คองเขย – วิธีปฏิบัติของเขยภาคอีสาน

คองเขย

แอดมินมีโอกาสได้อ่านงานเขียนของ “บุญชู ภูศรี” ที่ได้เขียนบทความและเผยแพร่ในวารสารช่อพะยอม ปีที่ 23 พ.ศ. 2555 ที่ได้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอเกี่ยวกับ “คองเขย” หรือข้อปฏิบัติของลูกเขยเป็นแนวทางการระงับความขัดแย้งภายในครอบครัวของชาวอีสาน จึงขอโอกาส และขออนุญาตินำมาเผยแพร่ซ้ำ โดยไม่ดัดแปลงเนื้อหาใดๆ และคงต้นฉบับเอาไว้ หากต้องการดาวน์โหลด PDF ต้นฉบับ สามารถโหลดได้ที่ท้ายบทความ

บทคัดย่อ

คองเขย เป็นข้อปฏิบัติของลูกเขยและเป็นแนวทางการระงับความขัดแย้งภายในครอบครัวของชาวอีสาน โดยเอกสารใบลานยกกรณีศึกษาของเขย 8 จำพวกที่กระทำผิดต่อครอบครัว รวมทั้งแนวทางในการชำระความต่อเขยทั้ง 8 กรณี ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติของชาวอีสาน ก่อนที่สังคมครอบครัวอีสานจะอยู่ในสภาพวิกฤตในปัจจุบัน

คำสำคัญ : คองเขย , ข้อปฏิบัติของลูกเขย,ข้อห้ามของเขย

Abstract

Khongkhoei is the principles of son in law and the solutions to handle the conflicts within Northeastern Thai families. Ancient documents illustrate the examples of eight sons in law committing unfaithfulness to his family and resolutions to judge such the cases. The principle was the traditional regulations of Thai people in the Northeast before the family society turned to be in crisis in present.

Keywords: Kongkhery, The Precept of son in law, Prohibition of son in law

บทนำ

ครอบครัวถือเป็นปฐมฐานของสังคม ซึ่งการสร้างครอบครัวให้มีความสุข นอกจากจะมีหลักธรรมในการครองเรือนแล้ว จำต้องมีกฎระเบียบสังคมในการดูแลและควบคุม รวมถึงมีผู้ดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบนั้น ๆ เมื่อมีการ
ละเมิดกฏขึ้น ครอบครัวในสังคมอีสาน มีกฏประจำครอบครัวเรียกว่า “คองเฮือน” ซึ่งในสังคมอีสานมีกฎระเบียบนี้ทุกครัวเรือน และภายในคองเฮือนนั้น มีกฎหนึ่งที่สร้างครอบครัวอีสานให้เป็นปึกแผ่น คือ กฎระเบียบข้อปฏิบัติของเขย ซึ่งเสมือนเป็นการควบคุมและเตรียมคนสำหรับเป็นผู้นำครอบครัว และเตรียมเข้าสู่ความเป็นผู้อาวุโสของตระกูล คือ ลุง และเจ้าโคตร

เขยอีสาน

กระบวนการเป็นเขยในสังคมอีสานนั้น มี 2 ประการ คือ เขยสู่ คือ เขยที่เข้าตามตรอกออกตามประตู สู่ขอตามประเพณี และ เขยชู หมายถึง เขยที่เข้าสู่ครอบครัวฝ่ายหญิงด้วยการได้เสียกันก่อน แล้วจึงสู่ขอตามประเพณี แต่ค่าสินสอดอาจจะลดลง เขยทั้ง 2 ประเภท มีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนกัน หากเจ้าโคตรหรือพ่อตาแม่ยาย ไม่อคติหรือรังเกียจที่มาของเขยชู

