มดง่าม
ชื่อพื้นเมือง มดง่าม มดแง่ม มดง่ามทุ่ง
ชื่อสามัญ Pheidole jeton driversus
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pheidole sp.
วงศ์ Formicidae
อันดับ Hymenoptera
ก่อนอื่นขอเกริ่นให้ฟังก่อน เนื่องจากแมง มดง่าม อันนี้ กระผมต้องใช้เวลาในการหาข้อมูล
นานพอควร หรือ ภาษาอีสานว่า “ เหิงเติบ” เพราะว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ เป็นภาษาอังกฤษ การบันทึก
ข้อมูลเกี่ยวกับ มดง่าม เป็นภาษาไทยมีน้อย อนึ่งไผเห็นแมงอันนี้ กะ เทน้ำฮ้อนลวกฮัง จนตาย “เสี่ยง”
เมื่อศึกษาอย่างจริงๆแล้ว จึงทราบง่า มดง่าม หรือ แมลงจำพวกมด น่าสนใจกว่าสัตว์ชนิดอื่นเอามากๆ
หลายอย่างที่เราไม่รู้ มองข้าม ประเมินสัตว์ประเภทนี้ต่ำกว่าที่เป็นจริง อีกอย่างเพราะการทระนงตัว
ปัญญาสูง และมีกำลังกว่า จึงคิดว่ามด เป็นสัตว์กระจ้อยร้อย เมื่อพิจารณาแล้ว
ตกใจเกินจินตนาการ มาลองอ่านดู จะพบความอัศจรรย์ ของแมง ประเภทนี้
มดจัดเป็นแมลงสังคมชั้นสูง (Eusocial insect) มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหาร และสายใยอาหาร
อยู่ในอันดับ Hymenoptera กลุ่มเดียวกับ ต่อ แตน วงศ์ Formicidae ลักษณะเด่นคือ
ลำตัวออกเป็น 3 ส่วนเห็นได้ชัดเจนคือ หัว (head) อก (thorax) และท้อง (abdomen)
ในแต่ละส่วนก็จะประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญ เช่น
ส่วนหัว ประกอบด้วย ตาเดี่ยว (ocelli) โดยทั่วไปมีอยู่ 3 ตา อยู่เหนือตารวมขึ้นไป มักพบในเพศผู้และราชินี
หนวด (antenna) เป็นแบบหักข้อศอก มี 4 – 12 ปล้อง ส่วนมากมี 12 ปล้อง ทำหน้าที่รับความรู้สึก
และการสื่อสาร
หนวด จำนวน 4 – 12 ปล้องในเพศเมีย
และ หนวด 9 – 13 ปล้องในเพศผู้ มดงานมีหนวดจำนวน 12 ปล้อง
มีปากแบบกัดกิน (chewing type)
มดง่ามไม่มีเหล็กใน (มดส่วนใหญ่หลายชนิดมีเหล็กใน)
อาวุธที่ร้านกาจของมัน มีเพียง ง่ามปากกัด ที่ขบกัด ที่แข็งแรงกว่ามดอื่น พิษของมันอยู่ที่คมกราม ทำให้เกิด
อาการเจ็บคัน และ ชา เป็นผื่น
รังมดง่าม ประกอบไปด้วย วรรณะของมด ดังนี้
1 ราชินี (Queen) ทำหน้าที่วางไข่ และทำหน้าที่ควบคุมจำนวนประชาการของมดในรังให้เข้ากับสถานการณ์
2 มดเพศผู้ มีขนาดเท่ากับมดงาน หรือเล็กกว่า มีหัวเล็ก มีตาเดี่ยว มีหนวดสั้นมาก มีปีก 2 คู่
มดเพศผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์ กับ มด ธิดาราชินี (มดเพศเมีย) ในฤดูผสมพันธุ์
3 เป็นมดเพศเมีย รูปร่างโตกว่ามดปกติทั่งไปภายในรัง มีปีก 2 คู่ ก้นใหญ่ หรือ “ดากต่ง”
มีหน้าที่ ผสมพันธุ์และขยายอาณาจักร ในฤดูผสมพันธุ์
