ฟ้อนดึงครกดึงสาก
พิธีกรรมการดึงครกดึงสาก เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับฝนฟ้า ซึ่งมักจะประกอบพิธีในช่วงปลายฤดูแล้ง เพื่อเป็นการเสี่ยงทายว่าในปีที่ทำการเสี่ยงทายนั้นจะมีปริมาณน้ำฝนมากน้อย พอเพียงต่อการทำนาหรือไม่ การประกอบพิธีกรรมการดึงครกดึงสากจะต้องมีอุปกรณ์ คือ ครกมอง สากตำข้าว และเชือกเพื่อผูกสากตำข้าวในการดึงเสี่ยงทาย โดยจะมีผู้ดึงฝ่ายชายด้านหนึ่งและฝ่ายหญิงอีกด้านหนึ่ง และจะมีขจ้ำหรือผู้ติดต่อวิญญาณเป็นผู้ตั้งครกไว้ตรงกลางหมู่บ้าน และเมื่อขจ้ำทำพิธีป่าวสักเคหรือพิธีการอัญเชิญเทวดา ก็จะบอกให้ผู้ร่วมพิธีดึงเชือกที่ผูกสากตำข้าว(ลักษณะเหมือนกับการดึงชักเย่อ) หากสากตำข้าวแตะที่ขอบครกด้านใด ถือว่าด้านนั้นเป็นผู้ชนะและจะทำนายตามผลที่จะออกมานั้น เช่น ในปีนั้นได้กำหนดว่า ถ้าฝ่ายชายชนะ ถือว่าปีนั้นน้ำท่าจะไม่บริบูรณ์ ถ้าฝ่ายหญิงชนะก็แปลว่าน้ำท่าในการทำนาจะบริบูรณ์ดี เป็นต้น
“ฟ้อนดึงครกดึงสาก”
ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 โดยเหล่าคณาจารย์จาก วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้แก่ อ.จีรพล เพชรสม, อ.ฉวีวรรณ พันธุ (ดำเนิน), อ.ทองคำ ไทยกล้า, อ.ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ และอ.ทองจันทร์ สังฆะมณี โดยทำการลงพื้นที่เก็บข้อมูล การทำพิธีกรรมดึงครกดึงสาก จากชุมชนชาวไทลาว บ้านเมืองทอง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่ง อ.ทองคำ ไทยกล้าและ อ.ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ เป็นผู้คิดลายเพลง อ.ฉวีวรรณ พันธุ (ดำเนิน)เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย และอ.ทองจันทร์ สังฆะมณีเป็นผู้ปรับปรุงตกแต่งและจัดรูปแบบ คัดเลือกลายเพลง, การแต่งกายและความกลมกลืนในรูปแบบศิลปะโดยอ.จีรพล เพชรสม
ท่าฟ้อนที่ได้นำมาใช้ ได้แก่ ท่าถวายแถน ท่าแฮ้งตากขา ท่ากาตากปีก ท่าคนขาแหย่ง ท่ามวยไทย ท่าอีแหลวเซิ่นเอาไก่น้อย ท่าควายเถิกใหญ่เล่นชนกัน ท่ายูงลำแพน ฯลฯ
บรรเลงลายดนตรี
ลายภูไทใหญ่ ลายยาวลงข่วง ลายคอนสะหวัน ลายสุดสะแนนสลับกับลายเพลงลูกทุ่ง
การแต่งกาย
– หญิง แสดงเป็นผู้ดึงทั้งสองข้าง สวมเสื้อแขนกระบอกสีแดง อีกฝั่งหนึ่งสีเขียว ใช้สไบขิดมัดเอวเป็นโบว์ นุ่งโจงกระเบน ผมเกล้ามวยมัดมวยผมด้วยผ้าตามสีเสื้อ สวมเครื่องประดับเงิน
– ชาย แสดงเป็นเสาทั้ง 4ทิศ สวมเสื้อผ้าฝ้ายแขนสั้น นุ่งโสร่งหรือโจงกระเบน ใช้ผ้าสไบขิดมัดเอว สวมสร้อยคอและกำไลเงิน
– ตัวหลักหรือตัวเอก เป็นหญิง สวมชุดแบบพื้นเมืองอีสานโบราณ คือ ห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ยาวกรอมเท้า ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้ สวมเครื่องประดับเงิน