ข้าวโป่ง ขนมพื้นบ้านอีสาน

ข้าวโป่ง ขนมพื้นบ้านอีสาน ประวัติความเป็นมาของข้าวโป่ง มีมากมายหลายชนิด เช่น ข้าวจี่ ข้าวต้มมัด กระยาสารท ข้าวทิพย์ เป็นต้น บางชนิดก็คล้ายคลึงกับขนมพื้นเมืองของภาคอื่นๆ แต่ละชนิดล้วนมีความผูกผันกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ขนมอีสานที่มีคำว่า “ข้าว” นำหน้าอีกอย่างหนึ่งที่ทานแล้วไม่รู้จักเบื่อ ก็คือ “ข้าวโป่ง” จัดเป็นขนมอีสานที่มีมาแต่โบราณ

ในสมัยก่อนมีเรื่องเล่าว่ากลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ที่ว่างจากการทำไร่ทำนา ได้คิดทำขนมให้เด็กๆได้กินเล่นรวมทั้งได้เป็นเครื่องถวายทานด้วย นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้นำไปเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในพิธีบูชาข้าวในงานบุญเดือนสี่ บุญข้าวจี่ ชาวบ้านจะถวายข้าวจี่ ข้าวโป่ง แด่พระสงฆ์ เพื่อแสดงถึงความเคารพ จากนั้นนำบางส่วนใส่กระทงใบตอง แล้วนำไปวางที่หน้าธาตุบรรจุกระดูกของญาติตนเอง เพื่อให้คนที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รับประทานและจะมีการนำไปเป็นเครื่องถวายทานด้วยในบุญผะเหวด โดยจะย่างข้าวโป่งเพื่อใส่ในกันหลอนและถวายเป็นคายเทศ

การทำข้าวโป่งในสมัยก่อนจะมีสูตรและกรรมวิธีอย่างโบราณ และต้องใช้ความอุตสาหะในการทำ ดังนี้

1. จะต้องเอาข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วไปตำให้ละเอียดด้วยครกกระเดื่อง ภาษาอีสานเรียกว่า“ครกมอง” เพราะเวลานำข้าวโป่งไปปิ้งจะได้แผ่นข้าวโป่งที่สวยงาม ดังนั้น คนตำจึงต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง เพราะการตำข้าวเหนียวนึ่งสุกยากกว่าการตำข้าวเปลือกหลายเท่า

2. ในการตำต้องใช้เวลานาน เพราะครกกระเดื่อง มีน้ำหนักมาก เวลาใช้เท้าเหยียบปลายครกกระเดื่องแต่ละครั้ง ให้สากโขลกลงไปในครกนั้นจึงต้องออกแรง

3. เมื่อตำข้าวเหนียวนึ่งสุกละเอียดดีแล้ว คนอีสานจะเอาใบตดหมูตดหมาหรือกระพังโหม ขยี้กับน้ำสลัดกับครกไปพลางตำไปพลาง เพื่อให้ข้าวเหนียวจับตัวกันดี ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับของชาวอีสานเลยก็ว่าได้  จากนั้นเอาน้ำอ้อยมาโขลกแล้วตำผสมลงไปในครกกระเดื่อง เอาน้ำมันหมูทามือและปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนผสมกับไข่แดง

4. ต่อไปเอาก้อนข้าวเหนียวที่ปั้นวางบนไม้แผ่น รีดให้แผ่ออกเป็นแผ่นบางๆ ตัดใบตองเป็นวงกลมตามขนาดที่ต้องการ ทาน้ำมันหมูลงบนใบตอง แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่รีดข้าวเหนียวให้มีขนาดเท่ากับใบตอง แล้วนำไปตากให้แห้ง

5. การปิ้งข้าวโป่งจะใช้ฟืนก่อกองไฟขึ้นตรงลานบ้านให้ไฟแรงได้ที่ ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกสานห่างๆรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 อัน มีที่จับ

6. เวลาปิ้งเอาแผ่นข้าวโป่งตากแห้งวางบนไม้สานอันหนึ่ง ใช้มือจับชูอยู่เหนือกองไฟพอประมาณ แล้วพลิกไม้ไผ่สานให้แผ่นข้าวโป่งคว่ำลงบนไม้ไผ่สานอีกอันหนึ่ง ซึ่งใช้มืออีกข้างจับเตรียมรออยู่ใกล้ๆ คนปิ้งจะพลิกไม้ไผ่สานสลับกันไปมา จนกว่าข้าวโป่งจะสุก

7. การพลิกข้าวโป่งจะต้องทำด้วยความรวดเร็ว เพราะข้าวโป่งจะเหลืองเกรียมไม่เสมอกันหรืออาจจะไหม้ได้

นอกจากนี้ พบว่าชาวบ้านจะนิยมทำข้าวโป่งในฤดูหนาว หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ เพราะเวลาปิ้งข้าวโป่งจะอยู่หน้ากองไฟตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย อีกทั้งเป็นการพักผ่อนหย่อนใจอีกอย่างหนึ่ง ที่ได้ทำขนมไว้ทานในครอบครัวและสามารถนำไปขายได้ในราคาไม่แพงมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราคา 20 – 30 บาท แต่ปัจจุบันหาทานได้ยากแล้ว จะพบเจอบ่อยๆตามงานเทศกาลเท่านั้น

ข้อมูลและรูปภาพ

  • m-culture.go.th
  • hawaiimesa.org

1 ความเห็นที่มีต่อข้าวโป่ง ขนมพื้นบ้านอีสาน

  • ส่วนผสมตามข้อ 3 น่าจะเป็น”รากตดหมา” นะครับ จะนำมาขูดผิวออกให้สะอาดแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกทีนึง จากนั้นนำไปหั่นและต่ำด้วยครกให้ละเอียด แล้วนำไปละลายน้ำคลองด้วยผ้าขาวบาง แล้วนำน้ำนี้ไปใช้ทาครบมองและสาก เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวนึ่งติดครบและสาก
    เป็นการแสดงความเห็นเท่าที่ทราบมา ผิดถูกอย่างไรต้องขออภัยถือว่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันนะครับ

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*