4 มดงาน (Minor worker) ซึ่งเป็นมดไร้เพศ ไม่สามารถผมพันธุ์ได้ ทำหน้าที่หาอาหาร ปกป้องรัง
และเป็นพลพรรคหลักในการสร้างอาณาจักร
5 มดพยาบาล มีลำตัวเล็กกว่ามดในรังทั้งหมด เป็นมดไร้เพศ ไม่ออกหากิน แต่ทำหน้าที่ ดูแลไข่
และนางพญา ป้อนอาหาร นางพญาและ ตัวอ่อนภายในรัง
6 มดทหาร ( Major Worker) มีลักษณะ หัวใหญ่ตัวใหญ่ มีกรามขนาด มโหฬาร เป็นมดไร้เพศ
ทำหน้าที่เป็นทหาร ดูแลรังดูแลพลพรรคมดงาน เป็นอาวุธเด็ด กำลังรบหลัก ของรัง
ความรู้ทั่วไป
มดในโลกใบนี้ มีราว 12,000 ชนิด มดกำเนิดขึ้นมาในโลก 140 ล้านปีมาแล้ว
ในขณะที่มนุษย์เพิ่งมีปรากฏขึ้นในโลกนี้เพียง 1 แสนปีมานี่เอง มดไม่ฉลาด แต่ฝูงมดต่างหากที่ฉลาด
มดเพียงตัวเดียวอาจเป็น “บักปึกกะหลึม “ ตัวจิ๋ว แต่เมื่ออยู่รวมกัน ฝูงมดสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์แวดล้อมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ฉลาดล้ำที่เรียกว่า ปัญญารวมฝูง (swarm intelligence)
หลักการสำคัญในการรวมฝูงของมดง่าม คือการไม่มีผู้นำ ไม่มีหัวหน้าคอยสั่งการมดงาน
มดราชินีไม่มีบทบาทอะไรนอกจากวางไข่ กำหนดจำนวนประชากร แม้จะมีสมาชิกถึงห้าแสนตัว
แต่ฝูงมดก็ยังทำงานได้อย่างราบรื่นโดยไม่มีการจัดการใดๆ ไม่มีแม้กระทั่งความขัดแย้ง
การดำเนินการต่างๆขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างมดแต่ละตัว นักวิทยาศาสตร์เรียกระบบนี้ว่า
การจัดการภายในตัวเอง (self-organizing)
มดง่าม จึงจัดได้ว่า เป็นสัตว์สังคมเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่ประสบความสำเร็จ ยิ่งยวดกว่ามนุษย์
ในการอยู่รวมกับแบบฝูง แบบเทียบไม่ติด
ขงจื้อ ปราชญ์ ที่ยิ่งใหญ่ชาวจีน กล่าวไว้ว่า
“ การปกครองที่ประเสริฐสุด คือการอยู่โดยไม่ปกครอง”
คาดว่า ขงจื้อคงนั่งสังเกต “ขวยมดง่าม หรือ ขวยมดแง่ม “ นี่เองจึงแจ้งแจ่มในกมล
พฤติกรรมโดยทั่วไป ของมดง่าม
มดง่ามเป็นมด ในตระกูล Pheidole มีการกระจายตัวในระบบนิเวศป่าเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน
แหล่งที่อาศัยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ (natural forest)หรือป่าขั้นทดแทน
(secondary forest) มีบางชนิดทำรังอาศัยในพื้นที่เกษตรกรรมหรือใกล้บ้านเรือน
สถานที่ทำรังมีหลากรูปแบบ ได้แก่ ใต้พื้นดิน ใต้ใบไม้ผุ กิ่งไม้ผุ ขอนไม้ผุ ใต้ก้อนหิน
กระจายบริเวณผืนป่าทั่วไป รวมทั้งพื้นเปิดโล่ง หรือ “เดิ่นดอน” ในภาษาอีสาน
นอกจากนี้ยังมีการสร้างรังในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น สร้างรังในขอนไม้ผุช่วยทำให้ขอนไม้ผุเร็วขึ้น
