แมงหิ่งห้อย

ชื่อสามัญ             Firefly หรือ Lightening  Bug
วงศ์                   Lampyridae ( แลมพายริดี้)

ส่วนชื่อสามัญภาษาไทย เรียกขานกันแตกต่างไปตามพื้นที่ อย่างเช่น

ภาคกลาง แมลงทิ้งถ่วง แมงดาเรือง แมงแสง หนอนกระสือ
อีสาน   แมงหิ่งห้อย , หิ่งห้อย  (เทพธิดาแห่งความหวัง)
ภาคใต้   ญิงห๊อย..

มีรายงานว่า หิ่งห้อยทั่วโลกมีมากกว่า 2,000 ชนิด กระจายอยู่ในทวีปเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และอเมริกากลาง พบได้ตั้งแต่บริเวณภูเขาสูง
ไปจนถึงชายฝั่งทะเล

สำหรับในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการศึกษาชนิดของหิ่งห้อย
ในภาคกลางและภาคตะวันออก
ศึกษานิเวศวิทยา แหล่งที่อยู่อาศัย และพันธุ์พืชที่หิ่งห้อยชอบเกาะ รวมถึงวงจรชีวิตของหิ่งห้อยแต่ละชนิด
เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าในประเทศไทยมีหิ่งห้อย
มากกว่า 8 สกุล คือ

Diphanes
Lamprigera
Luciola
Pteroptyx
Pyrocoelia
Pyrophanes
Rhagophthalmus
Stemoleadius

แต่หิ่งห้อยส่วนใหญ่ที่พบได้ง่ายในประเทศไทย มี 2 สกุล คือ
สกุล Luciola Brahmina (ลูซิโอลา บราห์มิน่า) เป็นหิ่งห้อยที่มีตัวอ่อนอาศัยอยู่ในบริเวณ
น้ำจืด มีธรรมชาติเป็นคลองส่งน้ำที่มีผักตบชวา จอง แหน จำนวนมาก
และมีอยู่เป็นเวลานานแล้วเช่น  ดินงืม  หรือหนองน้ำเก่าแก่

และอีกสกุลคือ
Pteroptyx  Malacea (เทอรอพติกซ์ มาแลคซี่) เป็นหิ่งห้อยที่มีตัวอ่อนอาศัยอยู่บริเวณป่าชายเลน และฝั่งแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง ซึ่งเรียกกันว่า หิ่งห้อยน้ำกร่อย  ( เช่นที่อัมพวา )

ลักษณะทางกายภาพของหิ่งห้อย

รูปร่างและส่วนต่างๆ ของหิ่งห้อยนั้นประกอบด้วย
ส่วนหัว มีสีดำหรือสีเหลืองปนน้ำตาล มีตาโตสีดำ 1 คู่ หนวด 1 คู่ เป็นสีดำทั้งสองข้าง

ส่วนอก ส่วนใหญ่มีลักษณะกว้างออกทางด้านข้าง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บางชนิดอกขยายใหญ่คลุมส่วนหัวเอาไว้จนมองไม่เห็นส่วนหัว  เมื่อมองลงมาจากทางด้านบน ปีกคลุมท้องมิด  มองไม่เห็นอวัยวะส่วนท้อง ปีกของหิ่งห้อยมี 2 ปีก ปีกบนมีลักษณะทึบแสงไม่แข็งมาก ส่วนปีกล่างบางใส สีดำ หรือสีชา สีของปีกมีลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดของหิ่งห้อย

ส่วนท้อง ตัวผู้มีปล้องท้อง 6 ปล้อง ปล้องที่ 5 และ 6 เป็นที่ตั้งอวัยวะทำแสง ส่วน ตัวเมีย มีปล้องท้อง 7 ปล้อง และปล้องที่ 5 เป็นที่ตั้งอวัยวะทำแสงอวัยวะทำแสงนั้นมีสีขาว หรือขาวครีม

ส่วนขา ขาของหิ่งห้อยมี 3 คู่ ลักษณะเป็น 3 ข้อ มี 6 ขา ปลายขาของหิ่งห้อยมีของเหนียวเอาไว้ยึดเกาะกับต้นไม้และใบไม้

