หมวดหมู่ : อาหารอีสาน

งูสิงต้มส้มใบมะขามอ่อน อาหารป่าหากินยาก

งูสิงต้มส้มใบมะขามอ่อน เป็นอาหารอีสานจานเด็ดเลยก็ว่าได้  นอกจากจะเอางูสิงมาทำต้มส้มใบมะขามอ่อนแล้ว ยังนิยมนำไปทำงูสิงผัดเผ็ด ซึ่งจะมีรสชาติจัดจ้าน เผ็ดร้อน หอมเครื่องแกง

งูสิงต้มส้มใบมะขามอ่อน เป็นอาหารอีสานจานเด็ดเลยก็ว่าได้  นอกจากจะเอางูสิงมาทำต้มส้มใบมะขามอ่อนแล้ว ยังนิยมนำไปทำงูสิงผัดเผ็ด ซึ่งจะมีรสชาติจัดจ้าน เผ็ดร้อน หอมเครื่องแกง

งูสิง บางครั้งก็เรียกว่า งูเห่าตาลาน ถือเป็นเมนูปกติของคนอีสาน (ยังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน แต่งูสิงมีจำนวนลดน้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก จึงไม่ค่อยเห็นเมนูนี้)  ถ้าใครพบเจองูสิงแล้วเป็นอันต้องไล่ล่ามาทำอาหารให้ได้ บางบ้านก็จะใช้หมาที่เลี้ยงไว้ช่วยวิ่งไล่งูได้ด้วย เพราะหมาจะมีความรวดเร็วกว่าคน และยังสามารถมุดตามงูสิงไปในป่ารกได้ด้วย

เมื่อได้งูมาแล้ว ต้องนำมาเผาหรือย่าง ลอกหนังออก เลาะกระดูกสันหลังออก เอาเฉพาะเนื้อมาฉีกเป็นชิ้น ๆ เป็นวัตถุดิบสำหรับทำต้มส้มใบมะขามอ่อน เนื้องูสิงจะมีเนื้อสัมผัสที่แน่น นุ่ม คล้าย ๆ เนื้อไก่บ้าน น้ำของต้มส้มจะมีรสเปรี้ยวเผ็ด เมื่อเนื้องูสิงสีขาวหยวกกล้วยอมน้ำต้มส้มเอาไว้ เมื่อรับประทานเข้าไปจึงได้ทั้งรสชาติของเนื้องูสิงกับน้ำต้มส้มใบมะขามอ่อนคู่กันกลมกล่อมเลยทีเดียว

ส่วนผสมงูสิงต้มส้มใบมะขามอ่อน

  • งูสิงที่เตรียมไว้ 500 กรัม
  • ใบมะขามอ่อน 1 กำมือ
  • ตะไคร้ทุบสบเป็นท่อนสั้น ๆ 3 ต้น
  • พริกขี้หนูสวนทุบพอแตก 10 เม็ด
  • ใบแมงลัก 3 ยอด

เครื่องปรุงงูสิงต้มส้มใบมะขามอ่อน

  • ปลาร้าต้ม (กรองเอาน้ำ) 1 ถ้วยตวง
  • เกลือป่น ครึ่งช้อนชา

วิธีทำงูสิงต้มส้มใบมะขามอ่อน

  1. เอาหม้อแกงใส่น้ำปลาร้าที่กรอกเหลือแต่น้ำ เติมน้ำเปล่าเพิ่มอีกหน่อย
  2. เอาหม้อแกงตั้งบนเตาไฟ พอน้ำเดือดใส่งูสิงลงไป
  3. ใส่ตะไคร้
  4. รอให้เดือดสักพักแล้วใส่เครื่องปรุงลงไปทั้งหมด
  5. รอให้เดือนอีกครั้งแล้วชิมรส  งูสิงต้มส้มใบมะขามออกจะออกรสเปรี้ยวเค็มจึงจะอร่อย
  6. ยกหม้อลงจากเตา ตักใส่ถ้วย

งูสิงต้มส้มใบมะขามอ่อน กินกับข้าวเหนียวร้อน ๆ หรือจะกินกับข้าวสวยก็อร่อยไม่แพ้กัน มีแจ่วพริกผง (ทำจากพริกป่น น้ำปลา มะนาว คน ๆ ให้เข้ากัน) เสริมรสชาติขึ้นไปอีก หรือเพิ่มพริกขี้หนูสดเป็นเม็ดลงไปสำหรับคนที่ชอบความเผ็ดก็ได้เช่นกัน

 

แชร์
เซียงเหมี่ยง

เด็กผู้ชายบ้านนอก ที่เกิดและโตท่ามกลางความเป็นอีสาน จนซึมซับกลายเป็นความชื่นชอบและสนใจในประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และอีกหลาย ๆ อย่าง จนได้นำสิ่งเหล่านี้มาบอกเล่าในเว็บไซต์ อีสานร้อยแปด นั่นเอง