สร้างรังในดินมีส่วนช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลในการส่งเสริมการหมุนเวียน
ของธาตุอาหารได้ดีขึ้น
มดง่ามทุ่ง พบเห็นได้ตาม ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางบางแห่ง
การสร้างรัง
มดง่าม เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ เหล่ามดธิดาราชินี หรือ มดเพศเมีย ที่มีปีก และมดเพศผู้ที่มีปีก จะออกจากรัง
และบินขึ้นไปผสมพันธุ์กันกลางอากาศ เอิ้นว่า “ วิวาห์เหาะ “ ส่วนใหญ่ฤดูผสมพันธุ์คือ ช่วง เมษายนจนถึงเดือน
พฤษภาคม หลังจากผสมพันธุ์เสร็จ มดเพศผู้จะตายลง “เบิ๊ดเวียก “ สำหรับมดเพศเมีย
จะเก็บน้ำเชื้อไว้ในท้อง หรือ ส่วน (spermatheca) ให้มากที่สุด จากนั้นจะสลัดปีก
พเนจรหาแหล่งที่ทำรังแห่งใหม่ เพื่อสร้างอาณาจักรของตน ช่วงนี้เป็นช่วงที่อ่อนแอที่สุดของมดง่าม
เนื่องจากเป็นที่หมายปองของ สัตว์ต่าง ๆ ที่จ้องกิน “ราชินีไร้บัลลังก์” เช่น “ กะปอม “ ขี้โกะ “
และนกสารพัด อื่นๆ มากมาย
เมื่อ”ราชินีไร้บัลลังก์” เหล่านี้ รอดพ้นพญามัจจุราชมาได้แล้ว จะเร่งเสาะหา ตอไม้ ,โพรงใต้ดิน
หรือ สุมทุมพุ่มไม้ที่ปลอดภัย แทรกตัวเข้าหลบภัย
จากนั้นจะออกไข่ก่อน 2 ฟอง เป็นไข่รุ่นแรก มีลักษณะขุ่น ๆ เล็ก ๆ มันจะ กินไข่ตัวเองเพื่อ
เป็นอาหารเพื่อให้มีเรี่ยวแรง ( มดราชินีหากินเองไม่ได้ ต้องกินไข่ตัวเองก่อน )
ไข่ในชุดที่ 2 ออกไข่ 4 ฟอง ฟักเป็นมดงาน ไม่ค่อยสมบูรณ์ และยังปัญญาอ่อนเล็กน้อย
เธอจึงกินลูกมด 1 ตัว และให้มดงาน 2 ตัวกิน น้องสุดท้อง1 ตัวเป็นอาหาร เพื่อเป็นพลังงาน
จากนั้นมดงาน 2 ตัวจะทำการออกหาเหยื่อ หรือเมล็ดพืชต่างๆ มาให้ ราชินีกินเป็นอาหาร
เมื่อพอมีอาหารประทังท้องบ้างแล้ว ราชินีมดง่าม จึงออกไข่ ชุดที่ 3 มีจำนวน 8 ฟอง
พวกมันกินกันเอง เหลือรอด 4 ตัว ช่วยกันขุดดินทำรังและหาอาหาร
กลยุทธ์แบบนี้ เรียกว่า “ เดินหน้า 1 ก้าว ถอยหลัง2 ก้าว “ ปานว่า วิชาหมัดเมา ของเฉินหลง
เธอทำแบบนี้เรื่อยๆ จนกระทั่ง มีจำนวนสมาชิกในรังจำนวนหนึ่ง เพียงพอเพื่อหาอาหารเลี้ยงมดรุ่นถัดไป
เธอจะเลิกกินลูกตัวเอง และวางไข่รุ่นต่อมา จนกระทั่งประชากรในรังมีขนาดใหญ่ขึ้น
ราชินีมดจึง เริ่มออกไข่ ต่างประเภท เพื่อประโยชน์ต่อการ สร้างเมือง
เช่น ออกไข่ มดพยาบาล ออกไข่ มดทหาร เป็นต้น เมื่อมีปะชากรมากแล้ว มดงานจะย้ายราชินี ลงใต้ดิน
ให้ลึกพอในที่ปลอดภัย สร้าง”ห้องประมุข” ให้สมเกียรติ ราชินีใหม่ ในฐานะ “ราณีแห่งมด” และออกไข่
เป็น มดทหาร สถาปนา เมืองใหม่ สร้าง ฟีโรโมน อันเป็นเฉพาะรัง
