ตลาดหัวตะเข้
ชุมชนหัวตะเข้ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตลาดกระบังของกรุงเทพฯ แต่เดิมมีประชาชนอาศัยอยู่ริมคลองศีรษะจระเข้ใหญ่ซึ่งไหลในแนวทิศเหนือ – ใต้ เมื่อครั้งมีการขุดคลองประเวศบุรีรมย์ในแนวตะวันออก – ตะวันตก ได้แบ่งคลองออกเป็นสี่แยก คลองซึ่งถูกแยกทางฝั่งเหนือ เรียกว่าคลองลำปะทิว หรือลำปลาทิวในปัจจุบันเรียกกันทั่วไปว่า สี่แยกศีรษะจระเข้ใหญ่ ในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักกันคือ“สี่แยกหัวตะเข้ ”เหตุที่ชื่อว่า “หัวตะเข้” ก็เพราะแต่ก่อนนี้มีจระเข้ชุกชุม ประชาชนที่อาศัยมีอาชีพหลักคือเป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ทำแปลงเกษตรกรรม เลี้ยงปลา และสัตว์ ซึ่งใช้เป็นพาหนะตลอดจนอุปโภค บริโภค กลุ่มชนส่วนใหญ่เป็น ชาวไทย ไทยรามัญ ผสมผสานกับชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีน เรือนพักอาศัยมักปลูกเรียงรายริมคลอง จึงทำให้บริเวณแยกคลองประเวศ มีตลาดชุมชนริมน้ำขนาดใหญ่ดังเช่น ตลาดหัวตะเข้ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองประเวศบุรีรมย์ตัดกับคลองลำปลาทิว สันนิษฐานว่าตลาดน่าจะมี มาในยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ ภายหลังการขุดคลองประเวศบุรีรมย์แล้วเสร็จในปี ๒๔๒๓
“ตลาดหัวตะเข้”เดิมมีลักษณะเป็นเรือนแถวไม้ชั้นเดียวปลูกสร้างวางตัวยาวขนานริมคลองทั้งสี่มุม ของบริเวณสี่แยกหัวตะเข้ รวมร้านค้ามากกว่าร้อยห้อง ด้านหน้าเรือนแถวเป็นชานไม้มีหลังคาคลุมเป็นทางเดินกว้างจรดริมคลอง ซึ่งสามารถใช้เป็นที่จอดเรือ ซื้อขาย ขนถ่ายสินค้าได้ยาวตลอดแนว กรรมสิทธิ์ที่ดินฝั่งเหนือคลองประเวศของตลาดส่วนใหญ่ อยู่ในความครอบครองของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ผู้อำนวยการขุดคลองประเวศ ซึ่งต่อมาได้ตกทอดเป็นของท่านเลี่ยมบุนนาค ธิดาลำดับที่ ๒๔ ที่ดินฝั่งใต้คลองประเวศเป็นของเอกชน ซึ่งเปลี่ยนการถือครองมาหลายครั้ง ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของคุณสมบูรณ์ วงศ์อุไร บุตรเขยของตาหยิน แซ่จั๋ง จีนแคะเจ้าของตลาดตั้งแต่ริมน้ำต่อเนื่องมาจนตลาดบก ซึ่งได้สร้างขึ้นภายหลัง เมื่อมีการตัดถนนลาดกระบัง (สุขุมวิท ๗๗) เรือนร้านค้าริมน้ำฝั่งใต้แยกออกเป็น ๒ ช่วง ตรงกึ่งกลางเรือนแถวมีการสร้างสะพานเชื่อมคลองทั้งสองฝั่ง ร้านค้าฝั่งใต้ด้านซ้ายส่วนใหญ่ขายของสด เช่น ผัก เนื้อต่างๆ ด้านริมขวายาวจรดแยกคลองหัวตะเข้ เป็นโชว์ห่วยขายของอุปโภคในชีวิตประจำวัน เครื่องมือเกษตรและเสื้อผ้ามีร้านรวงคึกคักมีชีวิตชีวาซึ่งทำให้ตลาดหัวตะเข้ในอดีตเป็นชุมชนตลาดใหญ่ ที่คนจากพื้นที่ใกล้เคียงมาซื้อขายสินค้าอย่างหนาแน่นโดยเฉพาะ ทุกวันพระจนกลายมาเป็นตลาดริมน้ำขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งริมคลองประเวศบุรีรมย์ที่เคยเฟื่องฟูในอดีต
ข้อมูลเพิ่มเติม
ตลาดหัวตะเข้ เป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีความพยายามในการฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังจากซบเซามานาน ชาวชุมชนหัวตะเข้ได้ร่วมกันฟื้นฟูชุมชน ในปี ๒๕๕๒ โดยพยายามหาจุดเด่นของสถานที่มาเป็นจุดขายได้อย่างน่าสนใจ มีการทำวิจัยและพัฒนากิจกรรมทางการท่องเที่ยวโดยอาศัยความมือกับสถาบันการศึกษา ด้วยการใช้งานศิลปะมาเป็นสื่อกลางในการฟื้นฟูตลาด ซึ่งใกล้ๆ กับตลาดหัวตะเข้เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น วิทยาลัยช่างศิลป์ลาดกระบัง ที่เปิดสอนมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ รวมถึงสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และโรงเรียนศึกษาพัฒนา ที่เข้ามามีบทบาทร่วมกับชาวชุมชนในการฟื้นฟูตลาดแห่งนี้
ตลาดหัวตะเข้ได้เผชิญวิกฤติเพลิงไหม้อีก ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๕๖ และ ปี ๒๕๕๗ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ทำให้ชาวชุมชนเกิดการตื่นตัวในการรวมกลุ่มกันแก้ปัญหาต่างๆ ของชุมชนมากยิ่งขึ้น และร่วมกันพัฒนางานด้านการท่องเที่ยวและเรียนรู้ของตลาดหัวตะเข้ จนทำให้ในปัจจุบัน ภายในตลาดมีแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้มากมาย อาทิ บ้านสามครู บ้านที่อาจารย์วิทยาลัยช่างศิลป์ลงขันลงแรงร่วมสร้างสรรค์ขึ้นมาในชุมชน มีการจัดแสดงานศิลปะหมุนเวียน การสอนเวิร์คช๊อปสำหรับผู้ที่สนใจ ร้านเอเฟรม แหล่งขายอุปกรณ์ศิลปะ ในตลาดที่นักศึกษาช่างศิลป์แวะเวียนมาใช้บริการอย่างยาวนาน ศูนย์การเรียนรู้วิถีถิ่นหัวตะเข้ สถานที่บอกเล่าเรื่องราวของตลาด สี่แยกหัวตะเข้ คาเฟ่ แอนด์ เกสท์เฮ้าส์ โฮมสเตย์ แนวอนุรักษ์วิถีชุมชน ฯลฯ ทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่แสวงหาแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนอย่างต่อเนื่อง
ตลาดหัวตะเข้ ซอยลาดกระบัง 17 ถนนลาดกระบัง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520