การเข้าสู่ครอบครัวของอีสาน นิยมให้ฝ่ายชายเข้าสู่บ้านฝ่ายหญิงประการหนึ่งเพราะการถ่ายโอนเรื่องมรดก มักจะถ่ายโอนผ่านฝ่ายหญิง และการนำชายเข้าสู่ครอบครัว เสมือนการนำแรงงานชั้นดีเข้าสู่ครอบครัว ที่จะมีผู้ชาย
แบ่งเบาภาระงานจึงมีภาษิตว่า “เอาลูกเขยมาเลี้ยงพ่อเถ้าแม่เถ้า ปานได้ข้าวมาใส่เล้าใส่เยีย” ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายหญิงก็สามารถที่จะไปสู่ครอบครัวของฝ่ายชายได้เช่นกัน แต่กรณีเช่นนี้ มีภาษิตที่ย้อนแย้งว่า “เอาลูกใภ้มาเลี้ยงแม่ย่า ปานเอาหามาใส่เฮือน” การแต่งงานนำภรรยาเข้าบ้านจึงไม่นิยมมากนักในภาคอีสาน

การเข้าสู่ครอบครัว จะมีสิ่งห้ามที่เป็นจารีตประเพณีในลักษณะมุขปาฐะก่อน เช่น ลูกเขยห้ามนอนห้องเปิง (ห้องพระห้องผี) แต่ก็มีกฎระเบียบที่จะต้อง ปฏิบัติตาม เรียกว่า “คองเขย” ซึ่งตลอดการเป็นเขย ต้องปฏิบัติตามดองเขยตลอด จนกระทั่งเลื่อนขึ้นสู่ความเป็นลุงปูตา และเข้าสู่ตำแหน่ง เจ้าโคตร (ผู้อาวุโสที่สุดในตระกูล) ซึ่งเสมือนการเตรียมคนเข้าสู่การเป็นเสาหลักของตระกูล (โคตรวงศ์)

ดังนั้น ในช่วงแรกแม้ว่าจะอาศัยอยู่กับเรือนพ่อของฝ่ายหญิง แต่จังหวะหนึ่งเมื่อเก็บเงินทองได้พอประมาณ เขยก็ต้องออกเรื่อนไปสร้างบ้านหลังใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้น้องสาวภรรยา (น้าสาว) ได้มีคู่ครอง และนำแรงงานใหม่เข้ามาสู่ครอบครัวอีกครั้ง จนกระทั่งเหลือคนหนึ่งที่อยู่ดูแลพ่อแม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นน้องสาวคนสุดท้ายได้แต่งงานและอยู่เลี้ยงดูพ่อแม่ ซึ่งจะได้รับการแบ่งปันมรดกมากพอสมควร อาจจะมากกว่าทุกคน จึงมีคำพูดว่า “ลูกสาวหล่า มูนขอน” (ลูกสาวคนสุดท้อง มรดกเยอะ)

แม้จะแยกตัวไปสร้างเรือนใหม่แล้ว หรือกระทั่งสิ้นพ่อตาแม่ยายแล้วก็ตาม เขยก็ต้องอยู่ภายใต้คองเขยเพราะยังมีญาติผู้อาวุโสฝ่ายหญิงคือ ลุง และ เจ้าโคตรคอยเป็นเสาหลักให้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นในครอบครัว ต้องมีการประชุมญาติพี่น้อง เจ้าโคตร เพื่อชำระความภายในครอบครัว

กฏระเบียบ จารีต ของการเป็นเขยอีสาน

กระบวนการเรียนรู้เรื่องหน้าที่และภาระความเป็นเขยในภาคอีสานนั้นมีการเรียนรู้โดยธรรมชาติแล้วในแต่ละครอบครัว เพราะเด็กเล็กมักจะเห็นพี่เขยทำงานเปืนเสาหลักภายในครอบครัวมาก่อน เมื่อเด็กเล็กโตขึ้นและเข้าบวชก็จะพบกับคำสอนว่าด้วยหน้าที่ของสามีตามหลักพุทธศาสนา และฮีตคอง ต่าง ๆ ในเอกสารโบราณอีสาน เช่น ฮีตผัวคองเมีย ฮีตเค้าคองเขย ฮีตสิบสองดองสิบสี่ เมื่อลาสิกขาและได้แต่งงานแล้ว ด่านสุดท้ายที่กระตุ้นเตือนให้สำเหนียกในหน้าที่และการประพฤติตน คือ การสู่ขวัญแต่งงาน เช่น