( ตามจินตนาการของผู้เขียน คิดว่า การสร้าง ฟีโรโมนเฉพาะรังของราชินี เป็นการตั้งชื่อ ตัวเองและ
เมืองของตน เช่น “ ปูฆาน” เมืองแห่งกลิ่นปู เพราะการตั้งรกรากครั้งแรก มดงานนำเนื้อปูมาให้ราชินี
เมือง “ ตอแดงเนิ้งเวหาท “ เมืองนี้ตั้งอยู่ใต้ตอต้นแดง เป็นต้น )
เมื่อเมืองแห่งมดมั่นคงแล้ว มดง่ามจะส่ง “ทูต” หรือกลุ่มมดงาน ตามหารังแม่ เพื่อแจ้งตำแหน่ง
นครของตนให้กับ อาณาใหญ่จักรทราบ
ตามที่ผู้เขียนเคยสังเกต “ขวยมดง่าม” พบว่า แต่ละรังย่อยๆ มีการเดินแถวต่อต่อสื่อสารกัน
จนถึง รังขนาดใหญ่มาก อาจกินเนื้อที่ได้ร่วม 2 กิโล พออนุมานได้ว่า อาณาจักรนี้ มีเนื้อที่เท่าใด
มีรังย่อยเท่าไร รังใหญ่ที่เป็น “มหาจักรพรรดินี “ เพียงรังเดียว ซึ่งอาจมีอายุได้ 10 ปี
และมีนครย่อยทั้งหมด 60 รัง ทั้งหมดเป็น สหพันธุ์เดียวกัน
หลังจากภายในรังมีประชากรมดงานมากพอสมควร มดราชินีจึงจะผลิตมดวรรณะสืบพันธุ์เพื่อ
ออกไปสร้างรังต่อไป
การออกหาอาหาร
โดยทั่วไป มดง่าม จะจัดหน่วย “ จรยุทธ์” ประกอบด้วย มดทหาร (มดหัวโป) จำนวน 5 ตัว
และมดงานอีกประมาณ 30 ตัว เพื่อลาดตะเวนหาอาหาร เมื่อพบอาหาร เช่น ใบไม้
เมล็ดพืช หรือตัวหนอน ก็จะขนกลับรัง หากอาหารมีปริมาณมากเกินขีดความสามารถ
ก็จะแจ้งพลพรรค ให้มาขนกันเป็นขบวน ถึงขนาด สร้างถนนเป็น “ไฮเวย์” หรือทางด่วน
มดง่ามจะขนของเป็นทาง เป็นแถว เป็นระเบียบ ไม่ ขนไปมั่วแบบกระจาย
ทุกริ้วขบวนการขน มักมี มดทหารคอยดูแลความปลอดภัย และทำหน้าที่บรรทุกมดงาน
มดทหาร จึงเป็นเสมือน รถถัง และรถบรรทุกในคราเดียวกัน
มดนั้นเป็นสัตว์ทรงพลัง มดสามารถยกของหนัก ได้ 50 เท่า จากน้ำหนักของตัวมัน
ลองนึกภาพว่า “ท่านคูบาต้องแล่ง” สามารถยก รถปิ๊กอัพ ได้มือสองข้างเบิ่ง
มดง่าม ไม่กินน้ำหวาน หรือน้ำตาล อาหารหลักของมันคือ เมล็ดพืช และซากสัตว์
ในการสะสมอาหาร มดง่ามจะขนอาหารเพื่อสะสมไว้กินในหน้าแล้งอย่างบ้าคลั่ง
เมื่อเข้าสู่ห้วง ปลายหน้าฝนจนถึงต้นหน้าหนาว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วตรงกับ ฤดูการเก็บเกี่ยว
มันจะสะสมอาหารไว้ในโพรงได้ดิน เพื่อให้มั่นใจว่าจะอยู่รอดตลอดจนถึงฤดูฝนปีหน้า
มดเป็นนักวางกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดยิ่งยวด
พฤติกรรมอื่นที่เราคาดไม่ถึง
มดสายลับ
นอกเหนือจาก มดวรรณะต่างๆ ภายในรังของมดง่าม ที่กล่าวมาในขั้นต้น
มดง่ามยังแอบขโมยไข่ของมดชนิดอื่นมาเลี้ยง เพื่อศึกษาพฤติกรรมของมดต่างชนิด
หรือเพื่อ ล้วงความลับจาก รังมดชนิดอื่น เสมือนรู้เขารู้เรา เช่น มดแดงทราย มดคัน
มดดำ มดไว เป็นต้น มดต่างสายพันธุ์ที่ถูกเลี้ยงจากรังมดง่ามเหล่านี้ เพื่อเป็น สายลับ
