แมงแคงกุง

ชื่อพื้นบ้าน  แมงแคงกุง
ชื่อวิทยาศษสตร์  Mattiphus splendidus 
class Insecta –
order Hemiptera
family Tesseratomidae

ในบรรดาแมงแคง ในภาคอีสาน “แมงแคงกุง” เป็นแมงแคงที่ตัวใหญ่ที่สุด และหายาก
เนื่องจากมีลักษณะจำเพาะ ชอบอยู่ตาม ต้นกุง (ต้นพลวง) อาศัยดูน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน
ใบอ่อนของต้นกุงเป็นอาหาร  บางท่านเพิ่งเข้ามาหาความรู้เรื่องแมลงแมงไม้ ในอีสาน
ขอเรียงลำดับจากความใหญ่ของแมลงจำพวก”แมงแคง”ดังนี้ ขะรับ
1.แมงแคงกุง
2.แมงแคงค้อ
3.แมงแคงจิก
4.แมงแคงขาโป
แมงแคงกุงนั้นดำรงสายพันธ์อยู่ได้เพราะต้นกุง (ต้นตองตึง)  หากไม่มีต้นกุง เขาก็สูญพันธุ์ครับ

ต้นกุง (ต้นตองตึง)

เป็นต้นไม้ประจำถิ่นอีสานประจำป่าโคก มนุษย์ในถิ่นนี้ใช้ประโยชน์ต้นไม้ชนิดนี้
มาตั้งแต่โบราณกาล เช่น ใบ นำมาตากแห้ง ทำวัสดุมุงหลังคา “แอ้มฝา” ทำผนังกั้น
เรียกว่า “ฝาแถบตอง”
ใช้ห่อของกิน( นึกไม่ออกว่าสำคัญขนาดไหน ให้คิดถึงถุงพลาสติกในปัจจุบัน)
ยางของไม้กุง นำมาทำ”ขี้กะบอง” หรือ”ขี้ไต้” เพื่อให้แสงสว่างในเวลาค่ำคืน
(นึกไม่ออกว่าสำคัญขนาดไหน คิดถึง หลอดฟูออเรสเซนต์ ในปัจจุบัน )

ลำต้น นำมาทำไม้แปร ในการสร้างบ้าน  กิ่งก้านเปลือก นำมาทำเชื้อเพลิงในครัว
(คิดไม่ออกว่าสำคัญขนาดไหน ให้คิดถึงแก๊สหุงต้ม)
แถมยังเป็นที่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ในระบบนิเวศน์ “ป่าโคก” คุณค่าแห่งแผ่นดิน
คิดไปตามประสาคนช่างคิด  ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตใดเอื้อประโยชน์ให้มนุษย์ได้มากมาย
และสำคัญขนาดนี้  นอกเสียจาก “อ้อย” และ “ยางพารา”

แมงแคงกุง

แมงแคงกุง

ลักษณะทางกายภาพ

แมงแคงกุง มีลักษณะ   รูปทรงคล้ายโล่  ก้นไม่เพรียวเหมือนแมงแคงประเภทอื่นๆ
ลำตัวโตได้ถึง 30 ซม. – 40 ซม. นับว่ามีขนาดใหญ่ ปีกมีสีน้ำตาล – ดำ มีขา 6 ขา สีอมเขียว

แหล่งที่พบ

ตามยอดต้นกุง(ต้นตองตึง ต้นพลวง) )  ในป่าโคก (ป่าแดง) ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ – อีสาน
ไปจนถึง ลาว และ จีนตอนใต้ โดยพบมากที่สุดในเขตประเทศลาว เป็นแมลงที่ถิ่นอาศัยจำเพาะ

วงจรชีวิต

เดือน มี.ค. – เม.ย. คือฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ ตามใบไม้พุ่มไม้ในป่าโคก วางไข่ 15- 30 ฟอง
เพื่อผสมพันธุ์ และวางไข่แล้ว มันจะตายลงไ ข่มีอายุได้ 15 วัน ก็จะฟักเป็นตัวอ่อน
มีอายุ 60 วัน และจะเจริญวัยเป็นตัวเต็มวัย มีปีกหางครบ โบยบินเสรี
ศัตรูในธรรมชาติของมันคือ  นก กิ้งก่า แมงม้า กระรอก และคนเรานี่หละครับ

