เดือนยี่ – บุญคูณลาน

บุญคูณลาน

ตามธรรมเนียมประเพณีของอีสานบ้านเฮาหรือ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” เมื่อถึงเดือนยี่ หรือเดือนสองจะมีพิธีหรือมีบุญประเพณีเพื่อเป็นสิริมงคงคือ “บุญคูณลาน”
ความหมายของคำว่า “คูณลาน” หมายความว่าเพิ่มเข้าให้เป็นทวีคูณ หรือทำให้มากขึ้นนั่นเองส่วนคำว่า “ลาน” คือสถานที่สำหรับนวดข้าว การนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า “คูณลาน” การทำประเพณีบุญคูณลานกำหนดเอาเดือนยี่เป็นเวลาทำ เพราะกำหนดเอาเดือนยี่นี่เองจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนยี่ ดังบรรพบุรุษได้ผูกกลอนผญาอีสานสอนให้ชาวบ้านเตรียมการก่อนทำบุญไว้ว่า

“เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว
ให้นิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งสวดมงคล
เอาบุญคูณข้าวเข้าป่าหาไม้เห็ดหลัว
อย่าได้หลงลืมทิ่มฮีตเก่าคองเดิมเฮาเด้อ”

หมายความว่า เมื่อถึงฤดูเดือนยี่มาถึงให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมงคลทำบุญคูณข้าว ให้จัดหาไม้มาไว้ทำฟืนสำหรับใช้ในการหุงต้มประกอบอาหาร อย่าได้หลงลืมประเพณีเก่าแก่แต่เดิมมาของเรา

บุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลาน

บุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลาน

การทำบุญคูณลาน หลายๆหมู้บ้านอาจจะทำไม่ตรงกัน เพราะว่าการเก็บเกี่ยวข้าวอาจจะไม่ตรงกัน แต่จะทำในช่วงเดือนสอง หรือตรงกับช่วงเดือนมกราคม มูลเหตุที่จะมีการทำบุญชนิดนี้นั้นเนื่องจาก ผู้ใดทำนาได้ข้าวมาก ๆ ก่อนหาบหรือขนข้าวมาใส่ยุ้งฉางก็อยากจะทำบุญกุศล เพื่อเป็นสิริมงคลให้เพิ่มความมั่งมีศรีสุขแก่ตนและครอบครัวสืบไป
ก่อนทำบุญคูณลาน มีประเพณีของชาวอีสานบางแห่งบางอย่าง เรียกว่า ไปเอาหลัวเอาฟืน โดยชาวบ้านกำหนดเอาวันใดวันหนึ่งในเดือนยี่ ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาเสร็จแล้วพากันไปเอาหลัวเอาฟืนมาเตรียมไว้สำหรับก่อไฟหุงต้มอาหารบ้าง ใช้สำหรับก่อไฟผิงหนาวบ้าง สำหรับให้สาว ๆ ก่อไฟปั่นฝ้ายตามลานบ้านบ้าง (คำว่าหลัว หมายถึง ไม้ไผ่ที่ตายแล้ว เอามาใช้เป็นฟืน หมายถึงไม้แห้งที่มีแก่นแข็งทุกชนิด เพื่อใช้ทำฟืนก่อไฟโดยทั่วไป)

บุญคูณลาน บ้านโนนรัง

บุญคูณลาน บ้านโนนรัง

มูลเหตุดั้งเดิมที่จะมีการทำบุญคูณลาน มีเรื่องเล่าว่า ครั้งพุทธศาสนาของพระกัสสะปะมีชายสองคนพี่น้องทำนาในที่เดียวกัน พอข้าวออกรวงเป็นน้ำมัน น้องชายได้ชวนพี่ชายทำข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ แต่พี่ชายไม่เห็นชอบด้วย ทั้งสองพี่น้องจึงแบ่งนากันคนละส่วน เมื่อน้องชายได้เป็นเจ้าของที่นาที่แบ่งกันแล้ว จึงได้ถวายทานแด่พระสงฆ์ตามความพอใจ โดยทำบุญเป็นระยะถึงเก้าครั้ง นับแต่เวลาข้าวเป็นน้ำนมก็ทำข้าวมธุปายาสถวายครั้งหนึ่งเวลาข้าวพอเม่า ก็ทำข้าวเม่าถวายครั้งหนึ่ง เวลาจะลงมือเก็บเกี่ยวก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลามัดข้าวทำเป็นฟอนก็ถวายทานครั้งหนึ่ง เวลาขนข้าวเข้าลานก็ถวายทานครั้งหนึ่ง และเวลาเก็บข้าวใส่ยุ้งฉางเสร็จก็ทำบุญอีกครั้งหนึ่งและตั้งปณิธานปรารถนาให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอนาคต พอถึงพุทธศาสนาของพระสมณโคดมถึงได้เกิดเป็นโกณฑัญญะ ได้ออกบวชและสำเร็จพระอรหันต์เป็นปฐมสาวก ได้ชื่อว่าอัญญาโกณฑัญญะ ส่วนพี่ชายได้ทำบุญเพียงครั้งเดียวเฉพาะตอนทำนาเสร็จแล้ว เมื่อถึงศาสนาพระสมณฅโคดมได้เกิดเป็นสุภัททปริพาชกได้สำเร็จอนาคามิผลเป็นพระอริยบุคคลองค์สุดท้าย ในพระพุทธศาสนาเนื่องจากอานิสงส์จากให้ข้าวเป็นทานน้อยกว่าน้องชาย ชาวอีสานเมื่อทราบอานิสงส์จากการทำบุญดังกล่าวจึงได้นิยมทำบุญคูณลานต่อ ๆ กันมา