และสืบหาแหล่งข้อมูลรับมือ มดต่างชนิดที่จะมารุกรานรังของมัน
มดเกษตรกรรม
ใครที่นึกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ รู้จักการปลูกพืชไว้เป็นอาหารหละก็ คิดผิดครับ
มดนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่ามนุษย์ จาการที่กระผม “ หาเลาะขุดขี้ไก่เดียน”
หรือขุดไส้เดือนมาเพื่อเป็นเหยื่อใส่เบ็ดกบ มีหลายครั้งที่ผม ขุดรังมดง่าม ด้วยความอยากรู้
ภายในรังใต้ดินของมัน มีโพรงที่ปลูก เห็ดรา สีขาวและ เขียวเทาเล็ก ๆ ไว้เพื่อเป็นอาหาร
เพราะว่า ในฤดูฝนนั้น เมล็ดพันธุ์ของพืชยังไม่สุก หรือ มีเพียงพอให้กินเป็นอาหาร
อีกทั้งยังมีน้ำฝนไหลหลาก ทั่วป่าโคกแต่ เดิ่นดอน จึงเป็นการลำบากในการหากิน
มดง่ามจึงหาเชื้อเห็ดรา เหล่านี้ มาปลูกไว้กินในรัง รอฤดูเมล็ดพืชสุกงอก
การสื่อสารของมดง่าม
การติดต่อสื่อสารระหว่างมดด้วยกัน ส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีที่ผลิตขึ้นมา สารเคมีชนิดนี้ เรียกว่า” ฟีโรโมน”
เป็นสารเคมีที่สำคัญมากที่สุด ฟีโรมนของมด มีหลายชนิดตามการใช้งาน
เช่น ฟีโรมนบอกทาง สามารถค้นหาอาหารเจอ
ฟีโรโมนเตือนภัย เอาไว้บอกเพื่อนถึงอันตราย
ฟีโรมนผสมพันธุ์ มีเฉพาะมดมีเพศ
ฟีโรโมนประจำรัง เอาไว้บอกว่าเป็นพวกจากรังเดียวกัน
ฟีโรโมน อาณาจักร เอาไว้บอกความเป็นพวกของ สหพันธุ์เครือญาติของรังที่เป็นอาณาจักรเดียวกัน
มดยังมีการสื่อสารอีกชนิดคือการใช้หนวด
จะเห็นอยู่เป็นประจำในลักษณะที่เรียกว่า “ แปะหนวด “ ในความเห็นส่วนตัว กระผมขอเรียก
การสื่อสารแบบนี้ว่า “ 12 G “ เพราะมันใช้หนวดทั้ง 12 ปล้องของมัน ในการถ่ายทอดข้อมูล
แต่ละตัวเมื่อพบกันตามทางเดิน จะเคลื่อนไหวหนวดป่ายแปะ
เพื่อแตะสัมผัสปล้องหนวดของกันและกัน เรียกว่า “ การซุนคิง “
“โบราณว่า สิบหูฟังหรือจะสู้ตาดู สิบตาดูหรือจะสู้สัมผัสเอง”
ยกตัวอย่าง โทรศัพท์มือถือ 3 G เราโทรหากิ๊ก เห็นภาพและได้ยินเสียง นึกว่าประเสริฐแล้ว
ลองนึกภาพหากเราได้กลิ่นและสัมผัสด้วยอย่างมดบ้างสิ พี่น้อง อยากจะบอกว่า 3 G ของท่าน
“โยนลง บวกควายนอน” ได้เลย
คิดว่ามนุษย์ ผลิตเทคโนโลยี่เป็นสุดยอดของการสื่อสารของโลกแล้ว ต้องคิดใหม่
3 G ดาวน์โหลด โน่นนี่ ภาพเสียง เอกสารข้อมูล หนัง MV หรือแม้แต่ เกมส์ Angry Birds
เกมส์ฮิต หนังสติ๊กยิงนกตายเป็นเบือ
มดง่ามใช้เวลา 3 วินาที ในการ “ซุนคิง” ข้อมูลและประสบการณ์มากมายถูกส่งผ่านกันและกัน
(ตัวอย่าง การสื่อสารของมดง่ามในแถวคันนา ไฮ่กกหว้า แปลเป็นภาษามนุษย์ ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียง 3 วินาที )
