บุญผะเหวด
บุณผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญเดือนสี่ หรือบุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไป ของชาวอีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือน ๓ พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อ ตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาติและในงานนี้ก็ จะมี การเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใด ฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงาม ความดี จะได้อานิสงส์ไปเกิดในภพหน้า
เทศน์มหาชาติ
เทศน์มหาชาติ คือ การฟังเทศน์เรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ โดยมีความเชื่อจากเรื่องเล่าทางพุทธศาสนาว่า พระมาลัยได้ไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีและพบพระศรีอาริยเมตไตรย์ และถ้ามนุษย์อยากพบพระองค์เช่นเดียวกันให้ฟังเรื่องมหาเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียวแล้วให้นำไปปฏิบัติ จึงเป็นเหตุให้เกิดงานบุญเผวสและการฟังมหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 13 กัณฑ์ให้จบภายในวันเดียว เมื่อถึงเดือน 4 จะเตรียมการนิมนต์พระเป็นจำนวนมากจากวัดต่างๆ ตามจำนวนกัณฑ์เทศน์ที่แบ่งไว้
ก่อนงานพิธีชาวบ้านจะไปช่วยงานที่วัด จัดทำที่พักสำหรับผู้มาร่วมงานและจัดดอกไม้ ตกแต่งศาลาโรงธรรม ประดับธงเป็นทิศทั้งแปด ซึ่งหมายถึงเป็นเขตปลอดภัยไม่ให้พญามารเข้ามา มีการทำข้าวนับรวมกันได้พันก้อน เอาไม้มาเสียบและทำเป็นทางคดเคี้ยวไปมาบนศาลาโรงธรรม ทางด้านตะวันออกจะปลูกหอพระอุปคุตด้วย เมื่อเริ่มพิธีตั้งแต่เช้ามืดจะมีการเชิญพระอุปคุต ต่อด้วยการแห่เผวส ซึ่งสมมติเป็นการแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมืองจากป่าหรือทุ่งนานอกวัดในเวลาบ่าย เมื่อถึงตอนค่ำก็จะรวมกันสวดมนต์และฟังพระเทศน์ ต่อเช้ามืดราวตี 3 – 4 ชาวบ้านจึงแห่ข้าวพันก้อนไปถวายพระอุปคุต แล้วก็เริ่มเทศน์มหาชาติ ซึ่งจะเทศน์ต่อกันไปจนจบและต้องใช้ตลอดวัน ภิกษุที่เทศน์แต่ละกัณฑ์จะมีเจ้าภาพถวายจตุปัจจัยประจำแต่ละกัณฑ์
บุญผะเหวด
บุญผะเหวด เป็นประเพณีที่ชาวอีสานนับถือ สืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาหลายร้อยปี เมื่อถึงเดือนสี่ชาวอีสานแต่ละหมู่บ้านจะประชุมกันเพื่อ กำหนดวันจัดงาน ตามความพร้อมของแต่ละหมู่บ้าน เมื่อกำหนดวันเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะบอกกล่าวญาติ พี่น้อง และหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ และจะ ช่วยกันหาดอกไม้มาตากแห้งไว้ ช่วยกันฝานดอกโน (ทำจากลำต้นหม่อน) งานนี้เป็นงานใหญ่ทำติดต่อกันสามวัน
วันบีบข้าวปุ้น