เจ้าเป็นเขยให้เจ้าทำใจกว้าง                              อย่างกล่าวอ้างสรรพสิ่งอันใด
ไล่ไก่ให้เจ้าว่าโช                                                ไล่หมาให้เจ้าว่าเส
เจ้าอย่างดื้อเตะเตียวซุยชายต่อหน้าเจ้าโคตร   ไล่ควายให้เจ้าว่าฮือ
ให้มีใจเลื่อมใสต่อนางนงคราญแก่นไท้              อย่าปากโพดผางาน
(สำลิด บัวสี่สะหวัด, 2544 : 165)

การศึกษาเรียนรู้เรื่องฮีตผัวคองเมีย หรือหน้าที่ของสามีและเขยนั้นเสมือนเป็นการเรียนหน้าที่ที่ยังไม่มีโทษของการละเมิดแต่อย่างใด โทษของการละเมิดจะอยู่ที่ฮีตเค้าคองเขย ซึ่งถือว่าเป็นกรณีศึกษาเสมือนกฎหมายฎีกาสำหรับเขยอีสาน ที่เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วต้องยื่นตาม หรือตัดสินตามฮีตเค้าคองเขย

เค้าคองเขย

1. ความหมาย

คองเขย มีต้นฉบับเรียกอยู่ 3 ชื่อ คือ ลักษณะเค้าเขย (วัดสว่างท่าสี่จังหวัดร้อยเอ็ด) คองเขย (ฉบับแม่บัวมี่ สุคำภาจังหวัดอุดรธานี) และฮีตเข้าคองเขย (สำลิด บัวสี่สะหวัด. 2538: 101) (สุวิทย์ ไพทยวัฒน์, 2533:93-103) คำว่าคำว่า “ฮีต” คือ จารีต คอง คือ ครรลอง แนวปฏิบัติ ส่วนคำว่า “เค้า” หมายถึงต้นตอ เริ่มแรก ซึ่งสอดคล้องกับคองเขยที่กล่าวไว้ในตอนท้ายว่า “เพิ่นเล่าคำมาตั้งแต่ปฐมเถ้าขุนบรมป้านไว้” หมายถึง คองเขยนี้ ขุนบรมราชาธิราชเป็นผู้ปั้นแต่งไว้ซึ่งการกล่าวลักษณะนี้เป็นการกล่าวอ้างเพื่อเสริมสร้างความเก่าแก่ สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้เอกสาร และพิธีกรรม
เค้าคองเขย คือ ลักษณะเขย 8 ประเภท ที่กระทำผิดต่อครอบครัวและมีบทพิจารณาโทษแล้ว ซึ่งมีมาแต่ขุนบรมราชาธิราช เมื่อเกิดเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับเขยที่เข้าข่ายลักษณะเขย 8 ประเภทนั้น ก็สามารถนำมาเปรียบเทียบและพิจารณาข้อคดีได้