เที่ยวงานบุญคูณลาน

เที่ยวงานบุญคูณลาน

พิธีกรรม
ในการทำบุญคูณลาน จะต้องจัดเตรียมสถานที่ทำบุญที่ลานนวดข้าวของตน การนำข้าวที่นวดแล้วมากองขึ้นให้สูงเรียกว่า คูณลาน จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรมขึงด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวเมื่อพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบแล้วถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นนำข้าวปลาอาหาร มาเลี้ยงญาติพี่น้อง ผู้มาร่วมทำบุญ พระสงฆ์ฉันเสร็จก็จะประพรมน้ำพุทธมนต์ให้กองข้าว ให้เจ้าภาพและทุกคนที่มาในงาน เสร็จแล้วก็จะให้พรและกลับวัด เจ้าภาพก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ที่เหลือไปประพรมให้แก่วัว ควาย ตลอดจนเครื่องมือในการทำนาเพื่อความเป็นสิริมงคล
ในปัจจุบันนี้ บุญคูณลานค่อยๆเลือนหายไป เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้สนใจประพฤติ ปฏิบัติกัน ประกอบกับในทุกวันนี้ชาวนาไม่มีลานนวดข้าวเหมือนเก่าก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ และมัดข้าวเป็นฟ่อนๆ แล้วจะขนมารวมกันไว้ ณ ที่ที่หนึ่งของนา โดยไม่มีลานนวดข้าว หลังจากนั้นก็ใช้เครื่องสีข้าวมาสีเมล็ดข้าวเปลือกออกจากฟางลงใส่ในกระสอบและในปัจจุบันยิ่งมีการใช้รถไถนา เครื่องสีข้าว เป็นส่วนมากจึงทำให้ประเพณีคูณลานนี้เลือนหายไป แต่ก็มีบางหมู่บ้านบางแห่งที่ยังรวมกันทำบุญโดยนำข้าวเปลือกมา กองรวมกัน เรียก “กุ้มข้าวใหญ่” ซึ่งจะเรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่ แทนการทำบุญคูณลาน ซึ่งนับว่าเป็นการประยุกต์ใช้ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ให้เหมาะกับกาลสมัย

ประเพณีบุญสู่ขวัญข้าว-บุญคูณลาน

ประเพณีบุญสู่ขวัญข้าว-บุญคูณลาน

อุปกรณ์ที่จะต้องเตรียมดังนี้
๑. ใบคูณ ใบยอ อย่างละ ๗ ใบ ๖. ยาสูบ ๔ มวน
๒. เขาควายหรือเขาวัว ๑ คู่ ๗. หมาก ๔ คำ
๓. ไข่ ๑ ฟอง ๘. ข้าวต้ม ๑ มัด
๔. มัน ๑ หัว ๙. น้ำ ๑ ขัน
๕. เผือก ๑ หัว ๑๐. ขัน ๕ ดอกไม้ ธูปเทียน
เมื่อพร้อมแล้วก็บรรจุลงในก่องข้าว (หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า “ขวัญข้าว” เพื่อเตรียมเชิญแม่ธรณีออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ นำก่องข้าว เขาควาย ไม้นวดข้าว ๑ คู่ ไม้สน ๑ อัน คันหลาว ๑ อัน มัดข้าว ๑ มัด ขัดตาแหลว ๑ อัน (ตาแหลว เป็นอุปกรณ์ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คาถากุ้มข้าวใหญ่ของลานอื่นดูดไป) นำไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว(กองข้าว) เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐานว่า “ขอเชิญแม่ธรณีได้ย้ายออกจากลานข้าว และแม่โพสพอย่าตกอกตกใจไปลูกหลานจะนวดข้าวจะเหยียบย่ำอย่าได้โกรธเคืองหรืออย่าให้บาป” อธิษฐานแล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอม (กองข้าว) ออกมานวดก่อนแล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง ๔ มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าวพันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวแล้วโยงมายังพระพุทธรูป ถึงวันงานก็บอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ นำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว วัว ควาย เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้วก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว


1 ความเห็นที่มีต่อเดือนยี่ – บุญคูณลาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*