วงจรชีวิต

หิ่งห้อยเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก อาศัยเกาะอยู่ตามกอหญ้า และใต้ใบไม้ เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ฟองเดี่ยวตามพื้นดินหรือที่ชื้นแฉะ หรือใบพืชน้ำ ไข่ใช้เวลา 4-5 วัน จึงฟักเป็นตัวหนอน เจริญเติบโตจนกระทั่งเข้าดักแด้ และออกเป็นตัวเต็มวัย หิ่งห้อยมีวงจรชีวิตอยู่ 3-12 เดือน แล้วแต่ชนิด โดยทั่วไปแล้ว หิ่งห้อยบก( หิ่งห้อยโคก) มีวงจรชีวิตนาน ถึง 1 ปี ในขณะที่หิ่งห้อยน้ำส่วนใหญ่มีวงจรชีวิตสั้นกว่า

ช่วงตัวอ่อน หิ่งห้อยอาศัยตามดินเลน ส่วนตัวเต็มวัย กลางวันหลบซ่อนอยู่ตามใบวัชพืชต้นเตี้ยๆ ใกล้พื้นดิน พอพลบค่ำจึงบินขึ้นไปเกาะตามต้นไม้สูงและกระพริบแสงพร้อมกัน เพื่อสื่อสารกัน

หิ่งห้อย

หิ่งห้อย

การกำเนิดแสงหิ่งห้อย

แสงของหิ่งห้อยนั้น มีช่วงแสงที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ลักษณะเป็นแสงเย็น โดยมีพลังงานความร้อนเกิดขึ้นเพียง
10 เปอร์เซ็นต์ จึงแตกต่างจากหลอดไฟทั่วไป ที่ปล่อยพลังงานความร้อนออกมาถึง 95 เปอร์เซ็นต์

อวัยวะที่ทำให้เกิดแสงของหิ่งห้อย อยู่ด้านใต้ของปล้องท้อง 2 ปล้องสุดท้ายในตัวผู้
และ 3 ปล้องสุดท้ายในตัวเมีย ภายในปล้องมีเซลล์ขนาดใหญ่เรียกว่า โฟโต้ไซต์ อยู่จำนวน
7,000-8,000 เซลส์ เรียงกันอยู่เป็นกลุ่มรูปทรงกระบอกหลายกลุ่มภายใต้ผนังลำไส้ใส โฟโต้ไซต์จะเป็นที่ทำให้เกิดแสง มีท่ออากาศและเส้นประสาทเข้าไปหล่อเลี้ยงจำนวนมาก

แสงของหิ่งห้อย เกิดจากปฏิกิริยาชีวเคมีในร่างกายเริ่มจากสมองหลั่งสารเคมีชื่อ ไนตริกออกไซด์
ส่งสัญญาณไปที่เซลล์ส่วนท้อง ให้กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ โดยใช้ออกซิเจนร่วมด้วย แปลงสารเคมีในเซลล์เกิดเป็นพลังงานแสง โดยสารลูซิเฟอรีน (Luciferin) ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน โดยมีสาร อดิโนซีน ไตรฟอสเฟต (Adenosine   Triphosphate) เป็นตัวให้พลังงานทำให้เกิดแสง ผลึก ยูเรตที่ใต้ผิวหนังด้านท้อง ทำหน้าที่สะท้อนแสง
แสงเป็นผลจากปฏิกิริยาชีวเคมีภายในเซลล์ มีการผลิตแสงโดยไม่ใช้พลังงานความร้อน หิ่งห้อยทั้งตัวอ่อนและตัวโตเต็มวัยสามารถทำแสงได้ แสงของหิ่งห้อยมีสีเขียว อมเหลือง

การกะพริบแสงของหิ่งห้อยแต่ละชนิดแตกต่างกันไป การกระพริบแสงของหิ่งห้อยมีทั้งบินไปกระพริบไป เกาะทำแสงพร้อมกันบนต้นไม้ เช่น หิ่งห้อยที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลนเกาะทำแสงเหมือนไฟต้นคริสต์มาส และเปิดแสงแช่เอาไว้ แล้วบินไปมาคล้ายกับผีกระสือ หิ่งห้อยยังสามารถบอกถึงฤดูกาลได้อีกด้วย โดยเฉพาะพบหิ่งห้อยจำนวนมากบินออกมาผสมพันธุ์กันในช่วงต้นฤดูฝน และมีปริมาณลดน้อยลงในฤดูแล้ง