2. ทูเรนิทาน ว่าด้วยเขย 8 ประเภท

เขย 8 ประเภทที่เป็นกรณีตัวอย่างในเค้าคองเขย ดังต่อไปนี้
กรณีที่ 1 เขยประพฤติดีมาตลอด แล้วพลังเผลอกระทำผิด กรณีเช่นนี้ควรให้อภัย หากกระทำผิดซ้ำถึง 3 ครั้ง ให้มีเงินเบี้ย เหล้าแกลบ และหมู ขอขมาต่อลุง ตา เจ้าโคตร
กรณีที่ 2 เขยซี้เกียจ ไมขวนขวายทำไร่ทำนา เจรจาเชิงชู้สาวกับหญิงอื่น ทำตัวเหมือนชายหนุ่ม กล่าวจะเลิกกับภรรยาถึง 3 ครั้ง เตือนแล้วไม่ฟัง ให้ปรับเงิน 100 (ไม่บอกหน่วย) ควาย 1 ตัว และหากไม่พอใจ เกิดหนีไป ความเป็นผัวเมียขาดกันตามพระราชอาชญา
กรณีที่ 3 เขยตีลูกหลาน ด่าเตีหมา แมว หมู สัตว์เลี้ยงในบ้านที่พ่อแม่เลี้ยงดู เปืนการไม่ยำเกรง ให้ปรับขันไหม เงิน 100 (ไม่บอกหน่วย) ควาย 1 ตัว หากผิด 2-3 ครั้ง ถ้าเขยจะหนีให้มีเงิน 1 บาท ดอกไม้ธูปเทียนขอขมาต่อเจ้าโคตร ลุง ตา ก่อนแล้วจึงหนี่
กรณีที่ 4 เขยที่เป็นญาติฝ่ายลุง/ป้า ถือเป็นเขยศักดิ์สูงกว่า (เชื้อพี่) เกิดความไม่ยำเกรงลุง ตา เจ้าโคตรฝ่ายหญิง ให้ปรับเงิน 2 บาท และขอขมาต่อเจ้าโคตร
กรณีที่ 5 เขยที่มีความประพฤติดีมาตลอด จนได้สืบทอดสมบัติพ่อแม่(แทนมูน) และตลอดเวลาได้ช่วยเหลือญาติพี่น้องฝ่ายหญิงมาด้วยดี ภายหลังเกิดเปินโทษ อย่าให้คุณที่ทำมาเสียเปล่า ให้โผด (โปรด) ยังเขยให้เผย (เปิดเผย)ความงาม ให้มีเพียงดอกไม้ธูปเทียนขอขมา และให้อยู่ตามปกติสุขต่อไป
กรณีที่ 6 เขยบอกยากสอนยาก พูดอวดเก่ง อ้างทรัพย์สมบัติ ไม่ขวนขวายเลี้ยงครอบครัว เที่ยวเล่นบ้านนั้นลงบ้านนี้ ไม่สนใจเวลากินช้าว (บฮู้จักแลงงาย) ไม่เข้าบ้าน (กลายบ้านแม่ บ่แว่เฮือนเมีย) ให้สมมาเจ้าโคตร แล้ว
ให้ปรับปรุงความประพฤติเสียใหม่
กรณีที่7 เขยเป็นข้าราชการ ดื่มสุราเป็นอาจิณ เป็นนักเลงการพนัน ขาย
ลูกขายเมียกิน ทำร้ายลูกเมีย ปรารภจะเลิกกับภรรยาถึง 3ครั้ง หากพูดถึง 3 ครั้ง
แล้วไม่หนีเป็นโทษ
กรณีที่ 8 พ่อแม่ตายจาก เหลือเพียงครอบครัวเดี่ยว ตีลูกตีหลานด้วยไม้ท่อนก้อนดิน ควรให้สมมา (ลักษณะเค้าเขย. วัดสว่างท่าสี่ บ้านท่าสี่ จังหวัดร้อยเอ็ด)

จะสังเกตว่า ประเด็นที่เป็นความผิดของเขยนั้น ไม่ใช่ความผิดอาญาแผ่นดินในสมัยนั้น แต่เป็นความผิดในครอบครัวเท่านั้น ประเด็นความผิด คือ การไม่ตั้งใจทำมาหากิน เล่นการพนัน ชู้สาวไม่เคารพยำเกรงผู้อาวุโสในตระกูลทำร้ายร่างกายบุตรภรรยา การลงโทษเขยจึงไม่ได้ลงโทษรุนแรงถึงขั้นทุบตี แต่เป็นการลงโทษด้านเศรษฐกิจ เช่น ให้ปรับเงิน และปรับเป็นสัตว์เลี้ยง คือ ควาย และให้ขอขมาเป็นเงิน ดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น

