ความเป็นมาและมูลเหตุของพิธีกรรมบุญบั้งไฟ

ความเป็นมาของพิธีกรรมบุญบั้งไฟ

บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับแถน เมื่อถึงเดือนหกเริ่มต้นการทำนา ชาวบ้านจะจุดบั้งไฟเป็นการบูชาขอให้พญาแถนบันดาลฝนให้ตกลงมา ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นกิจกรรมร่วมกันของชุมชนอีสานหลายๆ หมู่บ้าน หมู่บ้านเจ้าภาพจะปลูกโรงเรือน เรียกว่า ผามบุญ ไว้ต้อนรับชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่น และดูแลจัดหาอาหารสำหรับทุก ๆ คน เช้าของวันงานชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ ประกวดประชัน แห่ และจุดบั้งไฟที่ตกแต่งอย่างงดงาม บั้งไฟของหมู่บ้านใดจุดไม่ขึ้นชาวบ้านหมู่บ้านนั้นจะถูกโยนลงโคลนเป็นการทำโทษ และจะมีการเซิ้ง ฟ้อน กันอย่างสนุกสนาน และในสมัยหลังๆ จะมีการเซิ้งปลัดขิกร่วมอยู่ในขบวนด้วย โดยมีความเชื่อว่าเป็นการไล่ผีให้พ้นออกไปจากหมู่บ้านและเร่งให้แถนส่งฝนลงมาเร็ว ๆ

มูลเหตุของพิธีกรรม 

จากตำนานพื้นบ้านอีสานเรื่องพญาคันคาก การจุดบั้งไฟ เป็นสัญญาณแจ้งให้พญาแถนรู้ว่าถึงฤดูทำนาแล้วให้พญาแถนบันดาลให้ฝนตก เพื่อจะได้มีน้ำปริมาณเพียงพอแก่การปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร จากตำนานเรื่องพญาคันคาก มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

พญาคันคากบัญชาการให้พญาปลวก พาพวกก่อโพน
เป็นโอ้นโญ้นโอ่นโหญ่น โพนต่อโพนไปถึงฟ้าหย่อนๆ
สรรพสัตว์พากันไต่ต้อนแต้น ถึงแถนฟ้าฟากสวรรค์
สงครามเทื่อนั้นเกิดสะเทือนเลื่อนลั่นระบาดทั่วจักรวาล
สองชิงดีตีทัพ แผ่นดินไหวไฟฟาด
น้ำก็เฟือนสมุทรฟื้น ลมก็หมุนน้าวป่า
ฝนแสนห่าบ่มีเทื่อเหือดมื้อ ระดือเพี้ยนเปลี่ยนแปลง
ผิดสำแดงแล้งฮ้าย บ่มีเหือดฮนทุกข์
ขุกเข็ญหันกลียุค มุ่นวายทะลายปิ้น

เป็นจั่งซี้เจ็ดปีปลายเจ็ดเดือน คันคากแถนรบเรวกันบ่หยุดหย่อน
บ่มีผ่อนเผือดหญ่อ ทั้งสองก้ำพ่ำเสมอ ท่านเอย…

หลังจากพญาแถนยอมแพ้แล้ว การสู้รบได้ยุติลงแล้ว พญาคันคากได้จัดประชุมเจรจาตกลงกับพญาแถน โดยพญาคันคากได้ขอให้พญาแถนเปิดรูพญานาคให้พญานาคขึ้นไปเล่นน้ำ เพื่อฝนจะได้ตก ยังความอุดมสมบูรณ์ให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร

พญาแถนถามว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า มนุษย์ต้องการน้ำเมื่อใด พญาคันคากตั้งกติกาว่า เมื่อถึงเดือนหก ซึ่งปกติ เป็นฤดูเริ่มทำนา จะให้มนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นไปบอก เมื่อแถนเห็นบั้งไฟแล้ว ให้เปิดรูเพื่อให้นาคได้ขึ้นไปเล่นน้ำ

 

เมื่อถึงเดือนหก ชาวบ้านชาวเมือง จึงทำบั้งไฟ จุดบั้งไฟขึ้นฟ้า เป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้
(หมายเหตุ : การทำและเล่นบั้งไฟ คงมีมาก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นลักษณะการละเล่นอย่างหนึ่ง ไม่จำกัดฤดูกาล ยังไม่ใช่ประเพณี)


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*