ว่านนกคุ้ม สมุนไพรและไม้มงคลที่ควรมีติดบ้าน
ไม้มงคลที่ทุกบ้านควรต้องมีไว้ เป็นความเชื่อมาตั้งแต่โบร่ำโบราณว่า ว่านนกคุ้ม เป็นว่านที่ช่วยคุ้มภัยอันตรายให้กับผู้ปลูกและครอบครัว โดยเฉพาะในเรื่องของอัคคีภัย ปัดเป่าโรคภัย สิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ให้ออกไปจากบ้านของเรา และนอกจากทางด้านความเชื่อแล้วยังเหมาะกับการปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะลายของใบว่านมีความสวยงาม ลายด่าง ขาว เขียว สลับกับเหมือนกับลายของปีกนกคุ้ม จนเป็นที่มาของชื่อว่าน วันนี้อีสานร้อยแปดเราจึงได้ไปรวบรวมข้อมูลรอบด้านมาให้เพื่อน ๆ ได้ศึกษากัน
ว่านนกคุ้ม เป็นพืชในสกุลเปราะ (บางครั้งก็เรียกสกุลตูบหมูบ) อยู่ในวงศ์ขิง เป็นพืชล้มลุก ลักษณะเด่นของพืชสกุลเปราะ คือ ทุกส่วนของพืชมีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหย (คล้ายกันกับขิง) โดยเฉพาะส่วนของเหง้าจะมีกลิ่นและมีน้ำมันหอมระเหยมากที่สุด ในประเทศไทยพบพืชสกุลเปราะหรือสกุลตูบหมูบนี้มากกว่า 25 ชนิด เช่น
- เปราะป่า (Kaempferia pulchra Ridl.) ใช้เป็นไม้ประดับ บางท้องถิ่นเรียก ว่านนกคุ้ม
- เปราะใหญ่ (Kaempferia elegans (Wall.) Baker) บางท้องถิ่นเรียก ว่านนกคุ้ม (คล้ายเปราะป่า แต่ที่จริงแล้วเป็นคนละชนิด)
- ตูบหมูบ (Kaempferia marginata) ใช้เป็นอาหาร
- ตูบหมูบ (Kaempferia marginata Carey)
- ตูบหมูบ (Kaempferia parviflora Wall. ex Baker)
- กระชายดำ (Kaempferia parviflora) ใช้เป็นสมุนไพร
- ปราบสมุทร (Kaempferia angustifolia Rosc.)
- เปราะหอม (Kaempferia galanga)
- สาริกาลิ้นทอง (Kaempferia gilbertii W.Bull.)
- ตูบหมูบมหาสารคาม (Kaempferia mahasarakhamensis Saensouk & P. Saensouk)
- ว่านหาวนอน (Kaempferia rotunda L.) บางท้องถิ่นเรียก ว่านเฒ่าหนังแห้งป่า (สระแก้ว), ว่านนกคุ้ม (พิษณุโลก)
- เปราะหอมป่า (Kaempferia albomaculata Jenjitt. & Kaempferia Larsen)
- เปราะป่า (Kaempferia marginata Caray ex Roscoe) บางท้องถิ่นเรียก ว่านตูบหมูบ (อุดรธานี)
- เปราะป่า (Kaempferia sp.)
- และอื่น ๆ ที่ไม่ได้ยกมาในบทความนี้
จะเห็นว่าพืชสกุลเปราะ (Kaempferia) มีหลายชนิด บางชนิดมีชื่อเรียกคล้าย ๆ กันหรือบางชนิดก็เรียกชื่อเดียวกันก็มี เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน บทความนี้จะพูดถึง ว่านนกคุ้ม ที่มีชื่อเรียกทางการ “เปราะป่า” “เปราะใหญ่” และ “ว่านหาวนอน” เป็นหลัก
ว่าน พืชที่เป็นมากกว่าไม้ประดับ
“ว่าน” เป็นคำที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อต้นไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ที่ใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรและไม้ประดับบางชนิด ว่านหลายชนิดถูกเรียกว่า “ว่าน” จนติดปากและเป็นที่รู้จักกันมาแต่โบราณ
จากการสืบค้นพบว่ามีการกล่าวถึงว่านในหนังสือตำรายาไทย ชื่อ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ รวบรวมโดย พระยาพิศประสาทเวช ในปี พ.ศ. 2452 และหนังสือชื่อ แพทย์ตำบล เล่ม 2 รวบรวมจัดพิมพ์โดย พระยาแพทย์พงศา วิสุธาธิบดี (สุน สุนทรเวช) ต้นตระกูลสุนทรเวช
ในปี พ.ศ. 2464 หนังสือทั้ง 2 เล่ม กล่าวถึงว่าน (4 ชนิดเท่านั้นคือ ว่านก็บแรด ว่านนางคำ ว่านหางช้าง ว่านน้ำ และว่านเปราะ แต่หลังจากปี 2464 เป็นต้นมา ว่านจึงเริ่มเป็นที่แพร่หลาย มีตำราที่กล่าวถึงลักษณะว่าน ตำราที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับว่านเพิ่มขึ้น
ในปี 2476 หลวงประพัฒน์สรรพากร รวบรวมหนังสือตำรากระบิลว่านจนเป็นที่ยอมรับในหมู่นักเล่นว่านและนับว่าเป็นตำราที่ให้ความรู้เรื่องว่านอย่างสมบูรณ์ที่สุด แม้ราชบัณฑิตยสถานยังยอมรับและใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