สังเกตการลงโทษทางเศรษฐกิจ เช่น การปรับเป็นควาย หรือปรับเงิน โทษฐานอย่างหนึ่งคือไม่เคารพยำเกรงพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นการลงโทษที่แยบคาย เพราะเป็นการไม่ให้อิสระด้านเศรษฐกิจต่อเขย เนื่องจากเมื่อออกเรือนใหม่นั้น อยู่ในช่วงตั้งตัว การลงโทษปรับเป็นสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นสัตว์แรงงานนั้นเขยต้องกลับมายืมควายกับพ่อตาแม่ยายอีกครั้งหนึ่ง และเริ่มสร้างตัวใหม่อีกรอบ ซึ่งเปืนการตั้งตัวที่ย่ำอยู่กับที่และขาดอิสรภาพด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวพันถึงระบบอุปถัมภ์และหน้าตาในสังคมด้วย

ขอบเขิงเขย

เมื่อเกิดเหตุการณ์ตามกรณีศึกษาข้างต้น 8 ประการแล้วนั้น จะต้องมีการขอบเขิงเขย ซึ่งคำว่า “ขอบเขิง” นั้นในเรื่องคำศัพท์และความเป็นมา สามารถที่จะวิเคราะห์ได้ 2 ประเด็น คือ

1. ขอบเขิง

คำว่า “เขิง” เป็นภาชนะชนิดหนึ่ง ที่สานด้วยไม้ไผ่ รูปร่างคล้ายกระด้งแต่จะสานห่างกว่ากระด้ง เมื่อสานแล้ว จะใส่กรอบ (ขอบ) ซึ่งไม้ที่นำมาทำกรอบเขิงนั้นต้องเหลาให้ละเอียค ขดเป็นวงกลม ลมไฟให้ไม้อ่อนเพื่อป้องกันแมลงแล้วจึงเอามาเช้ากรอบเขิง จุดประสงค์ของการใส่ขอบเขิงเพื่อจะให้เขิงมีความสวยงาม คงทนถาวรไม่ให้โย้เยในเวลาใช้งาน ประโยชน์ของเขิงมีเยอะ ใช่ร่อนเอาสิ่งที่ต้องการ เช่น ร่อนทองคำ, ร่อนรำ นอกจากนี้ยังสามารถตักเอากุ้ง ปลาซิว หรือปลาตัวใหญ่ นำไปร่อนเอาตมออกให้เหลือแต่ตัวปลา

ขอบเขิงถูกนำมาอุปมาใช้ในพิธีกรรมการตักเตือนลูกเขย ลูกสะใภ้ หรือญาติพี่น้องโดยเปรียบเทียบว่าเขิงเป็นอุปกรณ์ในการร่อนเอาสิ่งที่ต้องการ ส่วนที่ไม่ต้องการจะออกไปกับน้ำ และหายไป ขอบเขิง ก็คือการร่อนหรือกรองเอาคุณความดีของบุคคลไว้ ส่วนที่ไม่ดีนั้นให้หลุดลอดหายไปกับน้ำ

เขิงก้นตื้น

ภาพที่ 1 : เขิงก้นตื่นคล้ายกระด้ง แต่การสานตาจะห่างกว่ากระด้ง ที่มา : ภาพถ่ายโดย บุญชู ภูศรี

เขิงก้นลึก

ภาพที่ 2 : เขิงก้นลึก ที่มา : (คลีเมนท์ คาร์เพนเทียร์ , โซฟี และ กลีเมนท์ , ปิแอร์ , 2547 : 93)