หิ่งห้อยเริ่มทำแสงเมื่อพระอาทิตย์ตกดินประมาณ 30 นาที และสามารถเห็นแสงได้ชัดเจนในคืนข้างแรมเดือนมืด
หิ่งห้อยกระพริบแสงเพื่อการผสมพันธุ์ และสื่อสารกับเพศตรงข้าม โดยที่ตัวผู้จะเป็นฝ่ายกระพริบแสงก่อน หากตัวเมียเห็นลีลากระพริบแสงแล้วพึงพอใจก็จะกระพริบตอบให้ตัวผู้รู้ว่าอยู่ที่ไหน จะได้บินไปหาคู่ได้ถูก

หิ่งห้อยแต่ละชนิดนั้นมันจะมีลีลาในการกระพริบแสงที่แตกต่างกัน อาทิเช่น การกระพริบแสงช้าเร็วต่างกัน
และลีลาการเปล่งแสงของหิ่งห้อยอาจเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่มันอยู่

ประโยชน์ของหิ่งห้อย

คือ เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์หรือความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และตัวอ่อนของหิ่งห้อยมักดำเนินชีวิตเป็นผู้ล่าเหยื่อ โดยกินไส้เดือนดิน หอย และทากเป็นอาหาร ในการล่าเหยื่อหิ่งห้อยใช้การตามรอยเหยื่อจากเมือกลื่นๆที่เหยื่อทิ้งไว้ตามรอยทางเดิน และเมื่อพบเหยื่อซึ่งโดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่กว่า ตัวอ่อนหิ่งห้อยจะปล่อยสารเคมีบางอย่างออกมาจากเขี้ยว (ซึ่งในแมลงเรียกว่า mandible แต่ในสัตว์มีกระดูกสันหลัง mandible หมายถึงขากรรไกรล่าง) ซึ่งจะมีฤทธิ์ทำให้เหยื่อเป็นอัมพาต หลังจากนั้นก็จะจับเหยื่อกินเป็นอาหาร

อาหารของหิ่งห้อย

ระยะที่เป็นตัวหนอน หิ่งห้อยกินหอยขนาดเล็กเป็นอาหาร ซึ่งหอยหลายชนิดเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์และสัตว์ เช่น โรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น และหอยบางชนิดเป็นศัตรูที่สำคัญของเกษตรกร เช่น ลูกหอยเชอรี่ เป็นศัตรูสำคัญที่กัดกินต้นข้าวในระยะลงกล้าและปักดำใหม่ๆ
ตัวอ่อนของหิ่งห้อยจะทำหน้าที่เป็นตัวห้ำกัดกินหอยเชอรี่ ทั้งที่เป็นลูกหอยและโตเต็มวัย นอกจากหอยต่างๆ แล้ว พวกกิ้งกือ ไส้เดือน และแมลงตัวเล็ก ก็ยังเป็นอาหารของหิ่งห้อยอีกด้วย
ใครจะรู้เล่า แมลงเล็กๆนี้ ช่วยรักษา ระบบนิเวศแห่งท้องทุ่งนาเฮา

นอกจากนี้ยังมีการพบว่า ตัวอ่อนหิ่งห้อยสามารถกินอาหารที่เป็นซากสัตว์ที่ตายแล้วได้ และเมื่อหิ่งห้อยโตเต็มวัยโดยทั่วไปมันจะกินนำหวานจากดอกไม้เพื่อใช้สร้าง พลังงานในการดำรงชีวิต ในระยะนี้หิ่งห้อยจะยังมีเขี้ยวอยู่ หิ่งห้อยบางชนิดใช้การพรางตัวเพื่อทำทีว่า “อยากจะผสมพันธุ์กับหิ่งห้อยอีกชนิดหนึ่ง” แต่จริงๆ แล้วก็เข้าไปเพื่อจับหิ่งห้อยอีกชนิดหนึ่งกินเป็นอาหาร

ส่วนในระยะโตเต็มวัย หิ่งห้อยจะอาศัยกินเฉพาะน้ำค้างเป็นอาหารเท่านั้น


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*