โดยนิยามไว้ว่า “ว่าน คือ พืชที่มีหัวบ้าง ที่ไม่มีหัวบ้าง ใช้เป็นยาบ้าง ใช้อยู่ยงคงกระพันบ้าง” เห็นได้ว่าความหมายตามพจนานุกรม ว่านคือพืชที่มีหัวหรือไม่มีหัวก็ได้ บางชนิดปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรเป็นเครื่องรางของขลัง ป้องกันอันตราย แมลงมีพิษหรือสัตว์มีพิษ
กัดต่อย ยาเบื่อเมา ยาสั่ง ยาเสพติด สามารถดับพิษร้ายให้หายได้
ว่านแต่ละชนิดมีคุณานุภาพบันดาลให้เกิดผล เกิดโชคลาภ ทำมาค้าขึ้น เงินทองไหลมาเทมา มีคนเคารพนับถือ มีความเชื่อกันว่า การปลูกเลี้ยงว่าน ถ้าทำให้ถูกต้องตามพิธีการ ให้ความสำคัญว่าว่านเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์ ก็ต้องมีพิธีมากกว่าการปลูกเลี้ยงธรรมดา เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปลูกเลี้ยงและเป็นการเพิ่มฤทธานุภาพให้แก่ว่าน เช่น เวลารดน้ำต้องเสกคาถากำกับเป็นบทเป็นตอน
ต่างกันไป 3 จบ 7 จบ หรือตามอายุของผู้ปลูกเลี้ยง แล้วแต่ชนิดของว่าน การขุดก็ต้องทำในวัน เดือน ต่าง ๆ กันทั้งข้างขึ้น ข้างแรม
เช่น การขุดเก็บว่านมักเลือกวันอังคาร วันใดวันหนึ่งในเดือนสิบสองหรือไม่เกินวันพุธข้างขึ้นของเดือนอ้าย เวลาขุดใช้มือตบดินใกล้
กอว่านหรือต้นว่าน แล้วเสกคาถาเรียกว่านไปตบดินไปจนจบคาถาจึงค่อยขุดนำหัวว่านขึ้นมา
นับจาก พ.ศ. 2484 ความนิยมว่านก็ค่อย ๆ ห่างหายไปจนกระทั่ง พ.ศ. 2500 ความนิยมว่านก็กลับมาอีกครั้ง มีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือจำหน่ายเพื่อให้ผู้สนใจที่ชอบปลูกเลี้ยงว่านได้ซื้อหาไปอ่านประกอบการปลูกกันด้วย
ปัจจุบันมีการจัดแบ่งว่านออกเป็น 34 วงศ์ 512 สกุล และกว่า 1,700 ชนิด มีทั้งว่านที่ให้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรรักษาโรค ว่านที่มีชื่อเป็นมงคล นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งมีความเชื่อว่า ว่านเหล่านี้เมื่อปลูกเลี้ยงแล้วจะส่งผลให้ทำมาค้าขึ้น นำโชคลาภวาสนามาสู่ผู้ปลูกเลี้ยง และบทความนี้ก็จะนำว่านที่กำลังเป็นที่นิยมปลูกมาให้ดู นั่นก็คือ ว่านนกคุ้ม
ตำรับว่าน ภูมิปัญญาการรักษาโรค
ว่านเป็นพืชที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติมาอย่างยาวนาน และก็พบเห็นในตำราสมุดข่อยมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “พระตำรับว่าน”
ยังมีพระฤาษี 4 องค์ในผืนแผ่นดินนี้ มีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าบรรดาโยดีและฤาษีทั้งปวง มีนามว่า “กะวัดฤาษี” “กะวัตพันฤาษี” “สัพรัตถาถฤาษี” “จังตังกะปีละฤาษี” พระฤาษี 2 องค์ ใน 4 องค์นี้ ได้กำหนดให้ธาตุทั้ง 4 ดือ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ ตั้งอยู่เป็นอธิบดีแก่บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวง ส่วนท่านฤาษีองค์ที่ 4 คือ ท่านจังตังกะปิละนั้น ได้ตั้งบรรดากบิลว่านต่าง ๆ ขึ้นไว้ สำหรับท้าวพระยาและสมณชีพราหมณ์ทั้งปวง ให้รู้จักคุณพระรัตนตรัย ทั้งยังรู้จักอดกลั้นต่อบรรดาอกุต ลกรร มทั้งหลาย ตลอดจนได้รู้จักสรรพคุณและโอสถสารประโยชน์จากว่านยาและสมุนไพรต่าง ๆ เหล่านั้น ไปช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ และช่วยปกป้องภยันตรายทุกข์ภัยนานาประการแกผู้เฒ่าผู้แก่และคนทั้งปวงทั่วกัน
ตามที่กล่าวนี้แสดงว่า ได้เคยมีการรวบรวมบรรดาว่านต่าง ๆ สำหรับสั่งสอนประชาชนต่อ ๆ มาให้รู้จักถึงชนิดว่าน ลักษณะและสรรพคุณของว่านยาและสมุนไพรมาแล้วในอดีต ทั้งแสดงว่าการกระทำอย่างนี้ได้กระทำในสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาได้เกิดมีแล้วอย่างแน่นอน