2. คอบเขิง
ประเด็นที่2 เป็นการวิเคราะห์ความหมาย คำว่า ขอบ หรือ คอบ หมายถึง การบอกกล่าว การบอกเล่า (ปรีชา พิณทอง, 2532 :121) เช่น เมื่อมีแขกของลูกมาบ้าน ลูกได้ไปบอกแก่พ่อแม่ เรียกว่า คอบพ่อแม่ หรือมีสำนวนอีสานว่า ไปให้ลา มาให้คอบ คือ เวลาเดินทางไปไหนมาไหนให้บอกลา เมื่อกลับมาแล้วให้มาบอกกล่าว ส่วนคำว่า เขิง หมายถึง ขึ้งเคียด โกรธ (ปรี่ซา พิณทอง, 2532 : 148)
ดังนั้น คำว่า คอบเขิง หรือ ขอบเขิง หรือ เขิงขอบ หมายถึง การบอกถึงความไม่ถูกต้อง พาให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจกันและกัน ซึ่งสอดคล้องกับการให้นิยามของพระอริยานุวัตร ที่กล่าวว่า ขอบเขิง คือ การปรับความเข้าใจกัน (พิมเสนบัวระพา, 2536 : 130)

3. ประโยชน์ของขอบเขิง
ขอบเขิงเป็นกระบวนการไกลเกลี่ยภายในครอบครัว ซึ่งจะมีการสอบสวนตักเตือน สั่งสอน ปรับ และขอขมา โดยผู้ที่ทำการไกลเกลี่ยเปินผู้อาวุโสที่สุดในตระกูล (เจ้าโคตร) ถ้าลูกเขยหรือลูกสะใภ้ผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้ที่ขอบเขิงอาจจะเป็นพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายหรือเฉพาะฝ่ายภรรยาก็ได้ ซึ่งเป็นการระงับข้อคดีเบื้องต้น

การขอบเขิงจึงเสมือนเปืนการปกครองย่อยในตระกูล ซึ่งจะมีทั้งขอบเขิงเขย (กรณีที่เขยเป็นมูลเหตุ) ขอบเขิงไภ้ (กรณีที่สะใภ้เป็นเหตุ) และยังใช้ได้กับกรณีขัดแย้งทั่วของบุคคลภายในตระกูลเดียวกัน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับมรดกระหว่างญาติพี่น้อง(วิศิษฏ์ ควงสงค์, 2542 : 464)
การขอบเขิงมีประโยชน์ เปืนการระงับไม่ให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ดังคำโบราณว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” หรือเพื่ออัดลิ้นปี่ ฮ่ลิ้นแดน(ยี่-ปิด, ปกปิด) ไม่ให้มีเสี่ยงดังออกไปข้างนอก การขอบเขิงจึงเป็นผลดี ซึ่งพอจะ
สรุปได้เป็น 3 ประการ คือ
1. เป็นการร่อนหรือกรองเอาความดีให้ค้างอยู่ในเขิง ส่วนสิ่งที่ไม่ดีนั้นให้มันลอดไปตามรูของเขิง เรียกว่า เขิงร่อนเอาคน
2. เป็นการเตือนสติของคนที่มีความผิด ให้มีความสำนึกในความผิดของตน
3. ทำให้คนทำผิด มีความพอใจในการแก้ไขปัญหา สั่งสอนเตือนตนแบบบัวไม่ให้ซ้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ไม่มีการจับกุมคุมขังแต่ประการใด การขอบเขิงเป็นการนำพาให้ครอบครั้วมีความสุข (อ่อนสี่ ปะชาวง, 2545: 8-9)

