น้ำลายผีเป้า

ชื่อพื้นบ้าน     น้ำลายผีเป้า
ชื่อภาษากลาง   มวนน้ำลาย
ชื่อภาษาอังกฤษ  : Spittle bug
ชื่อวิทยาศาสตร์  :Philaenus spumarius
ชื่อสามัญ  Cephisus siccifolius
Class:  Insecta
Order:  Hemiptera
Suborder: Auchenorrhyncha
Infraorder: Cicadomorpha
Superfamily: Cercopoidea
Family: Aphrophoridae

ลักษณะทางกายภาพ

ลำตัวยาว 6 – 10 มม. คล้ายมวนจั๊กจั่น ลำตัวทรงสามเหลี่ยม
มีหลังงุ้ม ปีกสั้น ขาคู่หลัง มีลักษณะแข็งแรงแปลกจากขา 2 คู่หน้า
มีสีขาวขุ่น ลายน้ำตาลไปจนถึงสีดำ หลากหลายสี ตามถิ่นที่อยู่
มันสามารถกระโดด ในแนวดิ่งได้ไกลถึง 50 – 70 ซม.

ถิ่นอาศัย

อยู่ตามทุ่งหญ้า เกาะตามต้นหญ้า ต้นไม้ระดับต่ำ
เป็นแมลงเล็ก ๆที่ดูดกินน้ำเลี้ยง ของกอหญ้า ต้นไม้เล็ก ๆเป็นอาหาร
พบเห็นได้ตาม กอหญ้า ยอดหญ้า หลากชนิด
เป็นแมลงสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้เก่ง จนอยู่รอดได้แม้ใน ทวีปยุโรบ
และอเมริกากลาง

ลักษณะนิสัย

ชอบอยู่ตามทุ่งหญ้า ใบหญ้า  หรือพุ่มเตี้ยๆ ไม่เคยอยู่สูง
เกิน 50 ซม. จากพื้นดิน  ดูดกินน้ำเลี้ยงของต้นหญ้าในท้องถิ่น
โดยเฉพาะ ต้นหญ้าอวบน้ำ กลางวันมักหลบใต้กอหญ้า
เมื่อเข้าหน้าหนาว ฤดูแล้ง ประมาณ เดือน ต้นเดือน ต.ค. ไปจนถึง ธ.ค.
มันจะผลิตฟองน้ำลาย ทำเป็นรัง และเพื่อปกป้องตัวเอง
จากการเจอสภาพอากาศแห้ง สูญเสียความชื้น
ป้องกันตัวจาก มดและ แมลงมุมนักล่า ทั้งหลาย

รังที่ทำจากฟองน้ำลายของมันที่เอง เป็นที่มาของชื่อของมัน
รังน้ำลาย มีลักษณะเหมือนคน ถ่มน้ำลายทิ้งไว้
ทางภาคอีสานบ้านเฮา เรียกมันว่า ” น้ำลายผีเป้า”
ซึ่งจะมีให้เห็นตาม ทุ่งนา ท้องทุ่ง ลานหญ้าทั่วไป

แมงน้ำลายผีเป้า

แมงน้ำลายผีเป้า

วงจรชีวิต

แมงน้ำลายผีเป้า มีการเจริญเติบโตแบบ เมทามอร์โฟซิส (metamorphosis)
แบบค่อยเป็นค่อยไป (gradual metamorphosis) ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่
มีรูปร่างคล้ายพ่อแม่ แต่มีอวัยวะบางอย่างไม่ครบ เช่น ไม่มีปีก
เมื่อโตขึ้นและลอกคราบปีกจะเริ่มงอกขึ้นเรียกตัวอ่อนระยะนี้ว่า นิมฟ์ (nymph)
ต่อจากนั้นก็จะมีการลอกคราบหลายครั้งและเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป
เริ่มจากตัวเต็มวัย วางไข่ ตามเปลือกไม้ ในเดือน ม.ค. – ก.พ.
แล้วหมดอายุขัย ไข่จะฟักตัวเมื่อ เดือน พ.ค. – มิ.ย.  เติบตัวเป็น nymph
หรือตัวอ่อน หากินตามพุ่มหญ้า พงหญ้า ลอกคราบโตขึ้นเรื่อยๆ