โดยปกติพระฤาษีหรือท่านผู้ทรงวิทยาคุณขลังต่าง ๆ ย่อมพำนักอาศัยอยู่ตามป่าสูงหรือในถ้ำตามภูเขา ฉะนั้นบรรดาชนชาวป่าชาวดอยที่มีถิ่นอยู่ในบริเวณใกล้เดียง จึงพลอยได้รับความรู้ในเรื่องว่านยาและสมุนไพรจากท่านเหล่านั้น และคงรักษาความรู้ไว้ด้วยการบอกเล่าสืบทอดต่อมาจนทุกวันนี้
ว่าน ความเชื่อและสังคมไทย
มีความเชื่อว่าว่านและสมุนไพรได้กำเนิดและรักษาโรคภัยไข้เจ็บในอดีตนับพัน ๆ ปี ถือว่าว่านเป็นพืชเอนกประสงค์ ให้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และเป็นทั้งเครื่องคุ้มภัย ป้องกันอันตราย เสี่ยงทายเพื่อดูถึงวาสนาชะตาของเจ้าของ และเมื่อใดที่เจ้าของกำลังจะประสบโชคลาภ ว่านที่ปลูกก็จะมีต้นและกิ่งใบที่ชูช่องามสะพรั่ง
ว่านบางชนิดแค่รดน้ำเอาใจใส่ทุกวัน พอออกดอกก็ส่งผลให้เจ้าของมีโชคลาภ เงินทองไหลมาเทมาค้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ว่านต้นใดเหี่ยวเฉาใบเหลืองรดน้ำก็แล้วใส่ปุ๋ยธรรมชาติก็แล้วยังทำท่าว่าจะตายแหล่มิตายแหล่ ทำนายว่าเจ้าของกำลังจะถึงคราวตกอับในอำนาจวาสนา ควรเร่งหาทางทำบุญสดาะห์เคราะห์หรือปล่อยนกปล่อยปลาตามแต่จะมีกำลังทรัพย์
ว่านยังใช้เป็นเครื่องอยู่ยงคงกระพัน เครื่องปลูกเสน่ห์ เมตตามหานิยม จะเห็นว่า พระเครื่องแต่ละสมัยประกอบขึ้นด้วยว่านร้อยแปดหลากหลายชนิด บรรดาเกจิอาจารย์จะนำเอาว่านแต่ละชนิดที่ให้คุณวิเศษในทางต่าง ๆ กันสมผสมกับผงวิเศษ อิทิเจ ปถมังตรีนิสิงเห ผงมหาราช ชานหมาก ผงมหานิยม ผงนะหน้าทอง อิติปิโส ผงคัมภีร์กาฝากพุต กาฝากมะนาว ไคลโบสถ์ ไคลเสมา และของศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ นำมาบด
เมื่อทำเป็นแม่พิมพ์ประทับเป็นองค์พระแล้วจึงนำเข้าพิธี พระพิมพ์เหล่านี้จึงเกิดความขลังมีอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ในด้านเมตตาบ้าง แคล้วคลาดบ้าง แล้วแต่การอธิษฐานและความศักดิ์สิทธิ์ในตัวว่านด้วยประกอบกัน จะเห็นว่าพระเครื่องที่จะทรงความศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น ก็ด้วยอภินิหารของว่านเป็นปัจจัย การว่าคาถาปลุกเสกแผ่อำนาจจิตนับเป็นแรงที่สองของการเพิ่มพลังเท่านั้น ยังมีฤกษ์งามยามดีในการปลูกเลี้ยงว่านกันให้ถูกต้องตามวิธีการในด้านของสรรพคุณ ไม่ให้เสื่อมคลายต่อไป ซึ่งก็ต้องไปดูกัน ว่าว่านแต่ละชนิดจะต้องปลูกเวลาใดยามใด
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อไทย: เปราะป่า / เปราะใหญ่ / ว่านหาวนอน
ชื่อท้องถิ่น: ว่านนกคุ้ม
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): Kaempferia pulchra Ridl. / Kaempferia elegans (Wall.) Baker / Kaempferia rotunda L.
ชื่อสกุล (Genus name): Kaempferia (สกุลเปราะ)
ชื่อวงศ์ (Family name): ZINGIBERACEAE (วงศ์ขิง)
ว่านนกคุ้มมีหัวคล้ายว่านกระชายดำ กลม ๆ ติดกันเป็นพืด เวลาแตกใบม้วนแทงขึ้นมาจากห้ว ครีบขอบใบแดง แล้วค่อยกางใบทีหลัง หน้าใบมีลายคล้ายกับปีกนก เป็นสามแถบ ก้านใบขาวตันสูงไม่เกินคืบ ลำต้นสีขาวปนเหลืองอ่อน ๆ ดอกสีขาวมีสามกลีบปนสีม่วงแซม เวลาใบงามเต็มที่สวยงามมากคล้ายลายของนกคุ้ม จึงมีชื่อว่า ว่านนกคุ้ม
ปลูกไว้ในบ้านจะให้คุณในทางป้องกันอันตรายต่าง ๆ โดยเฉพาะป้องกันอัคคีภัย เวลารดน้ำทุกครั้งต้องเสกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” 3 จบ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์
ลักษณะเด่น
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้าสั้นใต้ดิน มีรากจำนวนมากเป็นกระจุก ลำต้นเหนือดินค่อนข้างสั้น สูง 3-10 ซม.
ใบเดี่ยว ใบเรียงสลับ มี 1-3 ใบ แนบติดผิวดินหรือชูขึ้นมาเหนือผิวดินเล็กน้อย ใบรูปรีกว้าง-กลม ยาว 12–18 ซม. ขอบใบไม่มีเส้นสีม่วงแดง แผ่นใบหนา ผิวใบด้านบนมีลายด่างสีขาวหรือไม่มี ผิวด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม แผ่นใบลวดลายสีขาวเรียงตัวยาวตามแนวใบคล้ายหางนก ก้านใบยาวน้อยกว่า 3 ซม.
ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด เกิดอยู่ในกาบประดับ 2 กาบ กลีบดอกสีม่วงอ่อน-สีขาวล้วน ใจกลางดอกแต้มสีขาว กลีบดอกเห็นชัด 4 กลีบ ขนาดค่อนข้างเท่ากัน รูปไข่กลับ ยาว 2–3 ซม. ปลายกลีบมน-กลม หรือหยักติ่งแหลม
หลอดกลีบดอกยาว 5 ซม. เกสรเพศผู้ (ติ่งเล็กกลางดอก) รูปไข่กลับปลายแหลมหรือรูปสามเหลี่ยม ยาว 5–6 มม. ก้านช่อดอกยาวน้อยกว่า 5 ซม. ช่อดอกมีใบประดับรูปใบหอก ยาว 2.5–4 ม. ห่อเป็นรูปกรวยแหลมเรียงชิดโคนใบ
ถิ่นที่พบ
พบได้บริเวณคาบสมุททรอินโดจีน มลายู ชวา ในประเทศไทยพบที่จังหวัดพิษณุโลก ตาก นครสวรรค์ สระบุรี จันทบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ในภาคใต้ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช
พบตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ในบริเวณที่เป็นหินปูน ชื้นแฉะ ป่าดงดิบชื้นหรือป่าดงดิบแล้ง ในที่ร่ม-มีแสงรำไร และในบริเวณกอไผ่ ที่ระดับความสูงไม่เกิน 800 ม. เหนือระดับน้ำทะเล
ความแตกต่างของว่านนกคุ้มแต่ละชนิด
ชนิด | เปราะป่า | เปราะใหญ่ | ว่านหาวนอน |
---|---|---|---|
เหง้า | ไม้ล้มลุกมีเหง้าสั้นใต้ดิน ใบเดี่ยว ออก 2 ใบ | ไม้ล้มลุกมีเหง้าสั้นใต้ดิน ใบเดี่ยว ออก 2 ใบ | ไม้ล้มลุก สูงถึง 30 ซม. มีเหง้าสั้นและรากสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน |
ใบ | แนบติดผิวดินหรือชูขึ้นมาเหนือผิวดินเล็กน้อย | แผ่นใบชูขึ้นมาเหนือผิวดินเล็กน้อย | แผ่นใบชูขึ้น ไม่แนบติดผิวดิน |
ขนาดใบ | ใบรูปรีกว้าง-กลม ยาว 12–18 ซม. ก้านใบยาวน้อยกว่า 3 ซม. | ใบรูปรี ยาว 15–30 ซม. มีก้านใบยาว 4–10 ซม. | ใบรูปรีแคบ-รูปใบหอก ยาว 12–25 ซม. กว้าง 4–6 ซม. ก้านใบยาว 3–5 ซม. |
ลายใบ | ขอบใบไม่มีเส้นสีม่วงแดง แผ่นใบหนา ผิวใบด้านบนมีลายด่างสีขาวหรือไม่มี ผิวด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม | ขอบใบไม่มีเส้นสีม่วงแดง เนื้อใบหนา ผิวใบด้านบนมีลายด่างสีขาวหรือไม่มีก็ได้ ผิวด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม | ผิวใบด้านล่างสีม่วงแดงและมีขนสั้น ผิวใบด้านบนเกลี้ยงและมักมีลายสีขาว มีขนสั้นตามแผ่นใบด้านล่าง ใบประดับและกลีบเลี้ยง ใบเดี่ยว ออก 2–3 ใบ/กอ โคนก้านใบเป็นกาบอัดแน่นกับก้านใบอื่น สูง 6–10 ซม. |
สีกลีบดอก | กลีบดอกสีม่วงอ่อน-สีขาวล้วน ใจกลางดอกแต้มสีขาว | กลีบดอกสีม่วงอ่อนอมสีชมพู ใจกลางดอกแต้มสีขาว | ช่อดอกแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดินในช่วงไม่มีใบในฤดูร้อน หรือออกพร้อมกับใบอ่อน กลีบคู่ล่าง (กลีบปาก) เฉพาะที่โคนกลีบหรือทั้งกลีบเป็นสีม่วงอมชมพู |
ลักษณะกลีบดอก | กลีบดอกเห็นชัด 4 กลีบ ขนาดค่อนข้างเท่ากัน รูปไข่กลับ ยาว 2–3 ซม. ปลายกลีบมน-กลม หรือหยักติ่งแหลม | กลีบดอกเห็นชัด 4 กลีบ ขนาดค่อนข้างเท่ากัน รูปไข่กลับ ยาว 2–3 ซม. ปลายกลีบมน-กลม-ตัด | กลีบดอกเห็นชัด 4 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 4–5 ซม. |
หลอดกลีบดอก | หลอดกลีบดอกยาว 5 ซม. เกสรเพศผู้ (ติ่งเล็กกลางดอก) รูปไข่กลับปลายแหลมหรือรูปสามเหลี่ยม ยาว 5–6 มม. | หลอดกลีบดอกสีขาว ยาว 5–7 ซม. เกสรเพศผู้ (ติ่งเล็กกลางดอก) รูปกลมปลายติ่งกลม-มน ยาว 4–7 มม. | หลอดกลีบดอกยาว 5 ซม. |
ก้านช่อดอก | ก้านช่อดอกยาวน้อยกว่า 5 ซม. ช่อดอกมีใบประดับรูปใบหอก ยาว 2.5–4 ม. ห่อเป็นรูปกรวยแหลมเรียงชิดโคนใบ | มีก้านช่อดอกยาว 5–17 ซม. (ขนาดยาวกว่าเปราะป่า) ปลายก้านช่อดอกมีใบประดับรูปใบหอก ยาว 3–6 ซม. ห่อคล้ายถ้วยสีเขียวชัดเจน | ก้านช่อดอกสั้นมาก |
