ก้อยลิ้นไม้

ชื่อพื้นบ้าน   ก้อยบักลิ้นไม้  ก้อยบักลิ้นฟ้า
ชื่อภาษาไทย    นภาลิ้นห้อย
ชื่อประกิต     Tongue Downfall Sky

อัน บักลิ้นไม้ หรือบักลิ้นฟ้า (ภาษาอีสาน)  ภาษาไทยเรียกว่า “เพกา”  ชื่อเมืองใกล้ๆ กับ กรุงลงกา
เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่ง แพร่ขยายพันธุ์ ในแถบอินเดีย ไทย  และแถบอินโดจีน

ประเทศแถบยุโยป  ก็มี “เพกา” เหมือนกันครับพี่น้อง
แต่ว่าเขา “ซัส” หมดแล้ว ( ซัส อีสานแปลว่า กินเรียบ ) จึงเหลือเพียง ” เพกาซัส”  ชื่อม้ามีปีก บินเวิ่ม ๆ
พูดถึงฝักอ่อน ดอกอ่อน ของต้นไม้ชนิดนี้รสขม กลับมีประโยชน์
รับประทานแทนผักจะช่วยขับเสมหะและบรรเทาอาการไอ ลดไขมันในเม็ดเลือด

จากการศึกษาวิจัยพบว่า มีสรรพคุณเป็นสมุนไพร แก้โรคได้หลายอย่าง  ชาวจีนเรียกมันว่า
“กระดาษพันใบ”  เมล็ดมัน เขานำไปเป็นส่วนผสมของสมุนไพรจีน รักษาโรค”ตะพึดตะพือ”
คุณประโยชน์กล่าวบ่หมดพี่น้องเอ๋ย

ชาวอีสานบ้านเฮา นิยมเอามาทำอาหาร เช่น เอาไฟแล้วล้างน้ำ มากินกับ ลาบ  แจ่ว ป่น เป็นต้น
บางคนก็หั่นเป็นชิ้นๆ กินดิบๆ เลย ได้รสชาติ แต่ที่จะเสนอมื้อนี้ คือการนำมันมา”ก้อย”ครับ

ก้อยลิ้นไม้

ก้อยลิ้นไม้

ส่วนประกอบ

1. บักลิ้นไม้  3 -4 ฝัก
2. เนื้อปลา เนื้อกบ เนื้อเขียด ต้มสุก ( ตามแต่จะหาได้ )
3. พริกป่น +   ข้าวคั่ว
4. กระเทียมเผาสุก 5 กลีบ
5. หอมแดงเผาสุก 4 หัว
6. เกลือ
7. บักบั่ว ผักหอม
8. ผักแพรว 1 กำ
9. บักนาว  ( ตามใจชอบ)
10. น้ำปลาแดก

วิธีทำ

1. นำบักลิ้นไม้ไป “ฌาปนกิจ”จนสุกไหม้ ขูด ” ขี้ตะหลืน “ทิ้ง ล้างน้ำให้สะอาดหั่นเป็นชิ้นบางๆ

2. ต้มน้ำปลาแดก ใส่ปลา กบ เขียด (ตามแต่จะหาได้ ) รอไว้ก่อน
3. ตำกระเทียม หอมแดง เกลือป่นให้เข้ากัน นำคลุกเคล้ากับบักลิ้นไม้
4. เนื้อปลา กบเขียด คนให้เข้ากัน สำมะเลเทฮาด พริกป่น และข้าวคั่วลงไป
5. ซอยผักหอมลงไป ชิมและปรุงรสด้วยน้ำปลาแดก ตามชอบ
6. บีบบักนาว ปรุงรสเปรี้ยวส้มขมหวาน
( ลป.หากคนซิม ” ฮิ” ในรสชาติ  ติเป็นหลาย ก็ให้ ขูดขี้เขียงลงจั๊กหน่อย เพิ่มความนัว )
รสชาติของอาหารชนิดนั้น คือ สรรพมิตร หวานหอม ขม อมเปรี้ยว มันนัว ลงตัว

ความสัมพันธ์กับชาวอีสาน

บักลิ้นไม้ หรือ บักลิ้นฟ้า เป็นพืชท้องถิ่น  คู่กับวิถีชีวิตลูกทุ่ง เป็นทั้งอาหารการกิน
เป็นทั้งยารักษาโรค ฝักแห้ง เป็นของเล่นให้ลูกหลาน ทำเป็นเรือยาวแข่งกัน
ในขณะที่เม็ด หรือ เมล็ด ของมัน ชาวอีสานโบราณ นำมันมาร้อยเป็นพวงมาลัย
ประดับตกแต่ง “โฮงธรรมาสน์” ในงานบุญผะเหวด (บุญพระเวศ)

ฝักของบักลิ้นฟ้า จะแห้งแตกออก ให้เมล็ดปลิวว่อนในเดือน 4 หน้าแล้ง
ซึ่งตรงกับเทศกาล บุญผะเหวด ตามประเพณีอีสาน  หนุ่มสาวมักจะชวนกัน
ไปหาเก็บเอาเมล็ดที่คล้ายกระดาษสีขาว มาถวายพระ เพื่อร้อยเป็นมาลัย บูชาพระธรรม

ตกเย็นกินข้าวแลงเสร็จ  พระท่านจะ”ตีกลองตุ้ม” เป็นสัญญาณบอกว่า ให้ชาวบ้านมาตุ้มโฮมกัน
ผู้เฒ่าผู่แก่  เด็กเล็กเด็กน้อย  ผู้หนุ่มผู้สาว ก็จะมารวมตัวกันที่ “ศาลาวัด” หรือ “หอแจก”
ต่างคนต่างนำ เมล็ดบักลิ้นไม้ มารวมกัน ร้อยรัดถักพวง ประดับประดาศาลาวัด
คนเฒ่าคนแก่ก็จะ ทำ “ขันแหย่ง” “ขันหมากเบ็ง” และอื่นๆ  คุยกันสนุกสนาน

ในขณะที่หนุ่มสาวก็จะสบตากันไปด้วย “ร้อยมาลัยบักลิ้นฟ้า “ไปด้วย คุยหยอกล้อกัน
ได้บุญ และได้ความอิ่มเอมใจเปรมปริ่ม นั่นคือวิถีที่เป็นมา

หากบุญพา วาสนาส่ง ผลาบุญแต่ปาง ฮ้อยมาลัยบูชาพระธรรม ขอดลบันดาลให้
ชาวอีสานฮักในวิถีประเพณีถิ่น หันมามองในวิถี แล้วตกแต่งต่อยอด เจริญงอกงาม
“เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา ”  แม้แต่บักลิ้นไม้ ก็ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ
อาหารเสริมบำรุง”บี” งัวพันธุ์ ให้ขม
เป็นเครื่องดื่มสกัดจากบักลิ้นฟ้า ยาแก้ไอยาแก้อักเสบ หรือจะเป็น “บักลิ้นไม้ราดซอส”
เป็นฮอด “ยี่ห้อซิ่น”  (ผ้าถุง)


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*