“ สวัสดี ฉันคือ หมายเลข 114562 ( หมายเลขที่ตกไข่)
“สวัสดี ฉันคือ หมายเลข 5006
ว่าแล้วทั้งสองก็เอาหนวดแปะกัน ข้อมูลเส้นทาง อาหารคือหอยโข่งนอนหงายสิ้นใจ
รสชาติ กลิ่น ปริมาณ จำนวนของมดที่กำลังขนเนื้อหอยอยู่ สถานการณ์รอบด้าน
ระวัง 100 เมตรจากตรงนี้ไป มีเด็กมนุษย์เพศผู้ กำลังสร้างคลื่น “ซึนามิ” ใส่แถวมด
ภาพเสียงกลิ่นรส สัมผัส ประสบการณ์ส่งตรงถึงอีกฝ่ายเสมือนเข้าร่วมเหตุการณ์นั้นจริงๆ
ดั่งการฝังความทรงจำสู่อีกฝ่าย จนผู้รับรู้ข้อมูล ขาสั่นๆ เพราะความกลัว ซึนามิต้องแล่ง
จากนั้น 114562 ไดแบ่งปัน M 150 เครื่องดื่มที่เป็นอาหารชั้นยอดของ “เมืองปูฆาน”
ให้แก่ 5006 ขบวนการนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนของเหลว ที่อยู่ในกระเพาะด้านหน้า
ระหว่างพลมดด้วยกัน และ อาคันตุกะ แล้วก็ผละจากกันไปทำหน้าที่ต่อ
ความเกี่ยวเนื่องของมดง่าม ในวิถีชีวิตชาวอีสาน
มดง่ามนั้น ในหน้าฝน ไม่ค่อยรุกราน ชาวไร่ ชาวนาผู้นอนนา เท่าใดนัก แต่เมื่อเข้าปลายฝน
ข้าวในนาสุก หรือ ลงลานข้าวแล้ว มดง่ามคือ ผู้ขน มักขนเม็ดข้าวไปสะสมในรวงรัง
และทำหน้าที่ เก็บซากสัตว์ที่ตายในตอนต้นหน้าแล้ง เช่น ขี้ไก่เดียนตายแดด ซากแมงไม้
ซากปลาข่อน หรืออื่นๆ ให้สะอาด และเป็นการ หมุนเวียนธาตุอาหารในดิน
ไม่ปรากฏว่า มดง่ามทำลายนาข้าว หรือผลผลิตจนถึงขั้นเสียหาย บทบาทในห่วงโซ่อาหาร
ที่เฮาอาจไม่รู้เห็น อาจจะรำคาญบ้าง สำหรับผู้ นอนนา เพราะมันเจาะอันนั้นอันนี้
บางครั้งก็ “ขบ”ฮอดในซ่งเสื้อ ส่วนมากคนเฒ่าคนแก่ เพิ่นเอา ขี้เถ้าไปถมฮังมัน
มันก็จะ ย้ายหนี หรือ เอาขี้เถ้าไปโรย ป้องกันการเข้ามาไต่ตอมของมดง่าม
บางครั้งชาวอีสานอาศัยมดง่าม หรือ มดแง่ม ในการทำนายฟ้าฝน เช่นเห็นมดขนไข่ขึ้นที่สูง
ไม่เกิน 2 วัน ฝนตกแน่ มดเดินแถวกัน ตามเดิ่นโล่งแจ้ง มากผิดปกติ แสดงว่า
“ฝนขาด” แล้ว
มดง่าม มีความสามัคคี น้ำหนึ่งใจเดียวกัน กล้าหาญ เสียสละ แบ่งปัน ขยันขันแข็ง
ถ่อมตัว มีเจตคติเพื่อส่วนรวมอย่างยิ่งยวด ไม่เห็นแก่ตัว จึงทำให้สังคมของมด
เป็นสังคมที่ประสบผลสำเร็จสมบูรณ์ ไร้ความวุ่นวายขัดแย้ง
จึงน่าควรศึกษาวิถีสังคมของมดเพื่อมาปรับใช้ในสังคม ให้เจริญก้าวหน้า
ไม่ใช่แค่มองเห็นเป็นเพียง แมลงตัวน้อยๆธรรมดา
สังคมบ้านนอกอีสานแต่เก่าก่อน ขยันขันแข็ง แบ่งปัน เสียสละ ถ่อมตน และสามัคคีกัน
อีกอย่างคนอีสานสมัยก่อน มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์ และคุณธรรม มีธรรมะในใจ
เฮาเขาใกล้ความสำเร็จทางสังคมแล้ว แต่เฮาลืมกำพืดเอง ละทิ้งหลงลืม