สภาพแวดล้อม | พบตามป่าดงดิบชื้นหรือป่าดงดิบแล้ง | พบตามป่าเบญจพรรณ หรือป่าดงดิบแล้ง | พบตามป่าดงดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าดงดิบเขาระดับต่ำ |
สภาพแสง | ในที่ร่ม-มีแสงรำไร | ในที่มีแสงรำไร | ในที่มีแสงรำไร |
ระดับความสูง | ที่ระดับความสูงไม่เกิน 800 ม. | ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,000 ม. | ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,300 ม. |
ถิ่นที่พบ | ในภาคใต้ และภาคตะวันตกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ | เกือบทั่วประเทศยกเว้นภาคใต้ |
การปลูกว่านนกคุ้ม
ใช้เหง้าที่มีอายุ 8 เดือนขึ้นไป และควรจะมี 2-3 เหง้า เป็นอย่างน้อย ใช้หัวปลูกต้องปลูกในดินร่วนปนทรายหยาบ และควรปลูกในกระถางปากกว้างหรือกระถางปากบานทรงเตี้ย ให้กระถางมีขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อให้การเจริญเติบโตและการแตกหน่อของหัวว่านเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และได้ปริมาณมาก
เมื่อเอาหัวว่านลงดินแล้ว กลบดินไม่ให้ดินแน่นเกินไป เพื่อนํ้าที่รดจะได้ซึมได้ง่าย ถ้ากดดินแน่นเกินไป น้ำซึมได้ช้า ทำให้หัวว่านชุ่มนํ้านานเกินไป หัวว่านอาจจะเน่าได้ และควรเหลือหัวว่านให้โผล่พ้นดินนิดหน่อย เพื่อสะดวกในการแตกต้นขึ้นใหม่
ควรรดน้ำให้ต้นชุ่มทั้งเช้าและเย็นทุกวัน แต่อย่ารดให้ถึงกับโชกเกินไป จะทำให้หัวว่านเน่าได้ง่าย ให้จัดวางกระถางไว้ในที่ร่มรำไร ในช่วงแรกอย่าให้โดนแดดจัด จะทำให้ขอบใบไหม้และอาจเฉาตายได้
การเตรียมดินปลูกว่าน
การเตรียมดินสำหรับปลูกว่านนกคุ้ม ก็จะเหมือนกันการปลูกว่านชนิดอื่น ๆ สามารถใช้ดินที่ขายตามตลาดต้นไม้ได้ โดยผสมดินที่ซื้อมากับดินธรรมดาในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 รองก้นหลุมด้วยเปลือกมะพร้าวสับ
ฤกษ์มงคลสำหรับปลูกว่าน
ว่าน เป็นวัตถุธาตุโดยธรรมชาติ มีไสยศาสตร์เข้าร่วมด้วยจึงทำให้เกิดปฏิกิริยาไปต่าง ๆ นานาได้ โดยขึ้นอยู่กับตัวของผู้ปลูกว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้องแค่ไหน นักปราชญ์โบราณผู้เชี่ยวชาญทางว่านจึงมักเอาจิตศาสตร์เข้าร่วมด้วยเสมอ จึงทำให้เกิดผลอำนาจได้อย่างปฏิหาร สมัยโบราณจึงนับถือฤกษ์ งามยามดีกันอย่างเคร่งครัดตลอดไม่ว่าจะทำสิ่งใด ๆ ก็ตาม ในบทความนี้จะพูดถึงฤกษ์ของเจ้าของที่จะปลูกว่านให้ถูกโฉลกตามตำรา
วันดีที่เป็นมงคล คือ วันที่เป็นเดช เป็นศรี เป็นมนตรี ส่วนวัน กาลกิณี เป็นวันชั่ว วันเสีย งดการปลูกเด็ดขาด
- เดช คือ อำนาจวาสนา
- ศรี คือ ดวามสุข ความเจริญ
- มนตรี คือ ยศศักดิ์ เกียรติตำแหน่งการงาน
- กาลกิณี คือ หมายถึง ชั่วร้ายเลว
ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของว่าน ที่เกิดในวันใดก็ปลูกได้ตามตารางนี้
ท่านที่เกิดวัน | เป็นเดชมงคล | เป็นศรีมงคล | เป็นมนตรีมงคล | เป็นกาลกิณีห้ามปลูก |
อาทิตย์ | ปลูกวันอังคาร | ปลูกวันพุธ | ปลูกวันพุธกลางคืน | ห้ามปลูกวันศุกร์ |
จันทร์ | ปลูกวันพุธ | ปลูกวันเสาร์ | ปลูกวันศุกร์ | ห้ามปลูกวันอาทิตย์ |
อังคาร | ปลูกวันเสาร์ | ปลูกวันพฤหัสฯ | ปลูกวันอาทิตย์ | ห้ามปลูกวันจันทร์ |
พุธ | ปลูกวันพฤหัสฯ | ปลูกวันพุธกลางคืน | ปลูกวันจันทร์ | ห้ามปลูกวันอังคาร |
พุธกลางคืน | ปลูกวันอาทิตย์ | ปลูกวันจันทร์ | ปลูกวันเสาร์ | ห้ามปลูกวันพฤหัสฯ |
พฤหัสบดี | ปลูกวันศุกร์ | ปลูกวันอาทิตย์ | ปลูกวันพุธ | ห้ามปลูกวันเสาร์ |
ศุกร์ | ปลูกวันจันทร์ | ปลูกวันอังคาร | ปลูกวันพฤหัสฯ | ห้ามปลูกวันพุธกลางคืน |