จนถึงต้นเดือน ต.ค. ตัวอ่อน เจริญถึงขีดสุด ประกอบกับช่วงฤดูแล้ง
ฝนขาด ลมแล้ง ลมหนาวเริ่มกลายย่าง ตัวอ่อน จึงผลิต “น้ำลาย”
โดยการ พ่นน้ำลายผสมฟองอากาศ เป็นสารละลายข้น คล้ายน้ำลายมนุษย์
ทำเป็นรัง เพื่อปกป้องตัวเอง โดยจะค่อยๆ ก่อเป็นรูปร่าง ตามต้นหญ้า
เพื่อหลบเร้นจากจาก สูญเสียความชื้น และหลบภัย จากมด ง่าม มดตะนอย
มดแดง แมงมุมกระโดด แมงมุมใบข้าว แตนเบียน
และนกที่หากินตามพื้นดิน ชนิดต่างๆ
ที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของมัน

เมื่อเดือน พ.ย. -ธ.ค. มันจะลอกคราบ ในเวลากลางคืน กลายมาเป็น
“ตัวเต็มวัย” มีปีกและอวัยวะครบเหมือนพ่อแม่ แล้วเริ่มโบยบินสู่ราวป่า
เมื่อต้นหญ้าเริ่มเหี่ยวแห้งไปตามฤดูกาล จึงเข้าไปอาศัยร่มไม้พุ่มไม้
ที่ยังไม่ผลัดใบเป็นที่อาศัย และสืบพันธุ์ต่อไป

บทบาทและความสำคัญในธรรมชาติ

เนื่องจากเป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก จนเราแทบไม่ทันสังเกตเห็น
โลกของแมลง จึงไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด ในมิติของมนุษย์
แต่ “แมงน้ำลายผีเป้า” คือ อาหารของ แมลง , สัตว์ชนิดอื่นในท้องถิ่น
เช่น นกคุ่ม นกเอี้ยง นกจิบเฟียง นกเขา ซึ่งสัมพันธ์กันตามห่วงโซ่
ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนเกิดมาเพื่อสมดุล ในความหลากหลายของกันและกัน
สายใยของธรรมชาติ ที่ยึดโยงกัน เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง และแสนเปราะบาง
แมงน้ำลายผีเบ้า บ่งบอกถึง สภาพระบบนิเวศน์ ที่บริสุทธิ์ไร้สารพิษตกค้าง
ทั้งนี้คือดัชนีแห่งความ สมดุลของห่วงโซ่อาหาร ที่ยังพอมีอุ้มชูสัตว์ทั้งหลาย

ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตอีสาน

ในช่วงเกี่ยวข้าว เมื่อลมหนาว พัดผ่านบอกถึงการผันเปลี่ยนของฤดูกาล
มักจะเห็น ฟองน้ำลาย ประหลาดตามกอหญ้า กอผักกะแยง หรือตามลานหญ้า
ที่ยังพอมีความชุ่มชื้น  พ่อบอกว่า นั้นหละ “น้ำลายผีเป้า”
ผีเป้ามันหากินกลางคืน  หากินกบกินเขียดดิบ ๆ พูดซะจนน่ากลัว
บ่ต้องย้าน(กลัว) ดอก มันเป็น”แมงไม้” ว่าพลางเอาฟางแห้ง เขี่ยฟองน้ำลายออก
เผยให้เห็น แมลงเล็ก ๆ ที่สร้างสิ่ง มหัศจรรย์
ที่คนโบราณบอกว่า “ผีเป้า” คือให้มีความหวั่นเกรงธรรมชาติ
มิให้ทำลายล้างสิ้น เอาเปรียบธรรมชาติจนเกินเลย นั่นเพราะเรา
ดำรงอยู่ ด้วยธรรมชาติ ด้วยฟ้าด้วยฝน ด้วยต้นไม้ใบหญ้า

พวก”ผีเป้า” หากินดิบเถื่อนทำลายล้าง ทุกสิ่งเพื่อเอาเปรียบคดโกง
พวกนี้ ชอบถ่มน้ำลาย ดูถูกธรรมชาติ ดูถูกต้นไม้ใบหญ้าและผืนดิน
ไม่เยินยอใคร นอกจากตัวเอง


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*