ตำกล้วยทะนีออง

เมนูวันนี้ คือ อาหารคลายเครียด ตามประสาคนบ้านเฮา  เป็นอาหารยามว่าง จับกลุ่ม โสเหร่
ชื่อเมนู ตำกล้วยทะนีออง
ชื่อ อังกฤษ   Check  Pop

ได้ยินว่า “ ตำกล้วย” บางคนบางท่าน เกิดอาการ “ส้มปาก” ขึ้นมาอย่างกะทันหัน เพราะเป็นเมนู
ที่จ๊วดด..!โดนใจหลายคน  มีคู่กับอีสานมานาน ต้นกำเนิดและ”ตำนาน” จนแหลกคามือ แม่ใหญ่สี
ไม่ทราบที่มาที่ไป ที่แน่ๆ เป็นเมนูดั้งเดิมของชาวอีสานเราเองนี่หละ ครับพี่น้อง

เนื่องจากตาม “ เฮือนซาน” ของคนอีสานแต่เก่าก่อน  มักปลูกพืชชนิดต่างๆ ไว้รายล้อมบ้านช่อง
ไม่ว่าจะเป็น กล้วย ว่าน หัวซิงไค มะยม มะเฟือง ต้นงิ้ว (ต้นนุ่น) มะพร้าว มะม่วง  มันสาคู  ขี้หมิ่น ว่านไฟ
แต่ที่ต้องมีทุกบ้าน คือ ต้นกล้วย  เพราะประโยชน์ใช้สอย อเนกอนันต์

กล้วยตานี หรือ กล้วยทะนีออง จึงเป็นตัวเลือกหนึ่ง ในการปลูก การฝัง ไว้ตาม หลังบ้านเรือน
เพื่อใช้ใบตอง ในการห่อ บรรจุผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น  ส่วนผลสุกของมัน ไม่นิยมกินมากนัก
เนื่องจาก มี”ไน”  หรือ เมล็ดมาก น่ารำคาญ ในการ “ลึด” ส่วนมาก นิยมกิน “กล้วยตีบ” มากกว่า

เมนูนี้แม่บ้านแม่เรือน ชาวอีสาน ที่จับกลุ่มกับประสาพี่น้อง นั่ง”ต่ำหูก” (ทอหูก)  นั่งโสเหร่เฮฮา
หรือ “ผู้สาวพวมแวง”  จับกลุ่มคุยกันยามว่างงาน คิดหาเมนูของกิน “จ๊วด จ๊วด” สร้างสีสันบรรยากาศ
ส่วนประกอบมีดังนี้
1.กล้วยทะนีออง “พวมแก่”
2.ตกปุ๊ก !   ข้างซี่  2-3 ลูก ( บักเฟียง หรือภาคกลางเรียก มะเฟือง )

3.บักเผ็ด
4.กระเทียม
5.ปลาแดก “ต่วง”
6. น้ำอ้อย  หรือใช้น้ำตาลแทนก็ได้
7.ผงนัว
8.บักนาว 1-2 หน่วยแล้วแต่
9. ผักอีเลิศ หรือ คูณหญิงประเสริฐ 1 กำใหญ่
อนึ่งหากหา ตกปุ๊ก ข้างซี่ ไม่ได้ หา มะยม หรือ บักเม่า  บักม่วงดิบแทนก็ได้  ไม่จำกัด เหมือนตลับไม้ขีดไฟ
อีกทั้งเมนู นี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชื่นชอบ ใส่มะเขือเปราะลงไปได้ ตามแต่ความชอบ และตามแต่ผลไม้ในฤดูกาล