ประโยชน์และความสำคัญ

แมงแคงกุง เป็นส่วนหนึ่งของวงจรห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ เติมเต็มระบบนิเวศน์
และเป็นอาหารของ สัตว์ต่างๆ ในฤดูแล้ง และมนุษย์ผู้พึ่งพิงธรรมชาติ เป็นสินค้าสร้างรายได้ ในฤดูกาล
ชาวอีสาน มักหาจับมากินในช่วง มี.ค. –เม.ย. (ในช่วงอื่นไม่นิยมกิน หาจับยาก)
นำมาประกอบอาหารรวมกับแหล่งโปรตีนอื่น เช่นทำน้ำพริกแมงแคง กินเพื่อดำรงชีวิต

ข้อควรระวัง

แมงแคงกุง สามารถผลิตสารเคมีที่เป็นกรด เพื่อป้องกันตัวเองจากนักล่า
มีผลแสบร้อน หากเข้าตาเป็นอันตราย หากเราจับตัวมันถูกมันพ่นสารถูกมือ
ก็จะเกิดอาการ “มือเหลียงอ่อยห่อย” กว่าจะล้างออกก็ประมาณ 7 วันเด้อ

ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตคนอีสาน

ช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย อีสานจะเข้าสู่ฤดูแล้งร้อน “ฮ้อนตับสิแตก” น้ำท่าแห้งขอด
แต่ป่าโคกก็ไดประทาน แมงแคงกุง  มาเพื่อเป็นอาหารของ สัตว์ต่างๆ รวมทั้ง
ผู้คนที่ยังรักษาป่าโคกไว้ เป็นทรัพยากรท้องถิ่นที่สำคัญ ให้คนมีอยู่มีกิน
ในภาคอีสานบ้านเฮา นำมาทำ “แจ่วแมงแคงกุง” หรือ น้ำพริกแมงแคง แซบหลายเด้อ
กลิ่นหอมนัว กว่าแมงแคงค้อ  รสชาติถูกปาก หรือ ”คั่วกิน” ก็หอมยิ่งนัก

การล่ามันเพื่อเป็นอาหารแค่กิน ไม่ทำให้มันสูญสิ้นเผ่าพงษ์ เนื่องจากกินเป็นฤดูกาล
แต่”การทำลายป่าโคก” ต้นกุงให้หายไปจากท้องถิ่น คือการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์
ไปตลอดกาล ไม่อาจสร้างทดแทนขึ้นมาใหม่ได้ เมื่อไม่มีป่าโคกและทรัพยากรเหล่านี้
ท้องถิ่นจะประสบความขาดดุลเป็นลูกโซ่ ส่งผลถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ร้อนรน
ขาดความเชื่อมโยงกันระหว่างธรรมชาติกับชีวิต ละคลายความสนใจในท้องถิ่นตนลงทีละนิด
จนกระทั่งขาด”อัตตลักษณ์” ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวเหลียวแล ขามความอุดมสมบูรณ์ไปตลอดกาล

เมื่อขาดสิ่งยึดเกี่ยวจิตวิญญาณต่อวิถีชีวิต จึงไร้หลักลอย ไม่สนในแผ่นดิน ไม่สนในผู้คน
ไม่สนใจกันและกัน ไม่สนใจประเทศชาติ  สนใจแต่ตัวเอง และทำลายศีลธรรมลงในที่สุด

ปัจจุบัน”แมงแคงกุง” หาดูได้ยากครับ  เพราะป่าต้นกุงใกล้หายไปจากแผ่นดินแล้ว
ทำให้ลูกหลานชาวเรา ไม่ค่อยรู้จัก “แมงแคงกุง”


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*