เสาร์ | ปลูกวันพุธกลางคืน | ปลูกวันศุกร์ | ปลูกวันอังคาร | ห้ามปลูกวันพุธ |
เดือนมงคลในการขุดหรือปลูกว่าน
ฤกษ์ในการขุดหรือปลูกว่านตามเดือน เพื่อให้ว่านทรงอิทธิฤทธิ์ ไม่เสื่อมคลาย ควรกำหนดให้ขุดหรือปลูกในเดือนต่าง ๆ ตามตารางนี้ได้ นอกจากว่านที่ได้กำหนดบังคับไว้เช่น “ว่านสาวหลง” ต้องปลูกวันจันทร์ข้างขึ้นอ่อน ๆ เท่านั้น ส่วนที่ไม่ได้บังคับก็ปลูกขุดได้ตามตารางนี้
ฤกษ์เดือนปลูกหรือขุด | ตรงกับวันใช้ปลูกหรือขุด |
เดือนอ้ายหรือเดือน 1 | ใช้วันพุธ |
เดือนยี่หรือเดือน 2 กับเดือน 7 | ใช้วันพฤหัสบดี |
เดือน 3 กับเดือน 8 | ใช้วันศุกร์ |
เดือน 4 เดือน 9 กับเดือน 11 | ใช้วันเสาร์ |
เดือน 5 กับเดือน 10 | ใช้วันอาทิตย์ |
เดือน 6 กับเดือน 12 | ใช้วันอังคาร |
คาถารดน้ำว่าน
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
“อิติปิโสภะคะวา อะระหังสัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุขะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะธัมมะสาระถิ สัตถา เทวะ มะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ” แล้วจึงรดน้ำ หากจะให้ดียิ่งขึ้นควรทำน้ำมนต์ด้วย อิติปิโสฯ 108 จบ แล้วค่อยรดว่าน
บทคุ้มครองป้องกันเภทภัย
“สัพเพเตโรคา สัพเพเตภะยา สัพเพเตอันตรายา สัพเพเตอุปัททวา สัพเพเตนิมิตา อวมังคลาวินาสสันตุ”
เสก 9 จบ แล้วจึงรดน้ำ บทนี้เป็นบทที่ใช้ป้องกันสรรพโรค สรรพภัย และอันตรายทั้งหลาย เป็นคาถาที่เหมาะกับว่านที่ใช้ในการคุ้มครอง ป้องกันเภทภัยและรักษาโรค
บทส่งเสริมโชคลาภ
“มหาลาโภ โหตุ ภวันตุเม”
3 จบจึงรดน้ำ บทนี้ใช้ในทางโชคลาภเหมาะกับว่านที่ใช้ในทางโชคลาภ เช่น ว่านกลุ่มกวัก และกลุ่มเศรษฐี
บทนะโมพุทธายะ
“นะโมพุทธายะ”
3 จบ 7 จบ หรือตามกำลังวัน แล้วจึงรดน้ำ
“อาทิตย์หกต่อตั้ง พรรษา
จันทร์สิบห้าคณนา นับได้
อังคารแปดพุธา สิบเจ็ด
เสาร์สิบกำหนดให้ โลกรู้ กำลัง
พฤหัสบดีสิบเก้า สืบสนอง
อสุรินทร์สิบสอง เช่นชี้
ศุกร์ยี่สิบเอ็ดกอง กอปรเกตุ เก้านา
ทวยเทพนพเคราะห์นี้ ท่านเลี้ยง รักษาฯ ”
การขยายพันธุ์
มีวิธีขยายพันธุ์เหมือนกับว่านชนิดอื่น ๆ นั่นคือ
ใช้เมล็ด (seed)
พบว่าว่านติดเมล็ดได้ยากในประเทศไทย ดังนั้นผู้ปลูกเลี้ยงจะต้องหมั่นสังเกตดอกแห้งถ้าต้องการเก็บเมล็ดพันธุ์ ควรเพาะเมล็ดในวัสดุเพาะที่คุณสมบัติเป็นกรดเล็กน้อยระบายน้ำดี และกลบด้วยวัสดุเพาะบาง ๆ เวลาการงอกของเมล็ดไม่แน่น แต่งอกเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ด
ใช้ตะเกียง (Aerial offshoots)
ช่อดอกของขิงแดงเมื่อแก่จะสร้างตะเกียง หรือหน่อเล็ก ๆ ที่โคนกลีบประดับ สามารถแยกตะเกียงออกจากช่อดอกและปลูกได้ทันที แต่จะให้ผลดีถ้าตะเกียงมาชำให้เกิดรากก่อน โดยจะมีการสร้างราก 4-8 สัปดาห์หลังการชำ
การแยกหน่อ (Division)
กิ่งหน่อใหม่จะเกิดที่ส่วนบนของเหง้าของต้นแม่ การแยกหน่อมักทำโดยใช้หน่อที่ไม่แก่เกินไปนัก ให้มีส่วนของเหง้ายาวประมาณ 5 นิ้ว และส่วนของต้นเทียมยาว 8-12 นิ้ว แล้วนำมาปักชำในกระบะชำหรือถุงพลาสติก
เคล็ดลับการปลูก
ในการปลูกว่านนกคุ้มโดยทั่ว ๆ ไปก็จะไม่แตกต่างกันมากกับการปลูกว่านชนิดอื่น แต่ก็มีเคล็ดลับดี ๆ หลายอย่างที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษา โดยเคล็ดลับนี้ก็มาจากการบอกเล่าต่อ ๆ กันในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบการปลูกว่าน และได้จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ปลูกแต่ละคน เว็บไซต์อีสานร้อยแปดจึงได้รวบรวมเคล็ดลับการปลูกว่านมาให้ศึกษา เรียกได้ว่าข้อมูลครบถ้วน รอบด้านในบทความเดียวเลย
ปลูกว่านในดิน vs ปลูกในกระถาง
