หมกเขียด นิกน็อค

หมกเขียดนิกน็อค

ชื่อภาษาอังกฤษ  leaves of Nick Noc
ชื่อพื้นบ้าน          หมกเขียด นิกน็อค (หมกเขียดน้อย)
ชื่อภาษาไทย       บรรณาพสุธาโอบ

สวัสดีงามๆ พี่น้อง ผู้แว๊บ ! เข้ามาอ่านหาความรู้ เรื่องวิถีอีสาน  มื้อนี้ (วันนี้) บ่าวปิ่นลม
ขอนำเสนอเมนูอาหารตามวิถีอีสาน อาหารวิเศษ 1 เดียวในจักวาล  มีหม่องเดียวนี้หละครับ
นั่นคือ“leaves of Nick Noc”  แปลเป็นไทยว่า  ใบไม้แห่งนิคน็อค  พะนะ

ความเป็นมา

แผ่นดินอีสานเป็นแผ่นดินที่การชลประทานส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงครับ เพราะเป็นพื้นที่ราบสูง
ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้ว ประเทศไทยแบ่งเป็น พื้นที่สูง  พื้นที่ราบ  พื้นที่ลุ่ม
ภาคอีสานเป็นพื้นที่ “ราบสูง” สังเกตได้จากผู้คนส่วนมากในพื้นที่  “นิยมกินลาบ
จึงกลายเป็น “พื้นที่ลาบสูง” นั่นเอง แม่นบ่
ช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. ของทุกปี เป็นฤดูแล้งตามธรรมชาติ ครับ เป็นมาหลายพันปีแล้ว
บ่ต้องประกาศเป็นภัยพิบัติแล้ง  บริหารงบกลาง”กินเปล่า”เด้อ
เมื่อเกิดอยู่ในแผ่นดินอีสาน ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติท้องถิ่น ตามภูมิปัญญาครับ
แหล่งโปรตีน ในช่วงฤดูนี้หายาก น้ำท่าแห้งขอด แผ่นดินทุรกันดาร การหาของกิน
ในช่วงเดือนนี้อาศัย ริมห้วย ริมหนอง แม้ไม่มีน้ำแล้ว แต่แผ่นดินยังมีความชุ่มชื้น
เพียงพอหล่อเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก ให้ดำรงชีพได้ ( ยกเว้นสูบน้ำไปทำนาปรังหมดแล้วก่อนฤดู
ทำให้สัตว์ต่างๆเหล่านี้ขาดที่พักพิง )

เขียดน้อย ชนิดต่าง ๆ เช่น เขียดขาคำ เขียดบักแอ๋  เขียดทราย อึ่งข้างลาย สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเหล่านี้

อาศัยความชุ่มชื้นของแหล่งน้ำ อาศัย”เขิบดิน”  ในการหลบพักพิง หลบความร้อน
เขียดสายพันธุ์น้อยๆ จำพวกนี้ เรียกว่า “เขียดนิกน็อค” ครับ  ได้ชื่อมาจากเสียงร้องของมัน
เมื่อคืนเดือนหงายอากาศเย็นสบาย ๆ พวกนี้จะออกมาร้องประสานเสียง
เสียงของเขียดเหล่านี้ผสมผสานกัน เกิดเป็นเสียง  นิก..ๆ  น็อก ๆ
สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จำพวก กบเขียดนั้น สำคัญยิ่งยวดต่อแผ่นดินอีสาน
นั่นหมายถึง ความสามารถของแหล่งน้ำ  ความสมดุลของระบบนิเวศน์ท้องถิ่น
ที่ยังมีพอเลี้ยงปากท้องสามัญชน

มันเป็น วิถีและวิธีหากิน ของคนในท้องถิ่นครับ เพื่อให้เผ่าพันธุ์ดำรงรอดในสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง
การแอบอิงธรรมชาติของชนบท  กินเพื่ออิ่มท้อง และเสพรสชาติของแผ่นดินตน

หมกเขียดนิกน็อค

หมกเขียดนิกน็อค

ส่วนประกอบชองอาหาร

1.เขียดน้อย หรือ บรรดาเขียด นิกน็อค
2.ผักหอมต่างๆ เช่น บักผั่ว(ต้นหอม) ผักหอมเป (ผักชีใบเลื่อย)
3.เกลือ
4.ปลาแดก
5.พริกสด
6.หัวซิงไค (ตะไคร้) และ ถั่วดิน (ถั่วลิสง)
7.เพิ่มพิเศษ ไข่ไก่แม่สาว
8.ใบตอง