วันแรกของงาน ตามประเพณีดั้งเดิมนั้น จะเรียกว่า วันบีบข้าวปุ้น หรือวันห่อข้าวต้ม ชาวบ้านจะเตรียมจัด ทำอาหารคาวหวาน ไว้ต้อนรับญาติพี่น้อง หรือเพื่อน สนิท มิตรสหายที่จะมาร่วมงานบุญ ซึ่งในงานประเพณี บุญผะเหวดร้อยเอ็ด กำหนดให้วันแรกตอนบ่ายๆ เป็นวัน แห่พระอุปคุตรอบเมือง ให้ประชาชนได้สักการบูชา แล้ว นำไปประดิษฐานไว้หออุปคุต ภายในบริเวณงาน เพราะ เชื่อว่าเป็นพระเถระ ผู้มีฤทธิ์ นิรมิตกุฏิอยู่กลางแม่น้ำมหาสมุทร สามารถขจัดเภทภัยทั้งมวลได้ และพระอุปคุต ยังปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชคลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึง มีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจากสะดือทะเล
วันโฮม (วันรวม)
วันที่สอง ตามประเพณีดั้งเดิมถือว่าเป็นวันโฮม (วันรวม) จะเป็นวันที่ญาติพี่น้อง ที่รู้ข่าวการทำบุญ มหาทานจะมาร่วมทำบุญโดยนำข่าวสาร อาหารแห้ง มาร่วมสมทบ และร่วมรับประทานอาหารตลอดทั้งวัน พร้อมทั้งนำอาหารต่างๆ ไปฝากญาติพี่น้องคนอื่นๆ ด้วย ในงานประเพณีบุญผะเหวดร้อยเอ็ด กำหนดให้เป็นวันแห่ พระเวสสันดรเข้าเมือง แต่ละคุ้มวัดตลอดทั้งอำเภอทุก อำเภอในจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน ๒๐ อำเภอ จะจัดขบวน แห่แต่ละกัณฑ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์แห่รอบเมือง ตอนเย็นมีมหรสพ สมโภช ในวันที่ ๒ และ ๓ ชาวร้อยเอ็ดทุกภาคส่วนทั้งภาค ราชการ บริษัทห้างร้าน เอกชน จะมีตั้งเต็นท์บริการเลี้ยง ข้าวปุ้นฟรีตลอดงาน
แห่กัณฑ์จอบกัณฑ์หลอน
วันที่สาม เป็นวันแห่กัณฑ์จอบกัณฑ์หลอน เริ่มตั้งแต่ เช้ามืด ประมาณตีสี่ ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อน มาทำพิธีเพื่อเอาบูชากัณฑ์เทศน์ คาถาพัน เรียกว่า”ข้าว พันก้อน” ชาวบ้านจะพากันแห่ข้าวพันก้อนรอบศาลาวัด มี หัวหน้ากล่าวคำบูชา
แห่กัณฑ์หลอน
“แห่กัณฑ์หลอน” คำว่า “หลอน” เป็นภาษาถิ่นไท อีสาน แปลว่า “แอบมาหา หรือลักลอบไปหา โดยไม่บอกกล่าว ล่วงหน้า” กัณฑ์หลอน คือกัณฑ์เทศน์พิเศษนอกเหนือจาก กัณฑ์เทศน์ใน “บุนผะเหวด” ซึ่งมีเพียง ๑๓ กัณฑ์ และ แต่ละกัณฑ์จะมีเจ้าภาพเป็นเจ้าของกัณฑ์นั้นๆ อยู่แล้ว กัณฑ์หลอน จึงเป็นกัณฑ์เทศน์ที่ไม่ได้จองไว้ก่อน แต่จะเป็น กัณฑ์เทศน์ที่ชาวบ้านแต่ละคุ้มร่วมกันจัดขึ้นในวันที่มีการ เทศน์ผะเหวดนั่นเอง โดยผู้มีศรัทธาจะตั้งกัณฑ์หลอนไว้ที่ บ้านของตนแล้วบอกกล่าวพี่น้องที่มีบ้านเรือนอยู่ในคุ้มนั้นๆ จัดหาปัจจัยไทยทานต่างๆ เท่าทีมีจิตศรัทธาหาได้ ซึ่งส่วนมาก จะใช้กระบุงหรือกระจาดไม้ไผ่ หรืออาจจะเป็นถังน้ำพลาสติก ใส่ข้าวสารลงไปประมาณครึ่งถัง แล้วหาต้นกล้วยขนาดสูง ประมาณ ๑ เมตร ตั้งไว้กลางกระบุง กระจาด หรือถังน้ำนั้น แล้วนำเงินชนิดต่างๆ เช่นใบละ ๒๐ , ๕๐ , ๑๐๐ , ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ บาท คีบด้วยไม้ไผ่ แล้วนำไปเสียบไว้ที่ลำต้นของ ต้นกล้วย ส่วนที่โคนต้นกล้วยนั้นนอกจากข้าวสารแล้วอาจจะ นำปัจจัยอื่นๆ เช่น ธูปเทียน ผงซักฟอก มะพร้าวอ่อน กล้วยสุก ยาสามัญประจำบ้าน ฯลฯ ใส่ไว้เป็นเครื่องไทยทาน
