เช็กให้ชัวร์ ! ปวดสะโพกร้าวลงขามีขั้นตอนรักษาอย่างไร ?
ในปัจจุบันนี้ การปวดสะโพกร้าวลงขาเป็นอีกหนึ่งความเจ็บปวดที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งนอกจากจะสร้างความรำคาญใจในชีวิตประจำวันแล้ว อาการปวดสะโพกร้าวลงขายังเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายอย่างหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไปจนถึงโรคเกี่ยวกับระบบประสาทในด้านอื่น
อย่างไรก็ดี การปวดสะโพกร้าวลงขาก็มีการรักษาที่เป็นขั้นตอนชัดเจน ซึ่งหากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้ในบางแง่มุมก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน หากใครกำลังสงสัยว่า อาการปวดสะโพกร้าวลงขาจะรักษาได้อย่างไร มาดูขั้นตอนการรักษาเบื้องต้นกัน
เข้าใจสาเหตุและความรุนแรงก่อน
ก่อนที่จะไปดูว่า อาการปวดสะโพกร้าวลงขามีการรักษาอย่างไร สิ่งแรกที่ทุกคนควรเข้าใจให้ถูกต้อง คือ สาเหตุและความรุนแรงของการปวดในระดับต่าง ๆ ก่อน โดยทั่วไปแล้ว อาการปวดสะโพกร้าวลงขาเกิดขึ้นจากหมอนรองกระดูก หรือ กระดูกที่เสื่อมสภาพเคลื่อนตัวไปทับเส้นประสาทที่เรียกว่า Sciatica Nerve โดยเส้นประสาทตัวนี้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากกระดูกสันหลังส่วนล่างช่วงเอว พาดไปยังสะโพกไปจนถึงบริเวณเท้า
โดยการเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูก ไปจนถึงกระดูกนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การนั่งทำงานเป็นเวลานาน การยกของหนัก กล้ามเนื้อหลังและสะโพกอ่อนแอ การออกกำลังกายผิดฟอร์ม ไปจนถึงอายุที่เพิ่มขึ้น
วางแผนรักษาตามลำดับอาการ
อาการปวดสะโพกร้าวลงขาสามารถวางแผนรักษาได้ตามอาการ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ประคบร้อนและเย็น เพื่อลดอาการอักเสบของบริเวณที่ปวดก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ เริ่มมีการใช้ยากลุ่ม NSAIDs เพื่อต้านการอักเสบ ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ไปจนถึงตัวยาที่ช่วยรักษาสมดุลการทำงานของระบบประสาท
อย่างไรก็ดี แพทย์อาจแนะนำให้ผู้มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาเข้ารับการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด การยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณหลังขาทั้งหมด ไปจนถึงการออกกำลังกายด้วยเวทเทรนนิ่ง เพื่อสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรง แต่หากมีอาการที่รุนแรง เช่น ร้าวลงขาจนไม่สามารถเดินได้ แพทย์อาจลงความเห็นให้ผ่าตัดต้นเหตุที่ทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ อาทิ การผ่าตัดหมอนรองกระดูก
อย่าลืมปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมกับสรีระร่างกายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ซึ่งสามารถรักษาได้ตั้งแต่การนั่งทำงานให้ถูกต้องตามหลักสรีระร่างกาย การยกของหนักด้วยท่าที่ถูกต้อง ไปจนถึงการออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรง โดยหากใครกลัวว่าจะออกกำลังกายผิดท่าจนเกิดการบาดเจ็บ ขอแนะนำให้ปรึกษาเทรนเนอร์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญก่อนออกกำลัง หรือ ยกน้ำหนักที่หนักมากทุกครั้ง
เพียงเท่านี้ ทุกคนก็เข้าใจแล้วว่า อาการปวดสะโพกร้าวลงขาจะรักษาได้อย่างไร มีขั้นตอนและการพิจารณาอาการอย่างไรให้เหมาะสมบ้าง อย่างไรก็ดี หากรู้สึกว่ามีอาการปวดที่ผิดแปลก หรือ มีอาการปวดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อไหร่ก็อย่าได้นิ่งนอนใจ และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติทันที