ผึ้งโกน ( เผิ่งโกน )

ชื่อพื้นบ้าน         เผิ่งโกน
ชื่อภาษาไทย     ผึ้งโพรง
ชื่อสามัญ          Asiatic honey bee
ชื่อวิทยาศาสตร์   Apis cerana indica Fabricius
Class: Insecta
Order: Hymenoptera
Family: Apidae
Genus: Apis

กล่าวนำ

เผิ่งโกน (ภาษาถิ่น) หรือผึ้งโพรง ป็นแมลงพื้นบ้านของไทย  มีในถิ่นแผ่นดินอีสานมานาน
หลายล้านปี ตามที่มีบันทึกของนักวิทยาศาสตร์กล่าวไว้
เผิ่งโกน(ผึ้งโพรง) มี 3 สายพันธุ์
ได้แก่ ผึ้งโพรงฝรั่งดังโม ผึ้งโพรงญี่ปุ่น ผึ้งโพรงอินเดีย

เผิ่งโกน หรือผึ้งโกน บ้านเฮา อยู่ในวงษ์ของ ผึ้งโพรงอินเดีย
ตามหลักฐานตำรา มีการพบตั้งแต่ อินเดีย พม่า ไทย ลาว ไปจนถึงแถบอินโดจีน
บันทึกว่าในประเทศไทย  พบมากในแถบ ภาคใต้ ภาคเหนือ
สำหรับภาคอีสาน ตกสำรวจอีกแล้วไม่มีใครบันทึก จึงขอบันทึกไว้ว่า
ในภาคอีสาน ตามป่าโคก(ป่าแดง)  ป่าเบญจพรรณ ผู้เรียบเรียงพบเห็นเสมอ
ตอนเลี้ยงควายเลี้ยงวัว บางครั้งก็มีส่วนร่วมในการ “เจาะโกน” อูดเอาน้ำหวานประจำ

“เผิ่งโกน” เป็นผึ้งขนาดกลาง ตัวใหญ่กว่ามิ้ม  เป็นสัตว์ในระบบนิเวศน์ของท้องถิ่น
เป็นดัชชีบอกว่า สภาพแวดล้อมดี ปลอดภัยต่อสารพิษตกค้าง เมื่อบริเวณถิ่นใด
มีผึ้งชนิดนี้อยู่แสดงว่า สภาพแวดล้อมปลอดภัยต่อมนุษย์เช่นกัน

ผึ้งโกน

ผึ้งโกน

ลักษณะทั่วไป

เผิ่งโกน มีลำตัวเล็ก บินได้แคล่วคล่อง มีลำตัวสีเหลืองสลับดำเป็นปล้องๆ
มีปากแบบดูดเลีย มีตารวม 1 คู่ และมีตาเดี่ยวอยู่อีก 3 ตา
มีหนวดประมาณ 10 ปล้องขึ้นไป
มีปีก 2 คู่  ปีกคู่หลังเล็กกว่าปีกคู่หน้า  ขาคู่หลังออกแบบให้เก็บเกสรดอกไม้
มีเอวคอดกิ่ว (แต่กิ่ว ไม่สู้เอวมดตะนอย)  มีเหล็กในเช่นเดียวกับผึ้งทั่วไป
ผึ้งเป็นสัตว์แบ่งชั้นวรรณะ (คล้ายสังคมมนุษย์ที่แบ่งชนชั้น )
1.ผึ้งนางพญา ( ผึ้งเพศเมีย)
2.ผึ้งงาน
3.ผึ้งเพศผู้

การแบ่งวรรณะภายในรังของผึ้ง แบ่งตามบทบาทหน้าที่
นางพญาคือสุดยอดนักวิทยาศาสตร์
ที่ตัดแต่งพันธุกรรมประชากร กำหนดจำนวนของผึ้งแต่ละชนิดในรัง
ตามสภาวะที่ผันแปร เพื่อความอยู่รอดของอาณาจักร
ไม่ได้ดัดแปรงตามผลประโยชน์ส่วนตน ผึ้งงานแต่ละตัวมีความเสียสละเป็นล้นพ้น
ทุ่มเทสุดกำลังเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ และผลประโยชน์ส่วนรวม
จำนวนประชากรของรัง อยู่ที่ 6,000 – 7,000 ตัว

วงจรชีวิต

เผิ่งโกน(ผึ้งโพรง)  มีการเจริญเติบโตแบบ “ถอดรูปสมบูรณ์แบบ” 
ระยะการเจริญเติบโต มี 4 ระยะได้แก่
ระยะไข่ ระยะหนอน ระยะดักแด้ และ ระยะโตเต็มวัย
มีช่วงเวลาในการเติบโตแต่ละวรรณะ ตามตารางด้านล่าง

ถิ่นที่อยู่อาศัย

ชอบที่อยู่ในสภาพที่เป็นปาโปร่ง มีความชื้นดี มีพืชที่ออกดอก
และออกผลปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นพืชท้องถิ่น หรือผลไม้ที่ชาวสวนปลูก
ผึ้งประเภทนี้ชอบดอกของต้นไม้และดอกหญ้า
จึงทำให้เป็นแมลงที่ไวต่อสารเคมีในสภาพแวดล้อม
การทำรังนั้นอาศัยโพรงไม้ หรือโพรงในต้นไม้ในป่า จึงได้ชื่อว่า”เผิ่งโกน”
การแยกรัง หรือย้ายรัง ของผึ้งชนิดนี้ เกิดขึ้นบ่อยกว่าผึ้งชนิดอื่น
เหตุผลในการแยกรังทิ้งรัง คือ มีศัตรูรุกราน อาหารขาดแคลน
จำนวนประชากร เหมาะสมเป็นต้น

สภาพที่เหมาะในการทำรังของเขานั้น คือ
มีต้นไม้ยืนต้นที่ให้ดอกผล มีความชุ่มชื่น
อยู่ใกล้แหล่งน้ำ โพรงของไม้ยืนต้นจำเป็นมากสำหรับแมลงชนิดนี้

บทบาทและประโยชน์ตามธรรมชาติ
เผิ่งโกน(ผึ้งโพรง) คือแมลงที่มีประโยชน์ต่อโลก ช่วยในการผสมเกสรต้นไม้ให้ติดผล
ให้ต้นไม้ได้ผลดี ขยายพันธุ์ได้บริบูรณ์ และยังเป็นอาหารของสัตว์ต่างๆในป่า
สร้างประโยชน์ให้แก่ มวลมหาประชาชนโดยไม่ต้องเลือกตั้ง
น้ำผึ้งจากผึ้งโพรงมีรสหวานหอม มีประโยชน์มากมาย

เกษตรไทยได้เจริญรุดหน้า ดัดแปลงธรรมชาติด้วยภูมิปัญญา
สามารถเลี้ยงผึ้งโพรงในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สร้างกล่องให้ผึ้ง
ทำรัง ในป่า ในสวน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเลี้ยงชีพได้

บทบาทหน้าที่ของชาวเราคือการเข้าใจธรรมชาติและความเกี่ยวข้อง
โยงใยกันเป็นเป็นระบบนิเวศน์ และหยิบเอาความเข้าใจนั้น
มาประยุกต์ดัดแปลงให้ดำรงอยู่ร่วมกัน

สิ่งสำคัญคือป่าโคก และพันธุ์ไม้ยืนต้นท้องถิ่น
หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ เผิ่งโกนก็อันตธานหายไปเช่นกัน


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*