สำหรับผู้ที่เริ่มต้นปลูกว่านนกคุ้ม แนะนำให้ปลูกในกระถางก่อน เพราะใช้พื้นที่น้อย เคลื่อนย้ายตำแหน่งกระถางให้โดนแสงแดดและย้ายพื้นที่ให้ได้ความชื้นแตกต่างกันได้สะดวกกว่า ซึ่งถ้าปลูกลงดินแล้วจะย้ายที่ปลูกยาก
ว่านในวงศ์ขิง ZINGIBERACEAE จะชอบแดด เพื่อสังเคราะห์สารอาหารและนำไปเก็บสะสมในหัว ถ้าปลูกในร่มหรือแสงแดดไม่เพียงพอ จะทำให้ใบมีขนาดใหญ่ แต่หัวจะมีขนาดเล็กเนื่องจากสังเคราะห์สารอาหารได้น้อย
กระถางดินเผาดีกว่าพลาสติก
กระถางดินเผาจะมีคุณสมบัติระบายน้ำและอากาศถ่ายเทได้สะดวก ที่สำคัญคือมีความทนทาน แต่ก็มีข้อเสียคือ กระถางดินเผามีน้ำหนักมาก อาจจะไม่สะดวกในการเคลื่อนย้าย และราคาโดยเฉลี่ยของกระถางดินเผาแพงกว่ากระถางพลาสติก
แต่ถ้ามีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักและราคาของกระถางดินเผา ก็สามารถใช้กระถางพลาสติกแทนได้ โดยอาจจะเพิ่มวัสดุปลูกที่เป้นแกลบดำหรือเปลือกมะพร้าวสับเพิ่ม เพื่อให้ดินระบายน้ำและอากาศถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้น
แบ่งจากกระถางมาปลูกในดิน
เมื่อว่านที่ปลูกในกระถางโตเต็มที่ และมีหัวขยายออกมามาก ๆ ต้องแบ่งออกจากกระถางไปปลูกลงดินบ้าง เพื่อจะได้ไม่เบียดกันมากและจะได้ไม่แย่งอาหารกันจนต้นโทรม
ปลูกในดินโตไวลดปัญหารากเน่า
ว่านที่ปลูกในดินจะให้หัวและหน่อมากกว่าการปลูกในกระถาง เพราะรากสามารถหากินได้อย่างอิสระ ได้รับธาตุอาหารไม่จำกัด ข้อดีของการปลูกในดินอีกอย่างหนึ่งคือ สามารถลดโอกาสการเกิดปัญหาหัวเน่าจากการได้รับน้ำมากกเกินไป
เก็บเกี่ยวหัวทุก 2-3 ปี
ควรขุดหัวเพื่อแบ่งออกไปปลูกที่อื่นไม่ให้หัวเบียดกันมากเกินไป ถ้าหากมีหัวมากเกินไปจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตลดลง และการขุดหัวจะช่วยลดการสะสมของโรคและเชื้อราในหัวว่านที่มีอายุมาก
เผาดินทำลายจุลินทรีย์มีประโยชน์
ในบางตำราแนะนำให้ใช้ดินบริเวณกลางแจ้งไม่มีอะไรบัง และห้ามใช้ดินที่มีมูลสัตว์ปน หรือบางตำราแนะนำให้เผาไฟก่อนนำดินนั้นมาปลูก แต่การเอาดินไปเผาไฟจะเป็นการทำลายจุลินทรีย์ตามธรรมชาติซึ่งมีประโยชน์ อาจส่งผลทำให้ว่านอ่อนแอในระยะยาวได้
ไก่กับว่านเป็นของแสลงกัน
บางตำราไม่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยขี้ไก่ เพราะเปรียบเทียบว่านเป็นนาค เปรียบเทียบไก่คือครุฑ ดังนั้นเมื่อนาคแพ้ครุฑ ก็หมายความว่าถ้าใส่ปุ๋ยขี้ไก่จะทำให้ว่านไม่เจริญเติบโต ว่านบางอย่างถึงกับฤทธิ์ทางไสยศาสตร์สลายไปเลยหากไก่บินข้าม หรือแม้แต่ว่านตามป่าหากได้ยินเสียงนกยูงหรือไก่ร้อง ว่านถึงกับเสื่อมฤทธิ์
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลและที่มาที่ไปที่ต้องเก็บเกี่ยวหัวว่านก่อนฤดูนกยูงผสมพันธ์ร้องเรียกคู่
สรรพคุณทางยา
- ยาขับลม ขับเสมหะ ขับโลหิต
- ถ่ายเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ลดอาการเส้นตึง
- เหง้าใต้ดิน ผสมใบหนาดขนาดใหญ่ ต้มน้ำดื่ม ถอนพิษแมงมุมกัด
- ตำรายาไทยใช้เหง้า แก้ไข้ ขับลมในลำไส้ แก้หวัด แก้กำเดา
- ผสมลำต้นพญายา ต้มนํ้าดื่มบำรุงเลือด แก้ไข้ ขับลมในลำไส้ แก้หวัด แก้กำเดา
- หัวมาดองเหล้ารับประทานเพื่อบำรุงกำลัง
ตำรับยา
สรรพคุณของตำรับยานี้สามารถขับลม ขับเสมหะ ขับโลหิต ถ่ายเส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ลดอาการตึง
ส่วนผสมตำรับยา
- อวดน้ำ (Derris elegans) ใช้ส่วนที่เป็นเถา 15 กรัม หั่นเป็นชิ้นและตากแห้งหรืออบ
- มะลิวลัยเ์ถา (Jasminum sp.) ใช้ส่วนที่เป็นดอก 15 กรัม หั่นเป็นชิ้นและตากแห้งหรืออบ