เมื่อได้เวลานัดหมาย คณะผู้มีศรัทธาจะพากันแห่กัณฑ์ หลอนจากที่ตั้งโดยมีกลองยาว แคน ฉิ่ง ฉาบ ฯลฯ นำขบวน ผู้มีศรัทธาบางคนก็จะพากันฟ้อนรำไปตามจังหวะเสียงกลอง อย่างสนุกสนานพอถึงวัดจะแห่รอบศาลาโรงธรรมโดยเวียน ขวา ๓ รอบ แล้วนำกัณฑ์หลอนขึ้นบนศาลาถวายแด่ภิกษุรูป ที่กำลังเทศน์อยู่ขณะนั้น กัณฑ์หลอน สามารถนำไปทอดได้ ตลอดทั้งวันขณะที่มีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งอาจจะถึงมืดค่ำก็ได้ และอาจจะมีกัณฑ์หลอนจากหมู่บ้านอื่นแห่มาสมทบอีก ก็ได้โดยไม่จำกัดจำนวน ถือเป็นการสร้างความสามัคคีของ คนระหว่างหมู่บ้าน ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน
กัณฑ์จอบ
กัณฑ์จอบ เจ้าศรัทธาทำกัณฑ์จอบจะไปดูที่วัดก่อน หากพระองค์ใดที่เป็นที่คุ้ยเคยและเป็นที่เคารพของเจ้าภาพ กัณฑ์จอบนั้น ก็จะแห่กัณฑ์นั้นเข้าวัดให้ตรงกับเวลาที่ พระภิกษุสงฆ์องค์ที่ตนชอบพอและเคารพนั้นกำลังเทศน์ กิริยาเช่นนี้เรียกว่า กัณฑ์จอบ
จังหวัดร้อยเอ็ด กำหนดให้งานประเพณีบุญผะเหวด เป็น ประเพณีประจำจังหวัดร้อยเอ็ด โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นปีที่ ๒๐ งานประเพณี บุญผะเหวด จึงเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ ที่บ่งบอกถึงความ เชื่อและความศรัทธาที่ชาวร้อยเอ็ดมีต่อพระพุทธศาสนา โดย ถือเอาวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์แรกของเดือนมีนาคม เป็นวัน จัดงาน ในปีนี้ตรงกับวันที่ ๕ – ๖ มีนาคม ๒๕๕๓ โดยได้ เรียนเชิญปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ เป็นประธานในการเปิดงาน และมีประชาชนร่วมทำบุญจาก กัณฑ์จอบ กัณฑ์หลอน จำนวน ๒ ล้านบาทเศษ
กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งใหญ่ อันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของ มวลชนมนุษย์ชาติเป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสาน แต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจ ร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรม สืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็น วัฒนธรรมสืบไป นอกจากนี้ยังเป็นการสังสรรค์ ระหว่าง ญาติพี่น้องจากแดนไกลสมกับคำกล่าวที่ว่า “กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ”
บรรณานุกรม
- ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ.(2544). โครงการวิจัยเรื่องประเพณีสิบสองเดือน : พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป. (2544). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร.
ที่มา
- บุญผะเหวด ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
- บุญผะเหวด ทานบารมี บุญเดือนสี่ชาวอีสาน
- บุญผะเหวดอีสาน : กับมหาทานบารมี