ศาลหลักเมืองอุบล
แต่เดิมนับตั้งแต่สร้างเมืองอุบลราชธานีมา ยังไม่มีการตั้งศาลหลักเมือง จนมาถึงสมัยพลตำรวจตรีวิเชียร ศรีมันตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยนั้น ได้มีโอกาสกราบนมัสการเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่สมเด็จท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ใหญ่ชาวอุบล ซึ่งเป็นที่เคารพโดยทั่วไป เพื่อปรึกษาหารือว่า “จังหวัดอุบลราชธานี” เป็นจังหวัดใหญ่หัวเมืองเอกมาตั้งแต่อดีตกาล มีชื่อ “ราชธานี” เพียงแห่งเดียว มีความเจริญรุ่งเรืองมานาน แต่ยังไม่มีการยกเสาหลักเมืองให้เป็นมิ่งขวัญแก่ประชาราษฎร สำหรับยึดถือเป็นหลักชัยทางจิตใจ ให้มีความมั่นคง เชื่อในหลักบ้านหลักเมือง เป็นการผดุงกำลังใจให้แน่วแน่ในการดำรงชีพ โดยอานุภาพของหลักเมือง จะเป็นหลักชัยให้ประชาราษฎรในบ้านเมืองอุบลฯ อยู่เย็นเป็นสุข รุ่งเรืองสถาพรตลอดกาล จึงเห็นสมควรสร้างศาลหลักเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ณ ที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ กลางเมืองอุบลราชธานี … เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พิจารณาแล้วก็ไม่ขัดข้อง แต่อยากให้สอบถามชาวอุบลส่วนใหญ่ก่อน เนื่องจากไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งกันในภายหลัง ต่อมาเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ พร้อมแล้ว จึงเลือกตำแหน่งที่ตั้งเสาหลักเมือง อยู่ที่ด้านทิศใต้ของทุ่งศรีเมือง และด้านทิศเหนือของศาลากลางจังหวัด (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี) กำหนดวันวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมือง วันที่ 27 สิงหาคม 2515 โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นผู้ให้ฤกษ์และเดินทางมาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ด้วย ส่วนเสาหลักเมืองนั้น กรมศิลปากร ได้ออกแบบเป็นยอดบัวตูม โดยใช้ไม้ราชพฤกษ์ เมื่อการก่อสร้างศาลหลักเมืองอุบลราชธานีแล้วเสร็จ นายเดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในสมัยนั้น ได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศ ในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิด ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2519
ข้อมูลเพิ่มเติม
เป็นเสาหลักเมืองยอดบัวตูม ที่ทำมาจากไม้ราชพฤกษ์ ผูกด้วยผ้าหลากสี และมีการปิดทองสวยงาม
ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลรชธานี จังหวัดอุบลราชธานี 34000