- ว่านนกคุ้ม (Kaempferia elegans หรือ Kaempferia pulchra) ใช้ส่วนที่เป็นเหง้า 15 กรัม หั่นเป็นชิ้นและตากแห้งหรืออบ
วิธีปรุง
ต้มกับน้ำ จนเหลือน้ำ 1 ส่วนจาก 3 ส่วน
วิธีใช้
รับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยชา
ข้อห้ามและคำเตือน
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์
- ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แผนไทยหรือหมอสมุนไพร
ข้อควรระวังในการใช้
การใช้ยาสมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค ผู้ที่ยอมรับแนวทางการรักษานี้จะต้องได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือหมอสมุนไพรผู้มีความเชี่ยวชาญ การนำยาสมุนไพรมาใช้จะต้องได้รับคำปรึกษา การจัดยา วิธีการปรุง และวิธีการใช้ โดยแพทย์แผนไทยหรือหมอสมุนไพรผู้มีความเชี่ยวชาญ เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดมีพิษ มีวิธีการกำจัดพิษหรือปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันไป
ลักษณะของว่าน และ สรรพคุณตามหนังสือตำราประเพณีอีสาน ฉบับ ส.ธรรมภักดี
ทีมงานอีสานร้อยแปด ได้พยายามรวบรวมข้อมูลมาจากหลาย ๆ แหล่ง เพื่อให้ข้อมูลมีความครบครันและรอบด้านมากที่สุด และหนึ่งในอีกแหล่งอ้างอิงของข้อมูลที่มีความน่าสนใจและน่าเชื่อถือก็คือจากหนังสือประเพณีอีสาน
- ใบ ขนาดเท่าใบขนุน ใต้ใบมีสีแดง หน้าใบเป็นทางลายเป็นสามแถวที่ริมสองข้าง และตรงกลางมีสีขาวหม่น ๆ พื้นใบสีเขียว ๆ โคนก้านและลำต้นมีสีม่วงแดง ปลายก้านเขียวใบเหนียวไม่ขาดง่าย ขึ้นเป็นกอสูงไม่เกิน 1 คืบ
- หัว เหมือนหัวตะไคร้
- สรรพคุณ ปลูกไว้กับบ้านเรือนคุ้มภัยอันตรายต่าง ๆ ได้
- การปลูก ใช้ดินเผาไฟทุบให้แหลกผสมทรางที่ล้างน้ำสะอาดเล็กน้อย เวลารดน้ำใช้ นะโม พุทธายะ 3 จบ แล้วรดน้ำแต่พอเปียกชุ่ม
อ้างอิง :
- พืชป่าสมุนไพร, กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- หนังสือ สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน หน้า 154
- ข้อมูลพันธุ์ไม้ ระบบฐานข้อมูลเกษตรดิจิทัล
- ว่านนกคุ้ม เว็บไซต์บ้านและสวน
- หนังสือ สารพัดว่าน แสวง เพชรศิริ
คำถามที่พบบ่อย
มีความเชื่อกันว่า ว่านที่มีอิทธิฤทธิ์ออกดอกให้ชมนั้น เป็นการบอกให้เจ้าของว่านได้ทราบว่า วาสนาชะตากำลังจะมีโชคมีลาภ ดังนั้นต้องมีการต้อนรับให้ถูกพิธีการจึงจะสมปราถนา โดยเอาผ้าแพรบาง ๆ ตามสีของดอกว่านนั้น ๆ ที่ออกดอก ผูกที่กระถาง หรือโคนต้นว่านแล้วจุดธูป 1 ดอก ทำใจให้แน่วแน่ ขึ้น “นะโม” 3 จบก่อนเสมอ แล้วจึงกล่าวคำอธิษฐาน จบแล้วปักธูปลงที่กระถาง
ตัวผู้มีใบเรียวยาว พื้นใบสีเขียวอ่อน มีลายแต้มสีขาวชัดเจน หลังใบสีเขียว มองไม่เห็นลายแต้มอีกด้าน
ตัวเมียมีใบโค้งมนกว่า พื้นใบสีเขียวเข้ม มีลายแต้มสีน้ำตาล-ดำ หลังใบสีเขียวมองเห็นลายแต้มอีกก้านชัดเจน
ปกติว่านชนิดนี้จะขึ้น ตามป่าดงดิบชื้นหรือป่าดงดิบแล้ง ในที่ร่ม-มีแสงรำไร จึงไม่ชอบแดดจ้ามาก
ว่านนกคุ้มมี 3 ชนิด ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือ เปราะป่า เปราะใหญ่ ว่านหาวนอน ถ้าดูผิวเผิดจะมีลักษณะที่คล้ายกัน คือใบลายแต้มคล้ายนกคุ้ม แต่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด
นอกจากในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) แล้ว ก็ยังมีพืชที่อยู่ในวงศ์คล้า (MARANTHACEAE) ที่มีชื่อเรียกว่า ว่านนกคุ้มเหมือนกัน เนื่องจากมีใบสีขาวแต้ม แต่ไม่สวยและไม่นิยมเท่าว่านนกคุ้มที่อยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
จากการสำรวจข้อมูลการขายในท้องตลาด จะขายกันในราคาตั้งแต่ 10-200 ขึ้นอยู่กับความสวยงามและชนิด