ปิ้งเขียดโม่
ชื่อพื้นบ้าน ปิ้งเขียดโม่ ปิ้งเขียดอีโม่
ชื่อภาษาประกิต BaBeQ Fog MO
ชื่อภาษาไทย สุครีพ ฝ่าโลกันต์
จ๊วด..! พี่น้องเอ๋ย พูดถึงเมนูนี้ทีไร น้ำลายไหลสามหยด ดังปลากระป๋องปุ้มปุ้ย
กล่าวถึงเขียด หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชาวอีสานรู้จักครบถ้วนกระบวนยุทธ เนื่องจาก
หากินเลี้ยงปากท้อง เป็นอาหารหลักชนิดหนึ่ง ที่ใช้เลี้ยงชีพ ไม่ต้องนำเข้าจาก
ประเทศอื่นให้เสียดุลการค้า ไม่มีค่าโฆษณา ค่าคอมมิชชั่น อีกต่างหาก
เขียดในภาคอีสาน มีหลายชนิด เรียงลำดับ จับใจความ จากใหญ่ไปหาเล็กได้ ดังนี้
เขียดโม่ เขียดตาปาด เขียดจิก เขียดจะนา เขียดทราย เขียดบักแอ๋ เขียดบักหมื่น เขียดขาคำ
เขียดบักเหลือง เขียดน้อย นี้คือประเภทของ”เขียด” ส่วนประเภทกบ กับ ขี้กะตู่หรือ คันคาก
แยกออกอีกต่างหาก ไม่สามารถนำมาจุ้มกัน ตามหลัก “วิชากิน”
เขียดโม่ อาหารที่ฟ้าประทาน
เขียดโม่ คือสัตว์ ที่เป็นดัชนีบ่งชี้ ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ความสมดุลของน้ำ
และความสามารถในการถ่ายเทสารอาหารไนโตรเจน ในระบบนิเวศน์ ซึ่งเกี่ยวพันกับสัตว์กินหญ้า
โดยยิ่งยวด ที่ใดมีเขียดอุดมสมบูรณ์ ย่อมหมายถึงการอยู่ดีกินดี เรียบง่ายและสงบ
ที่มาของการอุดมไปด้วยเขียดโม่ ยากแท้หยั่งถึง ประหนึ่งจิตใจของมนุษย์หน้าเนื้อใจมะเดื่อ
เขียดโม่มีความสำพันลึกซึ้งต่อพืชตระกูลท้องถิ่น การย่อยสลายของสารในใบไม้ รากไม้พืชถิ่น
การนำพาสารอาหารของ วัฏฏะจักรน้ำ ก่อให้เกิดไนโตรเจน ในรูปของอนุมูลของสารประกอบ
เช่น แอมโมเนียมไอออน และไนเทรตไอออน ธาตุไนโตรเจนในดินที่อยู่ในรูปเหล่านี้
จะมาจากการสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดิน พะนะ
เมื่อพืชงอกงาม ดินก็อุดม กำเนิดการแพร่พันธุ์ของ แมลงต่างๆ สายพันพันธุ์ด้วงดิน
ซึ่งเป็นอาหารหลักของเขียดโม่ เขียดโม่มีจึงชุกชุม
การไหลของน้ำตามฤดูกาล ตามวงจรของน้ำ มีน้ำหลาก มีน้ำลด น้ำข่อน
ซึ่งเขียดชนิดนี้ชอบมาก เขียดโม่ ไม่ชอบนิเวศน์ที่มีน้ำขังตลอดปี เพราะมันบ่แม่นสัตว์น้ำ
มันเป็นสัตว์เคิ่งบก เคิ่งน้ำ เหมือนกันกับ คอสะพาน และคอห่าน พะนะ
อีกอย่างหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของ การมีเขียดโม่อุดม คือ ” บวก ” เด้อพี่น้อง
“บวก” ภาษาอีสาน ขนานแท้ แปลว่า ” หนองควยนอน หรือ ปลัก ในภาษาไทย
ที่ใดมี ” บวก” ที่นั่นมีเขียดโม่ พ่อใหญ่เลาว่า เว้าพร้อม สูบยาพร้อม สิ่งตาใส่สาวซ่ำน้อย
แม้ในฤดูแล้งน้ำไม่มี แห้งแล้ง เขียดโม่จะยังอยู่ได้ เนื่องจากมันจำศีล หรือ อีสานเรียกว่า ” เข้าไง”
มันสามารถอดอาหารได้นานถึง 4 เดือน เพื่อรอฤดูฝนที่จะมาในไม่ช้า
เหมาะยิ่งนักสำหรับ พี่น้องชาวอีสานเฮา หาอยู่หากินยามหน้าแล้ง
กลวิธีในการหาเขียดอีโม่
1. การก้านเขียด ( การไต้เขียด )
2. การงมเขียด
3. การขัวเขียด
4.การแหย่เขียด
5. การปืดเขียด
บางคนว่า บ่าวปิ่นลมเว้า มะหล่ำซ่ำส่อย การก้านเขียด หรือการไต้เขียด คือการหาในหน้าฝน
การขัวเขียด ( ขุดเขียด โสกเขียด ) คือการหาเขียดในหน้าแล้ง ส่วนการ “ปืดเขียด ”
คือการหาเขียด ในยามที่น้ำแห้งขอด หาปืด(เปิด) ตามใบไม้ ในพื้นที่ชุ่มชื้น
แต่ละฤดูกาลก็ปรับเปลี่ยนกันไป ตามสภาพอากาศ ฤดูกาล และปริมาณของน้ำฝน
นั่นคือ การตอบสนองฤดูกาล แบบอัตโนมือ
องค์ประกอบของปิ้งเขียดอีโม่
1. เกลือ
2.ไม้หีบ
3.กองไฟกำลังติดถ่าน
4. แจ่วหัวโหล่น
กรรมวิธีในการทำให้ สุครีพ ข้ามโลกันต์
1. ดังไฟ ( ก่อไฟ )
2. เฮ็ดไม้หีบ เสาะหา บ้องไม้ไผ่สางไพ มาผ่าเป็นซีก
3. ไส่ขี่เขียดอีโม่
4. เอาเขียดโม่ทาเกลือพอประมาณ
5.เอาไปย่างใส่ไฟ อย่าพลิกดู๋หลาย มันสิบ่สุก
6.สังเกต ขาโต้ยเขียด หากมันสีแฮ่มๆ แสดงว่าสุกแล้ว
จากนั้นก็ยกมา กินกับข้าวเหนียว จ้ำแจ่วหัวโหล่น ตำพริกปลาร้า เท่านั้นก็สุขโขสโมสร
อนึ่ง หากเป็นไปได้ให้กินกับ ตำบักถั่ว เข้ากันได้ดี จนฤาษีศีลแตก ซั้นแหล่ว
ความเกี่ยวพันกับวิถีชาวอีสาน
ปิ้งเขียดโม่ ถือว่าเกี่ยวพันกับชาวอีสานอย่างยิ่งยวด เนื่องจากถือได้ว่าเป็นอาหารพื้นฐาน
ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นอาหารที่กินได้ทุกท้องถิ่น ทำไม่ยาก แต่มีรสชาติเป็นทิพย์
ยิ่งถ้าเป็นปิ้งเขียดโม่ มันฤดูหนาว ตอนเขียดเข้าไง ( จำศีล ) จะมีรสชาติอันเลิศรส
จนญาคู อยากสิก ย้อนขาโต้ย พะนะ