ตำกล้วย

ตำกล้วย

วิธีทำ

1.ฝานกล้วยทะนีอองดิบ เป็นแว่น ๆ อย่าให้หนามาก
2.ฝานมะเฟืองเป็นแว่นบางๆ  เพิ่งพิจพลาง คิดถึงปลาดาว ในทะเลใส ฟ้าสวย
3.ตำบักเผ็ดในครก โขกกับกระเทียมจนแหลก
4.นำกล้วยที่ฝานเตรียมไว้ ลงตำ ให้ละเอียดพอประมาณ
5. ใส่น้ำปลาแดก ลงไป พอควร
6. ใส่มะเฟืองลงไป ตำนิดหน่อย
7. บีบมะนาว ใส่น้ำตาล ผงนัว  ลงปรุงรส
8. ยกมาปันกันกิน พร้อมด้วย ผักอีเลิศของแกล้ม

ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตชาวอีสาน

คนอีสานเชื่อว่า ใครที่กินตำกล้วยแล้ว “ไอ”  หรือจาม แสดงว่า เป็น “ปอบ” หรือ pop ในภาษาฝรั่งดังโม
ตำกล้วยจึงเป็นอาหาร “เช็ค ปอบ” หาตัวการว่าใครเป็น “ปอบ”

อันว่า ปอบ นั้นคือ ผู้ที่ร่ำเรียน วิชาอาคม มาแล้ว ไม่สามารถ รักษาของ รักษาจารีต ข้อห้าม กฎข้อบังคับได้
จนกลายเป็น “ผี”ชั่วร้าย ทำลายความสงบสุขของคนในหมู่บ้าน

อนึ่ง ผู้มีวิชาแล้ว เที่ยวระรานคนอื่น เอาเปรียบ เบียดบัง  ก่อกวนประโยชน์สุขส่วนรวม  เรียกว่า ผีปอบ ได้เช่นกัน
จริง ๆ แล้ว เป็นกลอุบาย ในการสร้างความสนุกสนานในการกินอาหารเมนูนี้ ของชาวอีสาน ครับ
เพราะการกิน “ตำกล้วย” เป็นเมนู ที่เหมาะแก่การ กินเป็นหมู่เป็นคณะ  ต้องมีการ ล้อเล่นกัน
เพื่อความสนุกสนาน  ม่วนซื่นโฮแซว ตามประสาจริต

บางคนกินตำกล้วยแล้ว คันคอ แต่ก็อดทนไว้ กลัวถูกว่า เป็น”ปอบ”   เผ็ดก็เผ็ด เปรี้ยวคัน  แต่ก็ “ อดเอา” พะนะ
จนกระทั่ง ขี้มูกน้ำตาแตกคาดลาด  “หัวขวน” กันทั้งวง

สอบถามแม่ใหญ่สี  ทราบว่า ที่กินตำกล้วยแล้ว”คันคอ”  เป็นปอบจริงไหม
แม่ใหญ่สี ตอบตามภูมิปัญญาของแกว่า ที่มันคัน เพราะตำกล้วย “ บ่พอปลาแดก และของส้ม “
แว๊บมาถาม คูบาต้องแล่งแตนลาม  เอกวิทยาศาสตร์   ทราบว่า
อาการคันคอ ทำให้ไอหรือจาม ในขณะกินตำกล้วย เกิดจาก  สารแคลเซียมออกซาเลท ในกล้วยดิบ
การเติม “กรด” จะเป็นการเปลี่ยนสภาพให้เป็นสารอื่นที่ระคายเคืองน้อยลง พะนะ
เอ้า..แล้วน้ำปลาแดกกับของส้ม  เป็น กรด หรือด่าง ครับอาจารย์
“ มันเป็นของกิน” พะนะ   ญาคูตอบ  ขะน้อยเลย เบิ๊ดควมสิส่อ

ตำกล้วยทะนีอง เป็นเมนูของชาวอีสาน ที่เน้นรสชาติ จี๊ดจ๊าด ถึงใจ  หายง่วง เป็นปลิดทิ้ง
ซ้ำยังออกแบบ มาให้กินกันเป็นกลุ่ม สร้างมิตรไมตรี แบ่งปันความสนุกสนาน
สะท้อนภาพลักษณ์ของชาวอีสานได้เป็นอย่างดี


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*