แมงอะระหัง

ชื่อ  แมงอะระหัง  (ฤาษีผู้สันโดษ)
ชื่อวิทยาศาตร์   Torrynorrhina distincta ( ไม่แน่ชัด )
วงศ์  P. montana group
ชื่ออื่น      แมงทับเหลี่ยม

ลักษณะทางกายภาพ

เคลือญาติของแมลงพันธุ์ด้วง  แมงอันนี้ทั้งสองเพศมีหลายสี อย่างน้อยสามสีคือ เขียว เขียวปนส้ม (รวมทั้งส้มเขียวและส้มแดง) และน้ำเงินดำ ลักษณะเด่นคือมีส่วนหน้าของหัว (Clypeus) ยื่นยาวและค่อนข้างขยายใหญ่ใกล้ส่วนปลาย ใต้ท้องมีสีเข้มในส่วนของท้อง แต่ด้านบนของด้วงชนิดหลังนี้มีสีเดียวคือสีเขียวแกมทอง
ตัวผู้ มักจะมีลำตัวแคบกว่าตัวเมียและมีฟันที่ปลายแข้ง (tibia) เพียง 1 ซี่ ส่วนตีวเมียจะมีฟัน 2 ซี่โดยมีซี่ถัดจากส่วนปลายแข้งลงมาด้าน มีหนวดสั้น ลำตัวเกือบจะเป็นเหลี่ยม มีขนาดใหญ่ รองจากด้วงกว่าง
หรือแมงคาม

อาหาร

ชอบกินน้ำหวานจากดอกไม้ที่มีช่อแข็ง เช่น ดอกหมาก  ดอกพร้าว ฮวงตาล  และฮวงหวาย

ดอกพร้าว

ดอกพร้าว

สถานที่พบ

ตามฮวงดอกหมาก ฮวงดอกพร้าว ฮวงดอกตาล ส่วนมากพบตอนแดดพวมงาย
เนื่องจากเรือนอีสานสมัยก่อนเป็นเรือนยกใต้ถุนสูงมีชานแดด  และด้านหลัง
เป็น”ซานน้ำ” หรือที่เก็บแอ่งน้ำ อุ น้ำ ไว้ใช้สอย
ใกล้ๆกับซานน้ำ  มักจะปลูกต้นหมาก ไว้ให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่เคี้ยวหมากนอกจากนั้น
ยังปลูกต้นพร้าว ไว้ใกล้ๆ

แมงอะระหัง จึงชอบมาตอมดอกพืชชนิดที่กล่าวมา เพื่อดูดกินน้ำหวาน โดยเฉพาะต้นหมาก

เมื่อกินอิ่มแล้ว จะเมา หรือ” วิน” พอแดดตอนสายส่องแสง หรือ
แดดพวมงาย ก็จะผกผินบิน ผิดทิศทางเข้ามาในเรือน เด็กน้อยไล่จับ เป็นที่สนุกสนาน
บางครั้งก็ เอาไม้ไปสอยเอา มันจะตกลงดิน

วงจรชีวิต

วางไข่ในดิน ตรงพื้นที่ดินทรายมีใบไม้ทับถม นาน 2-3 เดือน (สิงหาคม-ตุลาคม )
จากนั้นก็กลายเป็น“บ้งดิน “ หรือ ตัวหนอนในดิน  อีก 2 – 3 เดือน
พอประมาณ เดือน เมษายน ก็ ลอกคราบ กลายมาเป็นแมลง
ส่วนมากเป็นแมลงที่พบตัวได้ยาก ไม่ชอบตอมไฟ กลางคืนอาศัยหลบนอน ตามยอดไม้เปลือกไม้
จะพบตัวมันก็ต่อเมื่อ ช่วงเดือน เมษายน– กรกฎาคม   เท่านั้น

ในแง่วิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางธรรมชาติ

ส่วนมากไม่นิยมนำมาเป็นอาหาร แต่ก็ กินได้ โดยการเอามา “จี่” กิน  ส่วนใหญ่ เมื่อจับได้

ผู้ใหญ่จะทำไม้” แท่นหัน”  ทำจากไม้ไผ่  แบนๆ เจาะรูร้อยเชือก ทั้งสองด้าน
และไม้อีกอันเป็นด้ามจับหากคิดไม่ออก ให้ดู ใบพัดเฮลิคอปเตอร์  ชนิดใบพัดเดี่ยว
จากนั้นก็นำ แมงอะระหัง  สองตัว ผูกเชือกที่ขา ร้อยติดทั้งสองด้าน แล้วให้มันบิน มันจะบินถ่วงกัน
เป็นวงกลม ทำให้ ใบพัดหมุนเป็นที่สนุกสนาน  เมื่อมันเหนื่อย ก็ เอามา “ จี่กิน “
หรือ ปล่อยมันคืนธรรมชาติต่อไป

แมลงชนิดนี้ มีส่วนช่วยในการผสมเกสร ดอกพร้าว ดอกหมาก และ ต้นตาล เป็นแมลงตัวใหญ่ที่สวยงาม
ที่ได้ชื่อเรียกว่า อะระหัง  เดาว่า เดิม เรียก “ อะระหัน “ เพราะเอามา
เล่นหมุนเป็นไปพัดให้มันหมุนหรือ “ หัน” ในภาษาอีสาน แต่เนื่องจาก พ้องเสียงกับ
คำว่า”อรหันต์” ซึ่งเป็นนามเรียกของผู้หลุดพ้นจากกิเลส
ในคติทางพุทธศาสนา จึงไม่สมควรที่จะนำมาเล่น จึงเรียก” อะระหัง” แทน


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*