การหาวัตถุดิบ เพื่อนำมาปรุงเป็นวัตถุสุก

1. ไต้เขียดน้อย (ไต้เขียด นิกน็อค)
เป็นขั้นตอนหากินในเวลากลางคืน ในกรณีที่กลางวันไม่ว่าง
นั้นคือ เอาหม้อแบต ไฟส่องส่องหาเขียดน้อยตามพื้นที่ลุ่มชุ่มชื้น
เช่นฮ่องห้วย โกนห้วยเก่า ตามเขิบดิน ตามริมหนองที่พอมีความชื้น
หรือตามบุ่งทาม ที่มีดินแตกเขิบ
2. การหาคุบเขียดน้อย
เป็นการหากินตอนกลางวัน ส่วนมากหาตอนเช้าๆ – 4 โมงเช้า
และช่วงเย็น บ่าย 4 โมง – ช่วง 6 โมงเย็น หาเอาตามลุ่มน้ำ
แหล่งน้ำธรรมชาติที่ยังพอให้ดินชื้นชุ่ม ในชนบท ส่องดูตามเขิบดิน
เพราะเขียดเหล่านี้หลบตามซอกเขิบดิน

วิธีปรุงอาหารบรรณาพสุธาโอบ

1. นำเขียด นิกน็อค มาล้างน้ำให้สะอาด
2.เหยาะเกลือลง เคล้าคลุก
3. นำหัวซิงไค มาตำกับพริกสด และถั่วดิน ตำให้ละเอียดพอควร

4.หั่นผักหอมต่างๆไว้
5.นำส่วนผสมที่ตำแล้ว มาคลุกเขียดน้อยให้ทั่ว
6.(พิเศษ) กรณีเพิ่มไข่ไก่ ให้ตีไข่ลงผสมกับเขียดน้อย
7.เติมน้ำปลาแดกปรุงรส และ ผงนัวตามชอบธรรม
8.นำใบตองมาห่อหมก ให้หนาพอสมควร

9. โยนใส่ขี้เถ้ากองไฟ เพื่อให้ความร้อนจากเถ้าปรุงอาหารสุก

10 ( อาจใช้วิธีนึ่งใส่หวดก็ได้  หากไม่หมกขี้เถ้า )

หมกเขียดนิกน็อค หรือ “ห่อหมกเขียดน้อย”  คืออาหารท้องถิ่น  กินเป็นฤดูกาล คือช่วงหน้าแล้ง
ส่วนในหน้าฝน ชาวอีสานจะไม่กินเขียดน้อย เพราะต้องปล่อยให้มันขยายพันธุ์ นั่นคือการรู้จังหวะ
ไม่เบียดเบียนเขามากเกินพอดี และให้มีกินแบบยั่งยืน
รสชาติของหมกเขียดน้อย จะหอมกลิ่นใบตองเจือปนกับกลิ่นเนื้อหอมนวล
กลิ่นหอมของผักหอม เจือจางกันกับรสชาติแซบนัว   มีโปรตีนและ แคลเซียมสูง
คือรสชาติของแผ่นดินอีสานในฤดูแล้ง  บ่งบอกวัฒนธรรมการกินของผู้คน
รสชาติหอมกรุ่นนุ่มอร่อยกลมกล่อม  ยากกยิ่งจะบรรยายเป็นตัวอักษร

การหาชิมอาหารชนิดนี้ ปัจจุบันหากินยากแล้ว  มันเป็นความเจ็บปวดที่จะบอกว่า
เขียดน้อยเริ่มหายาก และไม่มีความสามารถเลี้ยงผู้คนให้บริบูรณ์ดั่งเช่นก่อน
นั่นเพราะระบบนิเวศน์ถูกทำลายความหลากหลาย ขัดแย้งจังหวะธรรมชาติ
ไม่เข้าใจสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และสมดุลธรรมชาติรายล้อม
แหล่งน้ำ ป่าท้องถิ่น พฤติกรรมการใช้สารเคมี  และการเพิกเฉยต่อการ
ทำลายความสมบูรณ์ของทรัพยากรท้องถิ่น  การบุกรุกเข้าทำลายของนายทุน

สิ่งเหล่านั้นเองทำให้อาหารหายาก อดอยาก และมีของกินไม่หลากหลาย
ผู้คนทุรนทุรายมากยิ่งขึ้นจากอดีต หมกเขียดน้อยจึงเป็นอาหารหากินยากเสียแล้ว


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*