามกอ ผมก็ได้หน่อไม้พอที่จะนำไปแกงได้แล้ว เลยหยุดหาต่อ เดี๋ยวจะกินไม่หมด ถ้าข้ามคืนไปแล้ว หน่อไม้จะไม่อร่อย

จากนั้นก็นำหน่อไม้มาปลอก หรือแถวบ้านเรียก “คอน” การคอนหรือการเอาเปลือกหน่อไม้ออกนั่นเอง

หลังจากที่คอนเสร็จแล้ว เนื่องจากเป็นหน่อไม้บงซึ่งมีรสขม จะต้องต้มให้เดือดซักรอบ แล้วรินน้ำออก เพื่อให้ลดความขมลง

ระหว่างนี้ผมก็เดินไปเก็บใบย่านาง แล้วก็มาคั้น เพื่อเอาน้ำย่านาง เป็นส่วนประกอบหลักที่ขาดไม่ได้เลย สำหรับการแกงหน่อไม้

ตั้งน้ำย่านางที่เราคั้นไว้แล้ว ใส่หน่อไม้ พริกตำ ข้าวหม่า(ข้าวแช่) น้ำปลาร้าเพิ่มความหอม ใบผักกะแยง ยกลงมาปรุงรส เพิ่มน้ำปลาหน่อยให้กลมกล่อม ก็จะได้แกงหน่อไม้แบบง่ายๆ

หลังจากนั้นก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือการหาพาข้าว (เตรียมสำรับข้าว) ตักแกงหน่อไม้มากินกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ไม่ไหวละขอซดดูก่อนซักคำละกัน


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*