คองเขย : ความสอดคล้องกับกฏหมายอีสาน-ล้านช้าง
คองเขย แม้จะเปีนอำนาจในครอบครัว เป็นเสมือนกฎหมายที่ให้อำนาจเต็มแก่เจ้าโคตร และจะสังเกตว่าการลงโทษไม่ใช่โทษทำร้ายร่างกาย แต่เป็นขันไหม (ปรับ) เท่านั้น ไม่มีโทษถึงแก่ร่างกาย และยังยึดโยงกับอำนาจในท้องถิ่นสมัยก่อน เช่น อาณาจักรหลักคำ ซึ่งกล่าวถึงขอบเขตอำนาจของการตัดสินคดีความของลำดับชั้นปกครอง คือ คดีเกิดในบ้าน ให้นายบ้านชำระ ให้กินแต่ชันสมมา หากรูปคดีถึงขันตี ให้ตาแสงพิจารณา หากรูปคดีถึงขันพันน้ำ ขันพันบก ขันสังฆา ขันปารชิก ให้นำความเข้าสู่สุภาทาระการ (อาณาจักวหลักดำ. วัดเมืองสรวงใหญ่ จังหวัดร้อยเอ็ด) และกฎหมายอีสาน ล้านช้างให้ความสำคัญกับคองเรือน (กฎระเบียบของตระกูล) มากพอสมควร เช่นกรณีชู้สาว หากเกิดเรื่องขึ้นบนบ้านเรือนของใคร นอกจากจะว่าตามกฎหมายแล้ว ยังบอกอีกว่า “คองเฮือน
มีให้แปง” หมายถึง แนวปฏิบัติของเรือนที่เกิดเหตุนั้นเป็นอย่างไร ให้ปฏิบัติตามนั้น ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับระบบครอบครัว หรือเจ้าโคตรมากพอสมควร
นอกจากนี้การทำผิด แม้จะเป็นละเมิดบุคคลในครอบครัวของตนเอง แต่หากไปละเมิตบุคคลอื่น กฎหมายห้ามเอาไว้ เช่น “ผู้ไตตีลูกเมียก็ดี หากแล่นขึ้นเรือนท่านผู้อื่นดั่งนั้น บควรขึ้นไปตีแล” (สำลิด บัวสีสะหวัด, 2539 : 76)
ขอบเขิงเขยนี้ มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ เนื่องจากว่าขอบเขิงเขยในตันฉบับใบลาน ไม่มีการกล่าวถึงบุคคลภายนอกตระกูลในพิธีขอบเขิง เพียงแต่ในสมัยต่อมาอาจจะมีบุคคลที่เคารพ และมีหน้าที่รักษาความสงบของบ้านเมืองไปนั่งในพิธีหรือมีบทบาทในชั้นตอนการพิจารณา เช่น เจ้าโคตรผู้ร้อง เจ้าโคตรคู่กรณี กำนันผู้ใหญ่บ้านครูใหญ่ (วิศิษฏ์ ควงสงค์, 2542 :464) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของระบบขอบเขิงได้เป็นอย่างดีว่าเริ่มประยุกต์เข้ากับการปกครองสมัยใหม่แล้ว

สรุป
ขอบเขิง เป็นกระบวนการไกลเกลี่ยภายในครอบครัว ซึ่งผู้ที่ทำการไกลเกลี่ยเป็นผู้อาวุโสที่สุดในตระกูล (เจ้าโคตร) ซึ่งเป็นการระงับข้อคดีเบื้องต้นและขอบเขิงเป็นการปกครองย่อยในตระกูลซึ่งมีมาตลอดในภาคอีสาน ยึดโยงกับกฎหมายของอีสานมาตลอด
ขอบเขิงอีสานหมดความสำคัญลง ด้วยเหตุหลายประการ อาจจะเป็นเพราะความตกต่ำของระบบเจ้าโคตร การล่มสลายของระบบครอบครัวใหญ่ การเข้ามาของระบบการปกครองรวมถึงระบบกฎหมายจากส่วนกลาง สิ่งเหล่านี้ทำให้การขอบเขิงอ่อนกำลังลง อาจจะเหลืออยู่บ้างในการเจรจา ข้อคดีในครอบครับ แต่ไม่เข้มแข็งมากนัก

เอกสารอ้างอิง

ดาวน์โหลดต้น PDF ฉบับได้ที่  https://www.tci-thaijo.org/index.php/ejChophayom/article/view/8423/7180 


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*